ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจนวดและสปา

จากตัวเลขอัตราการเติบโตของธุรกิจสปาในไทยราว 8% ต่อปี ที่ SCBEIC หรือศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า ขยายตัวจากระดับ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2013 มาอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2015 สูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และ เป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย… บวกกับภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเดิม และภาพพจน์ด้านการจัดการวิกฤตโรคระบาดได้ดียิ่งของประเทศไทย ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพในประเทศไทยทุกมิติ ฉายแววโดดเด่นอวดชาวโลก… โดยเฉพาะธุรกิจสาย Wellness ที่เน้นบริการฟื้นฟูเยียวยา ก่อนต้องใช้ยาหาหมอและผ่าตัด

ผมติดค้างทิ้งท้ายจากบทความ ภาพรวม แนวโน้มธุรกิจสปา ที่จะเอาข้อมูลเบื้องต้นในการทำธุรกิจสปาและความงาม มารวบรวมไว้เผื่อท่านที่กำลังมองหาธุรกิจที่ “ใจก็รัก ทักษะก็ดี” รวมทั้งหลายๆ ท่านที่อยู่ในธุรกิจนวดและสปา ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคระบาด ที่ทุกคนต้องเสียสละจนชนะในศึกแรกมาด้วยกัน

ในประเทศไทย… การประกอบธุรกิจนวดสปา ต้องเป็นไปตามระเบียบบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานสําหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อๆ มา

ซึ่งกฏหมายแบ่งประเภทของธุรกิจนวดสปาออกออกเป็น 3 ประเภท คือ กิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ และ กิจการนวดเสริมความงาม

กิจการสปาเพื่อสุขภาพ 

กิจการสปาเพื่อสุขภาพ หมายถึง การประกอบกิจการเพื่อให้การดูแลและเสริมสร้าง สุขภาพ โดยการใช้น้ำและการนวดร่างกายเป็นหลัก และอาจมีบริการเสริมประเภทต่างๆ อื่นอีกอย่างน้อย 3 รายการ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือการอาบน้ำ การนวดตัว หรืออบตัว ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ… โดยบริการเสริมที่เราสามารถให้บริการได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำหนดบริการอื่นในกิจการสปา พ.ศ. 2560 มีดังนี้

  1. การทำความสะอาดผิวหน้า
  2. การขัดผิวหน้า
  3. การนวดหน้า
  4. การบำรุงผิวหน้า
  5. การพอกผิวหน้า
  6. การปรับสภาพผิวหน้า
  7. การขัดผิวกาย
  8. การทำความสะอาดผิวกาย
  9. การบำรุงผิวกาย
  10. การพอกผิวกาย
  11. การพันตัว
  12. การแปลงผิว
  13. ประคบด้วยความเย็น
  14. การประคบด้วยหินร้อนการ
  15. การพันร้อน
  16. การอบไอน้ำ
  17. การอบซาวน่า
  18. การอาบด้วยทรายร้อน
  19. การใช้ผ้าห่มร้อน
  20. การบริการอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
  21. การทำสมาธิ
  22. ไทชิ
  23. ไทเก๊ก
  24. พิลาทิส
  25. แอโรบิค
  26. ฟิตบอล
  27. ชิบอล
  28. ฤาษีดัดตน 

ส่วน The International Spa Association หรือ ISPA  แบ่งชนิดของกิจการสปาออกเป็น 7 ประเภทดังนี้

  1. Club Spa คือ สปาที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการเฉพาะสมาชิกของตนเอง หรือ Member โดยเน้นการให้ความสะดวกสบายและมีอุปกรณ์ครบครัน ในการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพร่างกาย พร้อมกับบริการด้านอื่น
  2. Day Spa คือ สปาที่ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการเดินทางสำหรับลูกค้ามาใช้บริการ เช่น ในที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ห้างสรรพสินค้า หรือตามสนามบิน โปรแกรมการบริการค่อนข้างหลากหลาย ลักษณะผู้มาใช้บริการจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เดย์สปาเป็นสปาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
  3. Hotel & Resort Spa คือ สปาที่ตั้งอยู่ภายในหรือในบริเวณเดียวกันกับโรงแรมหรือรีสอร์ท ที่มีสถานที่ออกกำลังกาย มีโปรแกรมอาหารบริการ และมักประกอบด้วย การนวดแบบต่างๆ เพื่อการผ่อนคลาย สำหรับผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศและหลีกหนีความเครียด ความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน มักจะมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับ Day Spa ทั่วไป
  4. Cruise Ship Spa คือ สปาที่ตั้งอยู่ในเรือสำราญขนาดใหญ่ โปรแกรมการบริการประกอบด้วย การนวดแบบต่าง ๆ การออกกำลังกาย กิจกรรมเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
  5. Mineral Spring Spa คือ สปาที่ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ หรือนำ้แร่ธรรมชาติ โปรแกรมการบริการจะเน้นการบำบัดโดยการใช้ความร้อนของน้ำแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ใช้เกลือมาเป็นส่วนหนึ่งในการบำบัดรักษา ตัวอย่างเช่น สปาที่ตั้งอยู่ตามแหล่งบ่อนำ้พุร้อน ในประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย ประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติหลายแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในอนาคต เช่น ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ระนอง สุราษฎร์ธานี
  6. Destination Spa คือ สปาที่ตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นหลักโดยมีที่พักอยู่ภายในนั้น มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพครบวงจร ทรีทเม้นต์บำบัด โปรแกรมอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่มักจะมีความต้องการการพำนักอยู่เป็นระยะเวลานานเพื่อผ่อนคลายและปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ปรับความสมดุลของร่างกายและจิตใจ ลดน้ำหนัก เลิกสารเสพติ โดยทีมแพทย์และผู้ที่เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณาจัดโปรแกรมให้เหมาะสมกับลักษณะสุขภาพแต่ละคน มักตั้งอยู่ใกล้แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งธรรมชาตินั้นเข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดกิจกรรมให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย
  7. Medical Spa คือ สปาที่ตั้งโดย พระราชบัญญัติสถานพยาบาล โดยมีแพทย์ และพยาบาลเป็นผู้ดูแล มีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัด รักษาสุขภาพ และความสวยงาม โปรแกรมการบริการประกอบด้วยโภชนาการบำบัดและอาหารสุขภาพ การออกกำลังกาย กิจกรรมเพื่อสุขภาพ การนวดแบบต่างๆ โดยใช้ความรู้ด้านสุขภาพ มีบริการทางการแพทย์ให้เลือก ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย แผนจีน ฯลฯ มีโปรแกรมการนวดที่รักษาอาการเจ็บป่วย เช่น การนวดกดจุด การบำบัดด้วยสมุนไพร การปรับโครงสร้างร่างกาย การสะกดจิต การฝังเข็ม ศัลยกรรมความงามผิวหนัง ชะลอวัย ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่มักจะมีความต้องการที่เฉพาะเช่น การลดน้ำหนัก การปรับปรุงสภาพผิว รูปร่าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติยังเกิดความสับสนในการแยกประเภธุรกิจนวดสปาให้ชัดเจน และบางประเภทยังมีความก้ำกึ่งกันในการให้บริการ จึงได้มี การแบ่งประเภทของธุรกิจนวดสปา ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2551 โดยแบ่งสปาออกเป็น 2 ประเภท คือ “สปาแบบมีที่พัก และ สปาแบบไม่มีที่พัก”

กิจการนวดเพื่อสุขภาพ

nature finger spa

กิจการนวดเพื่อสุขภาพ หมายถึง นวดเพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ความเครียด ความเมื่อยล้า เช่น การนวดแผนไทยที่ไม่ใช่การรักษาโรค และการนวดฝ่าเท้า เป็นต้น ทั้งนี้ต้องไม่มีสถานที่อาบน้ำให้บริการ เว้นแต่   เป็นการนวดเพื่อสุขภาพในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือในหน่วยบริการสาธารณสุขของหน่วยงานของรัฐ หรือการนวดที่เป็นการให้บริการในสถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม

กิจการนวดเพื่อเสริมสวย หมายถึง การนวดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมความงาม เช่น การนวดในร้านทำผม / เสริมสวย เพื่อเสริมความงามทั้งนี้ต้องไม่มีสถานที่อาบน้ำให้บริการ เว้นแต่ เป็นการนวดเพื่อสุขภาพในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือในหน่วยบริการ สาธารณสุขของหน่วยงานของรัฐ หรือการนวดท่ีเป็นการให้บริการในสถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

ธุรกิจนวดสปา ทั้ง กิจการสปาเพื่อสุขภาพ กิจการนวดเพื่อสุขภาพ และ กิจการนวดเสริมความงาม

ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และพระราชบัญญัติสถานบริการ… และยังต้องประกอบกิจการภายใต้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เป็นต้น

ท่านที่สนใจธุรกิจนวด สปาและความงามในระดับธุรกิจ… ควรศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งกิจการนวดสปาและความงามให้ดี… และแนะนำให้ใช้แนวทางตามกฏระเบียบในการสร้างธุรกิจที่มีมาตรฐาน เพื่อต่อยอดไปถึงการเติบโตและขยายกิจการ

ตอนหน้าผมจะหาแผนธุรกิจนวดสปาและความงามมาฝากครับ… โปรดติดตาม

อ้างอิง

http://taxclinic.mof.go.th
https://www.sme.go.th

Spaborn.com

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *