Socrates หรือ โสเครตีสผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งปราชญ์ตะวันตก ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีบันทึก ตำราหรืองานเขียนของตนเองเลยแม้แต่ชิ้นเดียว พร้อมๆ กันนั้น Socrates ยังได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ผู้ไม่รู้อะไรเลย จากพฤติกรรมการสอนและการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งการเสาะแสวงหาความรู้และข้อเท็จจริงผ่านเทคนิคการถามคำถามมากมาย
แม้ท้ายที่สุด… วิธีสื่อสารการสอนด้วยคำถาม จะถูกแปลเป็นความท้าทายต่ออำนาจการปกครองในกรีกจนถูกตัดสินให้ตายด้วยยาพิษ… Socrates ยังยินดีเข้าคุกรอวันประหาร และยังคงซักถามสืบค้นกับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้นับถือกันในคุก จนถึงนาทีที่รับโทษกลืนยาพิษลงคอตามคำพิพากษา
หลักการสอนของ Socrates เกิดขึ้นตั้งแต่สองพันสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยวิธีสอนแบบ Socrates เป็นการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนใช้เหตุผลในการสืบค้นร่วมกันโดยการสนทนา และใช้คําถามแบบต่อเนื่องเป็นเครื่องมือสําคัญเพื่อเข้าถึงความจริง
วิธีสอนแบบ Socrates เชื่อว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมทางจิต ไม่ใช่วิธีนำความรู้หรือหลักสูตรมามอบให้แก่ผู้เรียน ผู้สอนคือบุคคลที่รู้ความไม่รู้ของตนเอง และใช้ความไม่รู้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจที่ดีกว่า ผู้สอนเป็นผู้ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความคิดเป็นของตนเอง
ทักษะสําคัญของผู้สอนจึงได้แก่ ทักษะการมอบความรับผิดชอบให้แก่ผู้เรียน ไม่ใช่การมอบคําตอบให้ผู้เรียน หรือแม้แต่มอบตัวเลือกคำตอบให้ผู้เรียน
วิธีสอนแบบ Socrates มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาความเข้าใจและความรู้ส่วนบุคคล มุ่งให้ผู้เรียนได้พบความจริงของสิ่งที่กําลังอภิปราย… วิธีสอนแบบ Socrates ช่วยให้เรานิยามและเข้าใจมโนทัศน์หรือภาพรวมที่ศึกษาและใช้ในชีวิตประจําวันอยู่แล้วชัดเจนขึ้น… วิธีสอนแบบ Socrates สามารถใช้เป็นกลยุทธ์การสอนได้ในทุกรายวิชาในทุกระดับการศึกษา
วิธีสอนแบบ Socrates จะจัดการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนใช้เหตุผลในการสืบเสาะ หรือ Enquery ร่วมกันด้วยการสนทนาแบบที่เรียกว่า Dialogical Enquiry และมีการใช้คําถามแบบต่อเนื่องเป็นเครื่องมือสําคัญ เพื่อเข้าถึงความจริง…
การตีความวิธีจัดการเรียนการสอนแบบ Socrates ถูกตีความและประยุกต์ใช้ในแวดวงการศึกษาอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการฝึกวิชาชีพทนายความ ซึ่งนักการศึกษาทั่วโลกล้วนเห็นประโยชน์ และแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Socrates ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนที่จะเข้าใจ แต่การนำไปใช้ในระหว่างการเรียนการสอนจริงๆ เกิดขึ้นน้อยมากเพราะวิธีสอนแบบ Socrates ไม่สามารถ “ควบคุม” ข้อเท็จจริงที่เกิดระหว่างสนทนาถามตอบได้หมด ซึ่งการสอนแบบเอาข้อเท็จจริงเท่าที่มีมาสอนหรือบอกต่อ จะควบคุมหรือจำกัดได้ทั้งเวลาและข้อเท็จจริงของข้อมูลหรือความรู้นั้นๆ ง่ายกว่า
