Professor Nelson Repenning และคณะจาก MIT Sloan School of Management ได้เผยรายงานแสดงให้เห็นความสำคัญของ Soft Skill หรือ ทักษะด้านอารมณ์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับ Hard Skill หรือทักษะด้านอาชีพ ที่ทุกคนต้องมีควบคู่กันไป
หลักการของ Soft Skills ในมุมมองของ Professor Nelson Repenning และคณะได้แก่
- การคิดเชิงวิเคราะห์
- การแก้ไขปัญหา
- การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- การระบุปัญหาได้อย่างถูกต้องและชัดเจน
ข้อที่น่าสังเกตก็คือทักษะการระบุปัญหาถูกแยกออกจากทักษะการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนตามแนวคิดของ Professor Nelson Repenning
ประเด็นก็คือ คนที่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงได้ มักจะก้าวนำผู้อื่นไปก่อน 1 ก้าวเสมอ เพราะคนๆ นั้นจะเสียเวลาและพลังงานไปกับการแก้ปัญหาตรงจุดและเร็วกว่าคนที่คลำทางไม่เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง
แม้แต่งานระดับองค์กร ผู้บริหารที่เข้าใจปัญหาและระบุปัญหาได้ถูกต้อง จะสามารถจัดการปัญหาได้ตรงจุดและเร็วกว่า ทำให้องค์กรก้าวหน้าได้มากกว่าผู้บริหารที่ไม่สามารถเข้าใจและระบุปัญหาได้ชัดเจน
การเข้าใจปัญหาที่ถูกต้อง มีหลักการง่ายๆ 5 อย่าง
- ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของเราหรือองค์กรหรือไม่?… มีคุณค่าหรือไม่อย่างไร?
- สามารถระบุถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ปัจจุบันกับเป้าหมายได้ชัดเจนหรือไม่?… ซึ่งหลักการข้อนี้คือการหา GAP นั่นเอง
- สามารถวัดและประเมินผลได้
- มีความเป็นกลางในการค้นหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข
- สามารถตั้งขอบข่ายของการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้และเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงถึงความสำคัญของ Soft Skills ต่อการทำงานในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการก้าวเข้ามาของแรงงานจากคนเจนมิลเลเนียล ที่ถือว่ามี Hard Skills เหนือกว่าคนรุ่นก่อนมาก… แต่คนเจนนี้กลับมี Soft Skills บกพร่องอย่างน่าตกใจ
Professor John Van Maanen จาก MIT Sloan เช่นกันมองว่า คนยุคมิลเลเนียล ขาดทักษะการแก้ปัญหาและมนุษยสัมพันธ์ โดยเฉพาะการทำงานเป็นทีม และรู้จักสื่อสารภายในองค์กร
บทความใน INC.COM เขียนโดย Scott Mautz พูดถึง 4 ทักษะที่คนมิลเลนเนียลจะต้องพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่ทักษะที่เรียกว่า Interpersonal Skills อันเป็น Soft Skills ด้านสังคม บุคลิกภาพและทักษะการสื่อสาร… ที่น่าสนใจก็คือ คนเจนมิลเลนเนียล มีทัศนะต่อตัวเองที่ไร้เหตุผล และยังขาดทักษะในการจูงใจ โน้มน้าวและสร้าง self esteem ให้กับตัวเองและผู้อื่นด้วย… อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์หรือ Critical Thinking ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนที่เกิดมาในยุคที่มีข้อมูลข่าวสาร มีเดียและเทคโนโลยีเพียงพอให้เข้าถึง… แต่ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดก็คงจะเป็น ทักษะด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่คนเจนมิลเลนเนียลไม่ได้มีมากอย่างที่คิด
Professor Namrata Kala จากคณะเศรษฐศาสตร์ของ MIT Sloan เปิดเผยผลสรุปงานวิจัยที่น่าสนใจว่า… เมื่อองค์กรลงทุนฝึกอบรมพนักงานในการพัฒนา Soft Skills จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้านการอบรมมากกว่า 2 เท่าตัวภายในเวลาไม่ถึง 1 ปีที่การอบรมสิ้นสุดลง… ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการอบรมทักษะ Soft Skill ยังส่งผลดีไปถึงเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคยได้รับการอบรม ให้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้นด้วย
อ้างอิง