Social Anxiety Disorder… หวั่นวิตกที่จะเข้าสังคม #SelfInsight

ความกังวล และ ความเครียดในระดับสัญชาตญาณของมนุษย์ถือเป็น “ความรู้สึก” ที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจอย่างมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจด้วยกลไกการตอบสนองแบบ Fight-or-Flight ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความเครียด และหรือ ความวิตกกังวลเฉียบพลัน โดยมีตัวเลือกการตัดสินใจเพียงจะสู้หรือหนี… แต่ในกรณีความกังวล และหรือ ความเครียดมีมากจนส่งผลกระทบด้านลบต่อภาวะสุขภาพ หรือ รบกวนชีวิตการงานและหน้าที่ความรับผิดชอบให้เสียหาย รวมทั้งความวิตกที่เกิดในกาลเทศะที่ไม่สมควรจะเกิด อย่างในกรณีของผู้ป่วยโรคกลัวการเข้าสังคมซึ่งทำลาย “ความสุข และ โอกาส” ของคนที่เป็นโรคนี้ถึงขั้นชีวิตเปลี่ยนก็มี

โรคกลัวการเข้าสังคม หรือ SAD หรือ Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia เป็นความผิดปกติทางจิตใจรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้ “รู้สึกวิตกกังวล หรือ กลัว” ที่จะต้องเข้าสังคม หรือ ต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะคนแปลกหน้า และหรือ พื้นที่สาธารณะที่จะทำให้ตนเองกลายเป็นเป้าสายตาของคนอื่น… ซึ่งคนที่เป็นมากๆ จะไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

ข้อมูลจากเวบไซต์พบแพทย์ชี้ว่า… อาการทางจิตใจและพฤติกรรมของผู้ที่เข้าข่ายการเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หรือ SAD มักจะมีอาการทางจิตใจซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก ดังนี้…

  • วิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม เช่น การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การเข้าร่วมงานเลี้ยง หรือ แม้แต่การสบตากับผู้อื่น
  • กังวลล่วงหน้าหลายวัน หรือ หลายสัปดาห์แม้เหตุการณ์จะยังไม่เกิดขึ้น หรือ กังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดซ้ำเหมือนในอดีต
  • กังวลว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อหน้าผู้อื่น และ จะถูกผู้อื่นตัดสิน เยาะเย้ย หรือ ถากถาง
  • กังวลว่าผู้อื่นจะสังเกตเห็นความเครียด หรือ ความกังวลของตนเอง เช่น หน้าแดง มือสั่น หรือ พูดติดขัด
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม หรือ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพยายามทำตัวกลมกลืนไปและ ไม่ให้เป็นจุดสนใจของผู้อื่น
  • พึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสังคม
  • ขาดเรียน หรือ ขาดงานเพื่อหลบเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกวิตกกังวล หรือ กลัว

ข้อมูลจากเวบไซต์พบแพทย์ยังชี้ว่า… โรคกลัวการเข้าสังคม หรือ SAD ก็เหมือนภาวะความผิดปกติทางจิตใจอื่นๆ ที่สาเหตุเกิดจาก “ปัจจัยภายในของแต่ละบุคคล ร่วมกับ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม” เช่น

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดแต่พบว่า… หากคนในครอบครัวมีประวัติของโรควิตกกังวลมาก่อนอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดโรควิตกกังวลได้สูงขึ้น
  • ความผิดปกติของโครงสร้างของสมองส่วนอะมิกดาลา หรือ Amygdala… ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัว เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวผิดปกติ อาจทำให้บุคคลนั้นตอบสนองต่อความกลัวสังคมด้วยความเครียด และ วิตกกังวลเพิ่มขึ้น
  • สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู… โรคกลัวการเข้าสังคมอาจเกิดจากพฤติกรรมการเรียนรู้หลังเผชิญเหตุการณ์ที่น่าอาย หรือ เรียนรู้พฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง เด็กที่เคยถูกทำร้ายร่างกาย หรือ จิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกดุด่า มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือ ถูกเพื่อนรังแก อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเข้าสังคม

ประเด็นก็คือ… ความรู้สึกวิตกกังวล และหรือ ความรู้สึกกลัวที่จะต้องเข้าสังคม หรือ ต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคยในขั้นเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หรือ Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia นั้น… มักจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ และ ความสุขในชีวิต และ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นผลเสียกับตนเองมากมายเช่น…

  • ความมั่นใจในตัวเองต่ำ
  • มีปัญหากับการแสดงออก หรือ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
  • ตำหนิติเตียนตนเอง และหรือ ดูถูกตนเอง
  • อ่อนไหวง่ายผิดปกติเมื่อได้รับคำวิจารณ์
  • ขาดทักษะการเข้าสังคม และ พัฒนาได้ยาก
  • แปลกแยก และ ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น
  • ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน หรือ หน้าที่การงาน
  • เป็นโรคซึมเศร้า หรือ ความผิดปกติทางจิตใจอื่นๆ
  • ใช้สารเสพติด และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่เหมาะสม
  • มีความคิด และหรือ พยายามฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม… โรคกลัวการเข้าสังคม หรือ Social Anxiety Disorder กับพฤติกรรม และ การตัดสินใจทางสังคมในยุคสังคมออนไลน์ขี้อวดและมักง่ายอย่างในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนเลือกที่จะ “ถอยห่าง” จากสังคมเพื่อให้ตนเอง “ถูกรบกวนน้อยลง” จะไม่ถือว่าเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หรือ เป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคมแต่อย่างใด… โดยเฉพาะการถอยห่าง และ พฤติกรรมหลบเลี่ยงผู้คนไม่ได้ทำลายความสุข และหรือ รบกวนชีวิตประจำวันให้เห็นความผิดปกติในกายใจของตน

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts