Budget

4 แหล่งเงินทุนและแหล่งสนับสนุนทุนสำหรับ SME/STARTUP

การริเริ่มทำธุรกิจ นอกจากโมเดลคุณค่าจากสินค้าบริการ ลูกค้าคู่ค้าและช่องทางการขายและการตลาดแล้ว… โมเดลเงินทุนและรายได้ก็สำคัญและจำเป็นต้องชัดเจนสอดคล้อง… ท่านที่ทำโมเดลธุรกิจด้วย Business Model Canvas ก็จะทราบดีว่า โมเดลเงินทุนและรายได้จะเป็น 2 ช่องใหญ่ที่ถูกวางเป็นฐานอยู่ส่วนล่าง เพื่อให้เห็นทั้งภาพเงินทุนและรูปแบบรายได้ที่ชัดเจน

ประเด็นก็คือ โมเดลธุรกิจส่วนใหญ่หาทุนเริ่มต้นได้ไม่พอสำหรับเริ่มประกอบการ และมีหลายๆ โมเดลจากหลายคนที่คิดทุกอย่างได้หมดแต่ไม่มีเงินลงทุนแม้แต่บาทเดียว… ข่าวดีก็คือ… ไม่ใช่ทุกโมเดลธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนเริ่มต้น หรือแม้แต่สามารถใช้เงินทุนจากแหล่งอื่น หรือเงินคนอื่นเริ่มต้นก็ได้ แต่ข่าวร้ายก็คือ เงินทุนจากมือคนอื่นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายคืนไม่ธรรมดาเสมอ

ถึงตรงนี้จะขอถอยมาโฟกัสโมเดลธุรกิจใหม่ที่กำลังจะสร้างจากศูนย์ก่อนน๊ะครับ… ในขั้นนี้ถือว่าได้คิดหรือวางแผนแล้วว่าจะหารายได้จากรูปแบบการทำธุรกิจแบบไหนอย่างไร จนมาถึงตรงที่จะเทเงินลงทุนไปกับอะไรยังไงบ้างและเท่าไหร่… แต่หาทุนได้ไม่พอ

แน่นอนว่าคำแนะนำต่อมาก็คือ… มองหาเงินลงทุนเพิ่มจากคนรอบๆ ตัวนั่นแหละเป็นด่านแรก… แต่ก่อนที่ท่านจะเข้าไปพูดคุยเรื่องทุนรอนมาช่วยเริ่มกิจการกับใครก็ตาม แม้แต่กับภรรยาหรือสามี… ช่วยถามตัวเองก่อนว่า การคิดจะลงทุนค้าขายบนโมเดลที่ทุนไม่เพียงพอ… สิ่งที่ท่านคิดเป็นเรื่องเกินตัวในชั่วโมงนี้เกินไปหรือเปล่า?… ถ้าท่านอยากขายลูกชิ้น แต่คิดถึงการสร้างโรงงานและซื้อเครื่องทำลูกชิ้นก่อนจะลองหาลูกชิ้นมาทดสอบช่องทางการขายที่ท่านเจอ… คงไม่มีใครอยากลงทุนกับท่านตอนอยากขายลูกชิ้น แต่หาทุนทำโรงงาน… หลายคนไปขอเงินพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงมาช่วยจึงไม่ได้… ไปกู้แบงค์ก็ไม่ผ่าน

แต่ถ้าท่านค้าส่งลูกชิ้นอยู่แล้ววันละ 1000 กิโลกรัม… และอยากทำโรงงานลูกชิ้นของตัวเองบ้าง… แหล่งเงินทุนจะเปิดให้ท่านมากมาย

ที่จะบอกก็คือ… ธุรกิจไม่ได้เริ่มต้นที่เงินลงทุนอย่างที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจ… แต่ธุรกิจเริ่มต้นที่การลงมือทำธุรกิจ ทดสอบโมเดลให้เด่นชัดก่อนว่าทำกำไรได้ ซึ่งการผลักดันธุรกิจให้เกิดใหม่ โดยไม่มีอะไรเลยยืนยันผลลัพธ์การลงทุนที่ชัดเจน… ย่อมเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือสานฝัน ที่แม้แต่คนรอบข้างคงละเมอควักทุนเติมให้แบบครึ่งหลับครึ่งตื่นไม่ได้… ทุนจากแหล่งที่ไกลกว่านั้นจึงไม่ต้องพูดถึง

โลกความจริงเป็นแบบนี้ครับ… การริเริ่มธุรกิจจึงต้องอดทนปลุกปั้นด้วยตัวเองให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนอื่น… เชื่อเถอะครับว่า แม้แต่แหล่งทุนหรือกองทุนชื่อรื่นๆ หูทั้งหลายอย่างเช่น โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ… ท่านยังต้องหาเทคโนโลยีเจ๋งๆ ไปแลก… ที่มือเปล่ากับไอเดียดิบๆ ไม่มีทางแปลงเป็นทุนได้

คำแนะนำจากผมก็คือ… อยากทำธุรกิจ ต้องหาทางเริ่มทำธุรกิจด้วยทุนที่ต่ำที่สุดที่จะเป็นไปได้… และควรเป็นทุนที่ท่านดึงมาใช้ได้เลยแบบไม่ต้องให้ใครมาตัดสินสิ่งที่อยากลอง… ซึ่งก็มีเทคนิคหลายรูปแบบให้ทดลองและตัดตรงเข้าหาลูกค้าและโมเดลรายได้ อย่างเช่นเทคนิคของสตาร์ทอัพคือการทำ MVP หรือ Minimum Viable Product หรือการทำโปรดักส์ที่ตรงเข้าหากลุ่มเป้าหมายให้ไวที่สุด… ซึ่ง SME ก็สามารถนำแนวคิดมาปรับใช้ได้… หรือจะใช้การวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปของธุรกิจด้วยการทำ Feasibility Study อย่างถูกต้องก็ได้… หรือง่ายกว่านั้นคือการเข้าตลาดไปเลยพร้อมกับสินค้าสั่งจากที่อื่น หรือ OEM มาทดสอบตลาดก็ได้

ระหว่างที่โมเดลธุรกิจของท่านถูกทดสอบและปรับปรุง การติดต่อกับแหล่งเงินทุนเพื่อขยับขยายธุรกิจจริงๆ ก็ควรเริ่มได้แล้ว สะดวกแบบไหนก็ต้องไปพูดคุยหาดูกันเองเพิ่มเติมน๊ะครับ รูปแบบและแหล่งเงินทุนมีลักษณะเฉพาะมากมาย ซึ่งผมเชื่อว่า… ต้องมีบางเงื่อนไขที่เหมาะกับท่านบ้างแน่ๆ

แต่ที่จะแนะนำต่อไปนี้คือ 4 แหล่งเงินทุนที่ควรติดต่อพูดคุยสอบถามดูเมื่อท่านต้องการเงินทุน… ย้ำก่อนว่าทั้งหมดไม่ใช่ใครก็เดินไปขอได้ง่ายๆ โดยยังไม่มีอะไร ซึ่งแต่ละแหล่งทุนหรือแหล่งสนับสนุนทุนก็จะมีเงื่อนไขเบื้องต้นในการคัดกรองอยู่… และแนะนำให้สอบถามโดยตรงกับแหล่งทุนหรือแหล่งสนับสนุนทุนโดยตรงอีกครั้งเพื่อจะได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด

1. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย.

บสย. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ในการอนุมัติสินเชื่อให้กับเจ้าของกิจการ SME และ Startup มากขึ้น… ที่ บสย. จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจแต่ยังขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอที่จะได้รับวงเงินตามที่ต้องการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ โดยการกู้ยืมเงินเพื่อนำไปสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้ตามที่ต้องการนั่นเอง… ข้อมูลเพิ่มเติม: www.tcg.or.th

2. สินเชื่อประชารัฐเพื่อ SMEs ของ สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI

สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI เป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการที่จะรองรับการแก้ไขปัญหา ตลอดจนนำเสนอนโยบายเพื่อการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่นับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ให้เจ้าของกิจการทั้ง SME และ Startup ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อสามารถนำเงินทุนไปต่อยอดแผนธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตให้แก่ธุรกิจของตนเอง

โดย SMI ได้ร่วมมือกับ 15 ธนาคาร เข้าร่วมโครงการสินเชื่อประชารัฐเพื่อ SME” ด้วยวงเงินงบประมาณรวม 10,000 ล้านบาท ระยะสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคาร โครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 และจะดำเนินไปจนกว่าครบวงเงินงบประมาณ… ข้อมูลเพิ่มเติม: www.smi.or.th

3. โครงการ Startup Voucher ของ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองบนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก โดยการนำความสามารถอันเหนือชั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้ภาคการ เกษตรและภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้จัดทำโครงการ Startup Voucher ขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ เร่งเพิ่มรายได้ และขยายธุรกิจให้เติบโตให้กับเจ้าของกิจการ SME และ Startup ที่มีไอเดียและแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยทางสวทช. มีเงินสนับสนุนมอบให้สูงสุด 800,000 บาท… ข้อมูลเพิ่มเติม: www.nstda.or.th

4. โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

เป็นการสนับสนุนรูปแบบใหม่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำหรับผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ SME หรือ Startup ให้สามารถเข้าถึงและใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาหรือขยายผลธุรกิจนวัตกรรม เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้พร้อมในการแข่งขัน และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากฐานนวัตกรรมของประเทศ

โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะให้การสนับสนุนธุรกิจในลักษณะของเงินให้เปล่า หรือ Grant ภายใต้โครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี สำหรับเจ้าของกิจการ SMEs และ Startup ที่มีโครงการนวัตกรรมอยู่ระหว่างทดลองทดสอบ มีโมเดลต้นแบบหรือนำร่อง รวมทั้ง การต่อยอดงานวิจัยหรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือสิทธิบัตรที่ผ่านการประเมินทางเทคโนโลยีแล้ว… ข้อมูลเพิ่มเติม: www.nia.or.th

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *