soft skills

Soft Skills… ทักษะศตวรรษที่ 21

ใกล้ปีใหม่อีกเพียงไม่ถึงสิบสัปดาห์แล้วครับ… หลายท่านคงมีอะไรในใจที่ “อยากจะเปลี่ยน หรืออยากจะทำ” ในปีหน้าอยู่ในใจบ้าง… ผมเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบตั้งเป้าที่ขึ้นต้นด้วย “ปีหน้าจะ….” มาตลอดเหมือนคนส่วนใหญ่ที่พอใกล้สิ้นปีก็สัญญากับตัวเองว่า… ปีหน้าจะออกกำลังกาย พอขึ้นปีใหม่เช้าวันที่ 1 มกราก็จะฟิตจัดลุกมาวิ่ง พอถึงกลางเดือนมกราคม… ก็วิ่งบ้างหยุดบ้าง พอปลายเดือนก็เลิก

แต่ก็ไม่เคยท้อที่จะสัญญากับตัวเองเรื่องโน้นเรื่องนี้ทุกปี… ไม่บอกหรอกครับว่าทำได้กี่เรื่อง… ท่านรู้ท่านก็จะตกใจเปล่าๆ

ปีหน้าเป็นคริสต์ศักราช 2020 ที่เลขสวยและเป็นตัวเลขทริคเกอร์ที่หลายอย่างที่สำคัญๆ ในโลกนี้… มีกำหนดการจะใช้ตัวเลข 2020 เป็นวาระดำเนินการ… แต่ไม่ว่าใครจะทำอะไรยังไง! ก็คงไม่เท่าเราจะทำอะไรยังไงในปีหน้า

เมื่อพูดว่า “เรา” ที่หมายถึง “ตัวเรา” ก็อยากให้เราในปีหน้า ควรจะดีกว่าเราในปัจจุบันซักหน่อยก็น่าจะดี… ผมก็เลยไปค้นดูว่าปี 2020 มีไอเดียอะไรที่น่าสนใจจะใช้เป็นแบบทำให้ “ตัวเรา” ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง… วิธีหาข้อมูลขอข้ามน๊ะครับ!… คีย์เวิร์ดที่พบหลายอัน ทำผมอึ้งเหมือนกันยกตัวอย่าง… ปีหน้าจะมีจมูกใหม่! ปีหน้าจะทำโน่นนี่นั่น ที่หมายถึงศัลยกรรมโน่นนี่นั่น… ส่วนปีหน้าจะเป็นคนดี คนสวย รวย เก็บเงิน เปลี่ยนงาน กลับบ้าน ฯลฯ

แต่ที่ผมสนใจคือ… คีย์เวิร์ดหรือเทรนที่อยาก “เรียนรู้ทักษะอื่น”… ซึ่งผมเชื่อมาตลอดหลายปีเหมือนหลายท่านว่า… ศตวรรษแห่งการเรียนรู้ ที่จะมีอะไรใหม่ๆ ผ่ามมาให้เราได้เรียนรู้เรื่อยๆ… หลายสิ่งแค่ “ได้รู้” ก็พอ ในขณะที่หลายสิ่ง “ต้องรู้และต้องเรียน” จึงจะพอ… แต่ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งที่ต้องรู้และไม่ใช่ทุกสิ่งที่ต้องเรียน

ผมเป็นคนรู้น้อย เพื่อนก็ไม่มาก ทักษะก็ไม่ได้โดดเด่นเรื่องไหนเป็นพิเศษ… ทุกปีผมจึงหมดเวลากับการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตั้งแต่หาอ่านจนถึงหาเรียน บ่อยครั้งผมต้องเรียนเป็นคอร์ส หลายครั้งผมต้องเข้าอบรมเรื่องโน้นเรื่องนี้เพื่อจะได้ฝึกทักษะ ที่ไม่ใช่แค่เรียนหรือแค่รู้… แต่ต้องลงมือทำไปด้วย

ปีที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่ผมเรียนรู้มาแล้วเห็นว่า… สำคัญและน่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านนั่นก็คือ… Soft Skills ด้านต่างๆ ที่พอจะรวบรวมมาสรุปหยาบๆ ตามความเข้าใจตัวเองแบ่งปัน… ออกตัวก่อนน๊ะครับว่า เป็นมุมมองและความเข้าใจของผมเองส่วนใหญ่

Skill แปลว่าทักษะครับ… แต่ Soft Skill ไม่ได้แปลว่าทักษะอ่อนหรือทักษะนิ่ม… แต่ผู้เชี่ยวชาญให้แปลว่า “ทักษะด้านอารมณ์” ก็คงมาจากการแปลอังกฤษเป็นไทยแล้วแปลไทยเป็นไทยอีกทีนั่นแหละ… ที่จริงคำว่า Soft Skills มาคู่กับคำว่า Hard Skills เสมอ… และ Hard Skill ก็หมายถึงทักษะความรู้อย่างเช่น เป็นทนายก็เก่งข้อกฏหมายและสอบได้เนติบัณฑิต หรือเป็นหมอก็รู้เรื่องโรคและยาอย่างดีเป็นต้น

ว่ากันว่าองค์กรสมัยใหม่ ต้องการเพื่อนร่วมงานและบุคคลากรที่ต้องเป็นเลิศทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ทุกที่แล้ว… แต่เดิมมา การสมัครงานและจ้างงานมักจะพิจารณา Hard Skills อย่างเกรดจากผลการเรียนหรือประสบการณ์การผ่านงาน แต่ปัจจุบันงานตำแหน่งสำคัญๆ ค่าตอบแทนสูงๆ ล้วนมองหา Soft Skills ประกอบการพิจารณาทั้งสิ้น นอกจากนั้น Soft Skills ยังหมายถึงรากฐานของความสุขและความสำเร็จด้านอื่นๆ นอกจากอาชีพการงานอีกด้วย… มาดูกันว่า Soft Skills ทั้ง 9 ทักษะมีอะไรบ้าง…

  1. ทักษะการบริหารเวลา หรือ Time Management… การบริหารเวลาเป็น ที่หมายถึง การจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็น ความเร่งด่วนและความชำนาญในการใช้เครื่องมือบริหารเวลา รวมทั้ง Mindset ในการจัดการด้วย… เพราะเวลาเป็นทรัพยากรอย่างเดียวที่ช้าหนึ่งนาทีเท่ากับขาดโอกาสหนึ่งนาที… รอหนึ่งนาทีคือสูญเปล่าหนึ่งนาที… ทักษะการบริหารเวลาตรงนี้หลายครั้งที่ไปไกลถึงขั้นหมายถึง “การใช้ชีวิตเป็น” ที่ตัวชี้วัดสำคัญมีเรื่องวันเวลามาประกอบด้วย

  2. ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning… 3L Skill เป็นเรื่องจำเป็นเพราะทุกวันนี้ การรู้ไม่จริงทำลายโอกาสหรือแม้แต่อนาคตได้… ความรู้ใหม่ๆ… ข้อมูลใหม่ๆ… ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ… จงรู้ไว้ให้มาก เพราะตรงนี้จะทำให้ท่าน “รู้กว้าง”… ถ้าสิ่งที่รู้แล้วอันไหนอยากเข้าใจกว่าเดิม… ต้องเรียนแล้วครับ… เรียนเพื่อให้ “รู้ลึก” ซึ่งการเป็นคน “รู้กว้างและรู้ลึก” จะทำให้ท่านเป็นคนมีฐานความรู้แบบ T Model ซึ่งเป็นที่ต้องการมากกว่าคนรู้ฉาบฉวยทุกเรื่องแต่ใช้การจริงจังไม่ได้… หรือแม้แต่ชำนาญและรู้ดีอยู่เรื่องเดียวแต่เรื่องอื่นๆ ปีศาจใบ้เข้าสิงซะงั้น!

  3. ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence… เรื่องนี้เป็นทักษะเพราะ “อารมณ์ของเราฝึกได้” ในมุมมองของผม ความฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence เป็นประมาณ “ความน่ารัก” ที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน… ซึ่งคนน่ารักมักจะทำให้คนรอบข้างมีความสุขมากกว่า

  4. ทักษะด้านการปรับตัว หรือ Adaptability Skill… การปรับตัวก็คือการเปลี่ยนแปลง อยากเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัว… ซึ่งถ้าท่านมีจิตวิญญาณที่จะปรับตัวให้อะไรๆ ดีกว่าเดิมจนเป็นนิสัยและลื่นไหลเป็นธรรมชาติได้ แปลว่าทักษะด้านการปรับตัวของท่านมีแล้ว… การปรับตัวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจะพาท่านและคนรอบตัว ตามหาสิ่งที่ดีกว่าได้เรื่อยๆ อย่างลื่นไหลและต่อเนื่องเสมอ… ที่สำคัญต้องปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิม… ถ้าปรับเปลี่ยนเพื่อแย่ลงกว่าเดิมไม่ถือว่ามี Adaptability Skill ครับ

  5. ทักษะการประสานงาน หรือ Collaboration Skill… ตรงตัวตามคำว่าประสานงานครับ ไม่มีใครต้องการ “คนประสานงา” เวลาทำงานหรือแม้แต่เอาไว้ใกล้ตัว ซึ่งทักษะการประสานงานในยุคดิจิตอล… บางงาน บางตำแหน่ง บางอาชีพหรือสังคม… อาจจะถึงขั้นต้องใช้เครื่องมือทางดิจิตอลด้านการประสานงานเป็นด้วย อย่างเช่นทักษะการใช้  Software CRM หรือพวก Project Manager Tools ต่างๆ หรือแม้แต่ Mindset ด้านการประสานงานอย่าง Agile ที่การประสานงานสำคัญต่อการผลักดันวัฏจักรอย่างยิ่ง

  6. ทักษะการสื่อสาร หรือ Communication Skill… ทักษะการสื่อสารในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการถ่ายทอดและส่งต่อง “สารที่ท่านเป็นสื่อหรือเป็นคนสื่อ” ซึ่งท่านจะใช้เครื่องมือหรือช่องทางสื่อสารอะไรแบบไหน… ก็แล้วแต่… สิ่งสำคัญของทักษะการสื่อสารในที่นี้จะดูว่า… สารที่ถูกสื่อโดยท่าน บรรลุวัตถุประสงค์แค่ไหนอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอยากขอความร่วมมือใคร คนที่ท่านขอต้องได้สารของท่านว่าท่านขอ และยอม “ให้ตามที่ท่านขอ”… ถ้าคนรับสารของท่านรับรู้ว่าท่านสั่ง ทั้งๆ ที่ท่านรู้สึกว่าตัวเองขอ แบบนี้แสดงว่าทักษะการสื่อสารของท่านแย่แล้ว… เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ขอจากท่าน กลายเป็นสั่งที่ปลายทาง… ท่านจะเป็นคนที่ขอใครไม่เป็นและสั่งใครไม่เป็นด้วย

  7. ทักษะการแก้ไขปัญหาซับซ้อน หรือ Complex Problem Solving Skill… ขึ้นชื่อว่าปัญหา ธรรมชาติของเรื่องมักจะมีที่มาที่ไป ที่ไม่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ หลายครั้งที่ปัญหาหนึ่งเกิด เพราะมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น… ยกตัวอย่างเช่น มาทำงานสายประชุมไม่ทัน เพราะรถยางรั่วอยู่กลางสี่แยกตอนเจ็ดโมงเช้าซึ่งรถติดสุดๆ และร้านยางรถยนต์ยังไม่เปิด ยางอะหลั่ยก็ไม่ได้เติมลมไว้ แถมเก่ากว่ายางที่ใช้วิ่งอยู่และพึ่งจะรั่วไปเสียอีก… คำว่าปัญหาซับซ้อนจึงหมายถึงสาเหตุของปัญหามีมากและอาจจะเป็นโซ่ยาวส่งต่อปัญหาและยึดโยงกับปัญหาอื่นๆ อีก… อย่างกรณีมาประชุมไม่ทันเพราะรถยางรั่วและยางอะหลั่ยก็ใช้ไม่ได้… พอถามว่าทำไม่รั่ว? เพราะยางรถยนต์เก่าใช้มา 3-4 ปีจนดอกยางโล้น… ทำไมไม่เปลี่ยนใหม่? ไม่มีตังค์เปลี่ยน… ทำไมไม่มีตังค์? เงินเดือนน้อย โบนัสไม่เคยได้ ภาระเยอะ หนี้สินก็มี… ซึ่งท่านจะเห็นว่า แค่เรื่องมาสายเพราะยางรั่ว เมื่อตามโซ่ปัญหาไปจะเห็นว่าซับซ้อนต่อเนื่องน่าเวียนหัว ซึ่งนั่นเพียงปัญหาคนเดียวเรื่องเดียว ถ้านึกทวนกลับไปว่า มีรถคันหนึ่งจอดยางรั่วอยู่กลางสี่แยกชั่วโมงเร่งด่วน… คนไปช้าหรือคนไปสายน่าจะมีมากกว่า 1 คน… หรือถอยออกมามองระดับคำโตๆ อย่าง “ปัญหาการจราจร” ซึ่งทุกท่านทราบดีว่ามันซับซ้อนจนไม่มีใครแก้ได้จนทุกวันนี้… แต่การตามหาทักษะการแก้ไขปัญหาซับซ้อน ท่านไม่ต้องแก้ไขปัญหาการจราจรได้ หรือจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็น… ท่านเพียงแต่มีทักษะในการทำปัญหาใหญ่ให้เล็กลงเป็น… ลบปัญหาเล็กด้วยการหลีกเลี่ยงแก้ไขเป็น… กลับมาดูตัวอย่างรถยางรั่วมาสายปัญหาเดิมอีกที… ถ้าคนๆ นี้มาทำงานเช้ากว่าชั่วโมงเร่งด่วนเพราะรู้ดีว่าใช้รถเก่าและยางอายุเยอะ ต่อให้รถยางรั่ว ก็เพียงหาทางเข็นหลบเส้นทางการจราจรก่อนที่รถจะหนาแน่น แล้วก็เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมาทำงานสำคัญก่อน… โดยทักษะการจัดลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญต่างๆ จะช่วยลดโดมิโนปัญหาได้มาก… ซึ่งผมเชื่อว่า คนที่คิดได้และแก้เป็นเรื่องปัญหาซับซ้อน จะรู้ดีว่าจะเกิดปัญหาและป้องกันก่อนได้ รวมทั้งเข้าใจกลไกการแกะปัญหามาจัดการเป็นส่วนๆ ได้ด้วย… อย่างกรณีรถยางรั่วมาทำงานสายเพราะไม่มีตังค์เปลี่ยนยางรถมาสี่ปี… น่าจะแก้ด้วยการเปลี่ยนงานและไม่ทนทำงานเงินเดือนไม่พอจ่ายมานานขนาดนั้น หรือถ้าหางานที่รายได้ดีกว่านั้นไม่ได้ ก็น่าจะแก้ด้วยการไปเรียนเพิ่มเพื่อให้ได้งานที่รายได้มากกว่า หรือหาหนทางอื่นๆ ได้อีกมากมายที่ไม่พาตัวเองไปเจอกับดักปัญหา