ในแวดวงการศึกษาที่กล่าวถึง Socrates Method ส่วนใหญ่ จะยึดแนวทางการตีความและประยุกต์ใช้งานอยู่ 2 แนวทางหลักคือ แบบยุโรปกับแบบอเมริกา ซึ่งมีลักษณะทั้งที่เหมือนกันและต่างกันในหลายๆ ประเด็นเช่น
แบบอเมริกา
- ใช้เรื่องราวเชิงปรัชญา อาจจะเป็นนิทานหรือเรื่องแต่งขึ้น เป็นจุดเริ่มต้น
- ไม่จํากัดเรื่องที่อภิปราย โดยให้ผู้เรียนเสนอ
- แสดงทัศนะที่ต่างออกไป
- สืบค้นโดยการสนทนา
- เขียนคําถามก่อนการอภิปราย
- ทบทวนการอภิปรายโดยการพูด
- มีกิจกรรมตอนท้ายและแบบฝึกหัด
แบบยุโรป
- ใช้คําถามเชิงปรัชญาเป็นจุดเริ่มต้น ไม่มีสื่อหรือเรื่องเล่า
- เน้นคําถามเดียวหรือปัญหาเดียว โดยผู้สอนเป็นผู้กำหนด
- มุ่งเป้าให้ได้ความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน
- ใช้การสนทนาและการทบทวนตอนท้าย
- คําถาม/ข้อความ เขียนขึ้นระหว่างการอภิปราย
- ทบทวนโดยการเขียน
- การสนทนาต่อไป
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร วิธีการสอนแบบ Socrates มีความยืดยุ่นในสองแนวทางที่วนใช้ร่วมกันในระหว่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ Socratic Enquiry และ Socratic Questioning เสมอ
Socrates Enquiry หรือการสืบค้นแบบโสเครตีส เป็นเทคนิคการสอนแบบใช้คำถาม “สืบเสาะค้นคว้า” หาคำตอบแทนการเล่า อธิบายหรือบรรยายคำตอบโดยตรง… หมายความว่า แม้องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมหากใช้สอนผู้เรียนคนใหม่หรือกลุ่มใหม่ ก็ยังคงใช้กลไกคำถามเพื่อการเรียนการสอน แทนการบรรยายบอกเล่า ซึ่งแนวทาง เทคนิคและวิธีการตั้งคำถาม ก็จะใช้ Socratic Questioning ออกแบบคำถาม สกัดเอาคำตอบเพื่อให้ผู้เรียนและกลุ่มสนทนาเข้าใจแจ่มแจ้งหรือถึงบางอ้อ “ด้วยตัวเอง“
ถึงตรงนี้ผมจะขอข้าม Socrates Method โดยเฉพาะกรณี Socratic Enquery กลับไปพูดถึงการสอบแบบ Open Book Exam ที่ใช้แนวทาง Socratic Questioning มาใช้สอบวัดความรู้ ซึ่งทิ้งค้างรายละเอียดไว้จากบทความเรื่อง Assessment Method Designed สำหรับ Open Book Examination… ซึ่ง Socratic Questioning เป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบการสอบที่แนะนำกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ทุกประเทศเจอ Covidisruption ที่ Remote Learning ต้องพัฒนาไปสุดทางคือต้องเรียนและสอบแบบ Remote ได้จริงๆ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับ “แนวทางการตั้งคำถาม” แบบ Socrates ดูก่อน
- เป็นคำถามปลายเปิด ที่ถามโดยผู้ถูกถามรู้ว่าผู้ถามก็ไม่รู้… ทวนอีกรอบครับ!… ถามโดย “ผู้ถูกถาม” รู้ว่า “ผู้ถาม” ก็ไม่รู้คำตอบเช่นกัน
- เป็นคำถามที่กระตุ้น “การสืบเสาะค้นคว้า” ซึ่งคนถามเองก็รู้อยู่แล้วว่าหาคำตอบตรงๆ ไม่ได้หรอก
- เป็นคำถาม “เร้าคิด” หรือเป็นคำถาม “ชวนคิดอย่างยิ่ง”
- เป็นคำถามปลายเปิดที่มีชั้นคำถามปลายเปิดอีกชุดหนึ่งซ้อนรอหาคำตอบแทรกอยู่
- เน้นคำตอบหรือหนทางได้คำตอบ จากมโนทัศน์ หรือ จินตภาพที่ปรากฏ
- เน้นสืบเสาะหาคำตอบที่ลึกซึ้งและชัดเจน
- เน้นหาคำตอบเพื่อสร้าง “คุณค่า” โดยคำตอบเน้นคุณค่าและความสำคัญของคำถามหรือปัญหานั่นเอง
- เน้นคำตอบที่บ่มเพาะอุปนิสัยการตั้งคำถามและอุปนิสัยการหาคำตอบด้วยตนเอง อันเป็นทักษะสำคัญในการทำความเข้าใจคำถาม หรือ อีกชื่อหนึ่งของคำถามคือปัญหา กับหนทางแก้ไข หรือ อีกชื่อหนึ่งของหนทางการแก้ไขปัญหาก็คือคำตอบนั่นเอง
