คำว่า Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน เป็นชื่อเรียกวงจรชีวิตของสินค้าตั้งแต่เป็นวัตถุดิบจนถึงสินค้าถูกใช้ประโยชน์ที่ปลายทางสุดท้าย… และโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้สร้าง Supply Chain ข้ามชาติจนกลายเป็นวงจรที่สลับซับซ้อน ที่แม้แต่กิจการที่ผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งๆ ออกขาย บางครั้งก็ไม่ทราบว่า ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่รับมาจาก Suppliers ทั้งหมด… มีต้นทางและห่วงโซ่มาจากไหนอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น… ร้านอาหารซื้อน้ำมันพืชมาจาก Makro… Makro รับน้ำมันพืชบรรจุขวดมาจากโรงงานแถวสมุทรสาคร… โรงงานที่สมุทรสาครสั่งขวดมาจากโรงงานพลาสติกที่สมุทรปราการ และสั่งพิมพ์ฉลากมาจากโรงพิมพ์แถวมินบุรี และยังสั่งถั่วเหลืองนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่ง จากออสเตรเลียส่วนหนึ่ง… ซึ่งร้านอาหารที่ซื้อน้ำมันถั่วเหลืองมาใช้ ไม่มีทางรู้ว่าวัตถุดิบอย่างถั่วเหลืองมาจากไหน… และตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเพียงภาพหยาบๆ ของห่วงโซ่อุปทานที่ในความเป็นจริงแล้ว ซับซ้อนและมีมิติทางข้อเท็จจริงจนหลายๆ กรณีจะมีข้อเท็จจริงต่างออกไปจากความเชื่อด้วยสามัญสำนึกทั่วไปก็มี
อย่างกรณีสินค้าขายดีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ ที่ใครก็รู้ว่าแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกย่อมเป็นจีน ที่สร้างชาติขึ้นมาจากการเป็นโรงงานของโลกโดยการรับผลิตทุกอย่าง เพื่อขายให้คนทั้งโลกจนกระทั่งจีนกลายเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง… ประเด็น Supply Chain ในจีนเองก็เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และในแวดวงนักอุตสาหกรรมเองก็เข้าใจดีว่า… จีนก็เป็นเพียงโซ่ข้อหนึ่งใน Supply Chain ของโลก ที่วงจรหรือวัฏจักรในอุตสาหกรรมการผลิต ใช้ศักยภาพอันทรงพลังของจีนขับเคลื่อน Supply Chain ที่ชาติอื่นๆ ในโลกพึ่งพาหลายอย่าง ซึ่งจีนเองก็พึ่งพา Supply Chain จากชาติอื่นๆ ไม่แพ้กัน… และทั้งหมดขับเคลื่อนลื่นไหลเข้าจังหวะกันทั้งโลก ที่เห็นได้ชัดเจนจากมาตรวัดการส่งออกและนำเข้าระหว่างประเทศของทุกชาติ
แต่เมื่อเกิดโรคระบาดจนแตกตื่นกันไปทั้งโลกในเหตุการณ์วิกฤตไวรัสโคโรน่ า หรือ COVID-19 Crisis… จังหวะในห่วงโซ่ Supply Chain ได้สะดุดลงทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่เป็นทั้งต้นทางไวรัสสายพันธ์ใหม่ และวัตถุดิบชิ้นส่วนหรือแม้แต่สินค้าสำเร็จรูปมากมาย ก็ขาดช่วงและสะดุดลง
ประเด็นก็คือ… วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า COVID-19 Crisis ไม่ได้จบลงง่ายๆ อย่างที่หลายๆ ฝ่ายลุ้นและสวดภาวนา เพราะแม้แต่จีนเองที่ควบคุมสถานการณ์ได้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน… แต่โอกาสที่จีนจะรับเชื้อจากนอกประเทศกลับเข้าจีนอีกครั้ง ก็ยังมีความเป็นไปได้อย่างมากในช่วงเวลาที่ยุโรปและอเมริกากำลังวิกฤตด้วยอัตราการติดเชื้อที่ยังอยู่ในขั้นเลวร้าย
ประเทศไทยเองก็เข้มข้นและระมัดระวังอย่างดีที่สุด เพื่อให้สถานการณ์ในวิกฤตคราวนี้ผ่านพ้นไปโดยที่คนในชาติ ไม่ถึงกับต้องเป็นฝ่ายซ้ำเติมเหตุการณ์ด้วยวิธีแก้ปัญหาที่รอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านจริงๆ ไม่ตื่นกลัวจนใช้วิธีการไม่เหมาะสมจนกระทบและเสียหายยิ่งกว่า
ประเด็นก็คือ… ธุรกิจน้อยใหญ่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักถึงหนักมาก ที่วิกฤตคราวนี้เกิดขึ้นเร็วและแรง… และเมื่อการค้าสดุดลงจากอะไรก็ตาม ฟันเฟืองและกลไกเศรษฐกิจแม้จะเป็นชิ้นส่วนเหล็กๆ ก็ย่อมหน่วงให้กลไกระดับมหภาค ถดถอยและรอวันดับลงต่อหน้าต่อตา
สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือ… สินค้าที่คนทั้งหมดต้องการอย่างหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือขาดแคลนอย่างหนัก… ในขณะที่ภาคบริการอย่างขนส่งและท่องเที่ยวกลายเป็นอัมพาตต่อหน้าต่อตา ซึ่ง Supply Chain หลายๆ มิติก็เป็นอัมพาตตามกันไปตั้งแต่อาหารไปจนถึงน้ำมัน… แม้การคาดการณ์ถึงผลลัพธ์จริง ๆ ของสถานการณ์โคโรนาไวรัสจะเป็นเรื่องยาก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กลับชัดเจนตรงไปตรงมาอย่างยิ่งในห้วงเวลานี้

ทั้งชิ้นส่วน อุปกรณ์หรือวัสดุต่างๆ หรือแม้แต่สินค้า… ที่การเข้าถึงแหล่งต้นทางของสินค้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์ทั้งหลาย ถูกปิดกั้นโดยปริยายทั้งเส้นทางขนส่ง รวมถึงแหล่งผลิตหรือโรงงานที่ต้องปิดลงชั่วคราว… และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแหล่งข่าวทั่วโลกเห็นตรงกันว่า… นี่เป็นวิกฤต Supply Chain ที่อาจเกิดภาวะคลาดแคลนสินค้าจนเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นได้หากสถานการณ์เลวร้ายนี้ ยืดเยื้อยาวนานเหมือนโลกอยู่ในภาวะสงคราม
สิ่งที่น่ากังวลคือ องค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ที่สะดุดลงเพราะวิกฤตครั้งนี้ อาจจะนำไปสู่การล้มหายตายจากของธุรกิจ ที่เป็นทั้งคนหาสินค้าขับเคลื่อนห่วงโซ่เศรษฐกิจและคนจ่ายภาษีที่ทำให้รัฐมีกำลังความสามารถในการดูแลรัฐชาติอย่างแท้จริง
ซึ่งการรักษาตัวรอดของ SME ทั้ง Small, Medium และ Enterprise ทุกระดับองค์กรธุรกิจ มีความสำคัญอย่างมากและจำเป็นอย่างมากที่ทุกฝ่ายต้องใส่ใจ และไม่ตื่นตระหนกเพราะเชื้อโรคขนาดเผาบ้านทิ้งหรือทำร้ายคนใกล้ตัวเพื่อให้ตัวเองรอดเพียงชั่วขณะ
SME เองก็ต้องปรับตัวและงัดแผนฉุกเฉินออกมาใช้เพื่อพาธุรกิจให้อยู่รอด เว้นแต่ธุรกิจของท่านจะถูก Disrupted สิ้นเชิงก็อย่าได้ลังเลที่จะ Terminate โดยไม่เสียดายให้กลายเป็นตุ้มถ่วงล่มจมไปด้วยกันแบบที่เรียกว่า Sunk Cost Fallacy ที่ยังนั่งโลกสวยอยู่บนเรือรั่วเพียงลำพัง

ผมบอกไม่ได้ว่าธุรกิจอะไรไร้อะนาคต และธุรกิจอะไรมีอนาคตบ้าง… และบอกไม่ได้ว่า ธุรกิจอะไรต้องปรับตัวอย่างไร… แต่ผมบอกได้ว่า ถึงเวลาต้องงัดกลยุทธ์ขั้นเทพออกมาใช้กันแล้ว… SWOT หาเหตุหาผลดีๆ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจต่อให้เจอ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเจอจุดแข็งที่ควรสนใจ และเห็นจุดอ่อนที่ควรเลิกสนใจค่อนข้างแน่… ยิ่งถ้าธุรกิจของท่าน ต้องพึ่งพา Supply Chain ที่เหตุการณ์คราวนี้ทำให้สะดุดลงจากฝั่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน… ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสมหาศาลที่จะปรับตัวให้ไว
แต่ถ้าธุรกิจของท่านเป็นโซ่ข้อกลางเสียเองที่สะดุดลง หรือโซ่ข้อถัดไปหรือลูกค้าก็สะดุดลง… ผมเชื่อว่าท่านต้องวิเคราะห์กันจริงจังอย่างยิ่งแล้วหล่ะว่า… “โอกาสนี้” มีอนาคตกี่แบบที่ท่านสร้างใหม่ได้