  8. ทักษะคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ หรือ Critical Thinking and Decision Making Skill… เรื่องทักษะคิดวิเคราะห์ ผมโทษระบบการศึกษาที่สอนด้วยหลักจำมากกว่าหลักคิด… ซึ่งถึงทุกวันนี้ คนสำคัญในภาคการศึกษาบ้านเรา ยังมองไม่ออกว่าจะสอนคิดวิเคราะห์ยังไง… ถ้าท่านคิดว่าจะหา “วิธีสอนคิดวิเคราะห์” เจอก็ต้องคิดใหม่แล้วครับ… ท่านต้องเข้าใจก่อนว่า การคิดวิเคราะห์ที่พูดๆ กัน… ทั้งหมดเป็นเรื่องความรู้… การคิดให้ออกเพื่อให้รู้ ถ้าท่านไม่มีความรู้ ท่านต้องคิดคิดคิดเพราะยังไม่มีความรู้… ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการไปหาความรู้มาสนับสนุมสิ่งที่กำลังคิด ไม่ใช่คิดไม่ออกเลยพยายามคิดให้ออก… ถ้าหาความรู้มาช่วยคิดไม่ได้ หรือแม้แต่หามาไม่ครบ หรือหนักหนาถึงขั้นได้ความรู้ผิดๆ มาสนับสนุนความคิดและตัดสินใจ… หายนะเกิดแน่นอนเมื่อถึงเวลานั้น… ทางออกเรื่องการคิดวิเคราะห์จึงไม่ใช่การหาวิธีสอนคิดวิเคราะห์ เพื่อมาสอนคนให้รู้จักคิดวิเคราะห์… แต่ให้ตรงไปที่การทำให้คนฉลาดและรู้จัก 3L Skill หรือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง… เพราะสุดท้ายแล้วคนที่รู้เยอะ และเรียนรู้เป็น จะคิดอะไรออกได้ไวกว่า ถูกต้องกว่า มีมิติมากกว่า… ซึ่งนั่นคือ “องค์ความรู้” ที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องดีงาม…

  9. ทักษะสร้างสรรค์ หรือ Creativity Skill… สร้างสรรค์เป็นคำหรูๆ ที่มักใช้กันในงานศิลปะ ซึ่งต้นทางของความสร้างสรรค์จะมาจากแนวคิดหรือ Idea สร้างสรรค์ที่ให้ผลลัพธ์ดีกว่าเดิม… ประเด็น Creativity ผมจะขอไม่ยกประเด็นมากเพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเฉพาะสูงในทัศนะของผม… ผมสัญญาว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้ในโอกาสที่เอื้อๆ เพื่อแบ่งปันมุมมองอีกที… เอาเป็นว่า การมองหา Creativity ในตัวก็เพื่อถามหาผลผลิตที่นิยามได้ว่าเป็น “นวัตกรรม” นั่นเอง… ดังนั้น ทักษะระดับการสร้างนวัตกรรมจึงต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ พอๆ กับการหาวิธีการใหม่ ที่สร้างขึ้นหรือต่อยอดสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ให้เลิศเลอขึ้นกว่าเก่า… บ่อยครั้งผลงานสร้างสรรค์ขั้นนวัตกรรม จึงออกมาจากงานวิจัยที่ต้องการความรู้และทักษะเกินธรรมดา รวมเข้ากับมุมมองที่แตกต่างและกรอบคิดที่ยืดยุ่นมากมาย… แนวทางการคิดสร้างสรรค์ที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในยุคนี้ก็เห็นจะมีแต่สูตร Design Thinking จาก Bill Bernett and Dave Evans จาก Stanford D.School… ลองหาศึกษาดูครับ ในเมืองไทยก็มี Design Thinking Certified Coach อยู่หลายท่าน… ถ้าสมัครงานแนบใบประกาศ Design Thinking ไปด้วยจะแจ่มแจ๋วมากเลย

ขออภัยที่ข้อเขียนวันนี้ยาวไปหน่อย… แต่ก็ตั้งใจเขียนแม้จะเป๋ๆ จากรายละเอียดในมุมมองตัวเองมากหน่อย… ผิดถูกก็ติติงถกเถียงชี้แนะได้ หรือถ้าเป็นประโยชน์ก็กรุณาแบ่งปันบอกต่อคนอื่นๆ ด้วยครับ… สังคมเราต้องการคนครบเครื่องฝั่ง Soft Skills อีกมากเหลือเกิน… ประเทศไทยต้องการประมาณ 70 ล้านคนครับ

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts