จากบทความ #ReDucation ของสัปดาห์ก่อนชื่อตอน Neuroeducation and Cognitive Skills… ประสาทวิทยาศาสตร์การศึกษา และ ทักษะการรู้คิด ซึ่งทิ้งท้ายด้วยคำว่า SOLO Taxonomy แบบห้วนๆ ด้วนๆ เพราะเกรงว่าจะปิดต้นฉบับไม่ลง เพราะว่าเนื้อหาของ SOLO Taxonomy หรือ Structure Of Observed Learning Outcomes Taxonomy ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่โดย John B. Biggs และ Kevin F. Collis ในปี 1982
SOLO Taxonomy หรือ อนุกรมวิธานโซโล เป็นทฤษฎีการประเมินผลการเรียนด้วยโมเดลภาวะสันนิษฐานทางทฤษฎี หรือ Construct Map ซึ่งในทางปฏิบัติ จะเห็นการจัดโครงสร้างผลการเรียนรู้ตามแนวทางที่สังเกตพบ โดยจะจัดเรียงลำดับขั้นผลการเรียนรู้ของผู้เรียน จากผลการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อนน้อยไปยังผลการเรียนรู้ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อสะท้อนศักยภาพด้านการรู้คิดของผู้เรียน หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเกณฑ์ในการใช้อธิบาย “ความสามารถในการเรียนรู้ และ พัฒนาการทั้งทักษะและสติปัญญาของผู้เรียนว่าเข้าถึงองค์ความรู้และทักษะได้ซับซ้อนลึกซึ้งระดับไหน… ซึ่งตอบโจทย์การจัดการศึกษาแบบ Personalized Learning ที่กำลังเป็นกระแสหลักในการออกแบบหลักสูตร และ กระบวนการเรียนรู้และประเมินผู้เรียนในปัจจุบัน
ในทางวิชาการ… SOLO Taxonomy หรือ อนุกรมวิธานโซโล พัฒนามาจากแนวคิด Piaget’s Theory Of Cognitive Development ของ Jean W. F. Piaget โดยได้นำเสนอวิธีการวิเคราะห์และจัดระดับของการฝึกปฏิบัติ และหรือ การนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์เป็นชิ้นงานตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ และ พิจารณาผลการเรียนรู้ผ่านระดับความซับซ้อนของการปฏิบัติ และหรือ การผลิตผลงาน รวมทั้งการถกแถลงและการตอบคำถามที่ใช้สอบหาความเข้าใจแบบต่างๆ แล้วจึงประเมินออกมาเทียบคุณภาพระดับต่างๆ ซึ่งค่าระดับคุณภาพตามแนวคิด SOLO Taxonomy มีอยู่ทั้งหมด 5 ระดับ คือ…
- Pre-structural หรือ ระดับขั้นพื้นฐาน… ผู้เรียนจะยังคงไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริง และ ยังคงใช้วิธีการง่ายๆ ในการทำความเข้าใจสาระเนื้อหา ซึ่งผู้เรียนมักจะพลาดประเด็นที่สำคัญ และ ถือว่ายังเรียนไม่ได้ผล
- Uni-structural หรือ ระดับมุมมองเดียว… ผู้เรียนจะสามารถโต้ตอบกับองค์ความรู้และประสบการณ์ได้เพียงมิติเดียว โดยจะเห็นเพียงความสามารถในการจดจำองค์ประกอบพื้นฐานขององค์ความรู้ และหรือ โต้ตอบคำถามการประเมิน หรือ ให้เหตุผลได้แบบง่ายๆ เท่านั้น
- Multi-Structural หรือ ระดับหลายมุมมอง… ผู้เรียนจะมีการตอบสนององค์ความรู้ และ คำถามการประเมิน หรือ การให้เหตุผลได้หลายมิติ หลากมุมมอง ซึ่งจะเป็นมุมมองการวิเคราะห์สังเคราะห์ที่ได้จากการตั้งคำถาม และ หาคำตอบไว้อย่างเบ็ดเสร็จ
- Relational หรือ ระดับเห็นความสัมพันธ์… ผู้เรียนจะนำความรู้ไปบูรณาการผ่านความสัมพันธ์ และหรือ การเชื่อมโยงกับศาสตร์และองค์ความรู้ หรือ ข้อมูลอื่นๆ ในขั้นที่เรียกว่า “การประยุกต์” โดยในหลายๆ กรณีจะเป็นการนำองค์ความรู้ไปใช้แก้ปัญหา หรือ จัดการประเด็นที่ซับซ้อนได้อย่างดี
- Extended Abstract หรือ ระดับต่อยอดเชิงนามธรรม… ซึ่งจะเป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถสรุปองค์ความรู้ หรือ ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันไปพัฒนาหลักการใหม่ หรือ แนวคิดใหม่… รวมทั้งการประกาศทฤษฎีใหม่ที่มักจะหมายถึงองค์ความรู้ใหม่ และหรือ องค์ความรู้ในกรอบวิธีใหม่ ซึ่งหลายกรณีถูกต่อยอดเป็นนวัตกรรม และ ศาสตร์แขนงใหม่ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม… ระดับคุณภาพตามแนวคิด SOLO Taxonomy ควรถูกปรับแต่งรายละเอียดในการสร้างเกณฑ์เพื่อใช้กับผู้เรียนอย่างเหมาะสม ซึ่งเกณฑ์ในระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรวัด และ ตัวแปรการประเมินภายใต้บริบทการเรียนการสอนหนึ่งๆ ควรถูกปรับแต่งใช้เป็นการเฉพาะ… เพราะถ้าไม่ปรับแต่งก็จะเป็นการใช้ SOLO Taxonomy แบบ One Size Fit Alls อยู่ดี!
References…