จากแนวทางข้างต้น เราสามารถพิเคราะห์ดู “ลักษณะของคําถามแบบ Socrates Questioning” ได้ดังต่อไปนี้
- Clarification Question หรือถามเอาความชัดเจน จะเป็นคำถามเพื่อถามหาคำอธิบาย ความหมาย ตัวอย่าง เช่น ช่วยอธิบายได้มั๊ยว่า………., เด็กดีในทัศนของคุณหมายถึงเด็กแบบไหน?, ประเด็น………. เกี่ยวข้องกับ………. ในมิติใดอย่างไรและเกี่ยวข้องกับประเด็นไหนอย่างไรอีก เป็นต้น
- Reason and Evidence หรือถามเหตุหาผลและหลักฐานยืนยัน จะเป็นคำถามสืบค้นหาที่มาที่ไป และประจักษ์พยานหลักฐาน เช่น คำถามทดสอบความเชื่ออย่าง รู้ได้อย่างไรว่า……….?, หรือคำถามเชิงโต้แย้งอย่าง ทำไมจึงคิดว่า……….?, มีเหตุผลอะไรให้……….?, มีหลักฐานมั๊ย?, ยกตัวอย่างได้หรือไม่ เป็นต้น
- Alternative Views หรือ ถามหาทางเลือกอื่น จะเป็นคำถามหาทางเลือกทดแทน ผ่านมุมมองต่างและสมมุติฐานด้วยตัวแปรต่าง เช่น มีมุมมองและทัศนคติต่างกว่านี้มั๊ย?, จะเป็นอย่างไรถ้ามีผู้อื่นเสนอว่า………., ทัศนคตินี้ต่างจากทัศนคตินั้นแค่ไหนอย่างไร? เป็นต้น
- Implication and Consequence หรือ ถามหานัยยะและผลที่ตามมา เป็นคำถามสืบค้นเสาะแสวงถึงความหมายแฝงและ “ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้” ต่างๆ เช่น อะไรจะเกิดได้บ้างจากตรงนี้?, จะพิสูจน์ว่า………. เป็นจริงหรือเท็จดังกล่าวอย่างไรได้บ้าง, สิ่งนี้สอดคล้องกับสิ่งนั้นอย่างไรและมีผลถึงสิ่งอื่นอีกหรือไม่แค่ไหนอย่างไร?
- Question and Discussion หรือคำถามและการถกแถลง ซึ่งเป็นคำถามเปิดกว้าง พร้อมคำแถลงที่เปิดกว้าง ส่วนใหญ่เป็นแนวการสืบค้นเสาะแสวงประเด็นเพิ่มเติมบ้าง หรือหาทางยืนยันถ้อยแถลงอันครบถ้วนสมบูรณ์บ้าง เช่น จากข้อมูลแบบนั้นเราสามารถตอบยืนยันสิ่งนี้ได้แบบไหนอย่างไร?, เราสามารถสรุป………. อย่างไรได้บ้าง?
ขออนุญาตตัดภาพแนวทางการใช้ Socrates Question ให้เห็นคร่าวๆ ประมาณนี้… ซึ่งโดยส่วนตัวผมกล่าวอ้างไม่ได้ว่า รู้เรื่องปรัชญาการศึกษาขั้นสูงจนสามารถแจกแจงได้ทั้งหมด โดยประสบการณ์ผมเพียงค้นคว้าเรียนรู้ เพื่อพัฒนาระบบ eLearning ที่เคยร่วมออกแบบหลายๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นโอกาสให้ผมได้ทำงานร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษามาบ้างเท่านั้น… หากข้อมูลขาดหกตกหล่นจึงยินดีน้อมรับทุกคำติชมและรับฟังข้อถกแย้งด้วยจิตคารวะจากทุกท่านตลอดเวลาครับ
ประเด็นก็คือ Socrates Philosophy หรือ The Philosophy of Socrates เป็นปรัชญาที่สังเคราะห์โดยนักปรัชญารุ่นหลัง Socrates ทั้งสิ้น… และ Socrates Philosophy ว่าด้วย Socrates Pedagogy หรือ The Socratic Method ก็ไม่ได้ครอบคลุม “พัฒนาการและการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างสอดคล้องทุกเพศวัยอย่างสมบูรณ์” เหมือนกับที่ไม่เคยมีองค์ความรู้ใดๆ สมบูรณ์แบบทั้งหมดนั่นแหละ
เอาเป็นว่า… ประเด็นการสอบวัดความรู้แบบ Open Book Exam ในทัศนของผมถือว่า เป็น “หัวใจหลักของการปลดปล่อยเสรีภาพให้ทั้งผู้เรียน ผู้สอนและระบบการศึกษา” ซึ่ง Socratic Questions ถือเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งในการสร้างข้อสอบ Open Book Exam ได้อย่างดี ไม่ต่างจากแนวทาง Bloom’s Taxonomy Level… ตอนหน้ามาต่อกันเลย!
อ้างอิง