Space Junk หรือขยะอวกาศ หรือบางครั้งก็เรียกว่า Space Debris หรือสิ่งตกค้างในอวกาศ โดยทั่วไปจะหมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและหยุดใช้งานหรือใช้งานไม่ได้แล้ว แต่ยังลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศต่อไป
ขยะอวกาศตามนิยามนี้ชิ้นแรกก็คือ ดาวเทียม Sputnik 1 ของรัสเซียที่ขึ้นสู่วงโคจรวันที่ 4 ตุลาคมปี 1957 และสถานีภาคพื้นติดต่อได้ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 1957 และแตกสลายในวันที่ 4 มกราคมปี 1958
ขยะอวกาศที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์มีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งขนาดใหญ่อย่างดาวเทียมใช้แล้ว ฐานปล่อยยานสำรวจอวกาศที่ถูกทิ้งในวงโคจร ถังเชื้อเพลิงของจรวดที่ใช้หมดและปลดทิ้งระหว่างทาง ไปจนถึงของชิ้นเล็กๆ อย่างเศษของสีเคลือบกระสวยอวกาศและจรวดที่ลอกหรือถลอกออกมาระหว่างที่อยู่ในอวกาศ
นาซาประเมินว่า มีขยะอวกาศขนาดประมาณลูกซอฟท์บอลอยู่ราว 20,000 ชิ้น… ขยะในวงโคจรกว่า 750,000 ชิ้น ถูกค้นพบโดยหน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐ หรือ United States Strategic Command ซึ่งมีหน้าที่ในการสอดส่องและติดตามเฝ้าระวังภัยทางอวกาศ…ในขณะที่ โครงการสำรวจอวกาศของมนุษย์ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ตรงข้าม… นับวันก็ยิ่งมีโครงการสำรวจอวกาศและการส่งดาวเทียมมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งทั้งหมดจะกลายเป็นขยะในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าทุกชิ้น


ประเด็นคือขยะอวกาศที่อยู่ในวงโคจรของโลกเคลื่อน ที่ด้วยความเร็วอย่างน้อย 17,500 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 28,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยครับ แค่ปัจจุบันก็มีเรือนแสนชิ้นอยู่ในวงโคจร แถมยังมองไม่เห็นและตรวจจับไม่ได้ทั้งหมดอีกด้วย… ซึ่งขยะเหล่านี้ย่อมกลายเป็นปัญหาของโครงการอวกาศสารพัดของมนุษย์อย่างแน่นอน
กรณีดาวเทียม… บางประเภทมีอายุการใช้งาน 5-7 ปี บางประเภทมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี โดยดาวเทียมที่หมดอายุ หากอยู่ในตำแหน่งวงโคจรต่ำก็อาจสลาย หรือ Decay ไป แต่หากลอยอยู่ในชั้นอวกาศระดับสูง ก็จะกลายเป็นขยะอวกาศ ซึ่งดาวเทียมเก่าหมดสภาพเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งในอวกาศ และเกิดความเสี่ยงที่ดาวเทียมหมดสภาพจะตกลงสู่พื้นโลก เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์
นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาการรบกวนคลื่นสัญญาณดาวเทียมหรือสัญญาณวิทยุ ซึ่งจะส่งผลต่อการติดต่อสื่อสาร การถ่ายทอดสัญญาณจากดาวเทียม รวมทั้งโอกาสในการชนกับดาวเทียมที่ยังปฏิบัติงานอยู่… ขยะอวกาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญในวันที่กิจการด้านอวกาศของมนุษย์ ถึงขั้นวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยนอกโลกแล้ว
หลายหน่วยงานจากหลายประเทศ จึงได้มีการวางแผนเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอวกาศนี้ เช่นกรณีของจีน เสนอให้ใช้เลเซอร์ขนาดใหญ่ที่จะทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้มีขนาดเล็กลง เพื่อป้องกันการชนกับดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่… ฝั่งนาซ่าก็วางแผนโครงการ Space Debris Elimination โดยการยิงก๊าซไปที่ขยะอวกาศเหล่านี้เพื่อให้หลุดจากวงโคจร ให้ขยะอวกาศตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกและเกิดการเผาไหม้ก่อนตกลงสู่พื้นดิน… องค์การอวกาศยุโรป ก็เสนอแนวคิดส่งดาวเทียมที่ติดตาข่ายขนาดยักษ์เหมือนเรืออวน ไล่กวาดขยะอวกาศและนำกลับลงมายังโลก… องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น เสนอแนวคิดใช้ตาข่ายไฟฟ้าดักเศษซากและนำกลับลงมายังโลกเช่นกัน
ขยะอวกาศเหล่านี้จะอยู่ไปอีกนับร้อยถึงหลายพันปี หากไม่มีการเก็บกวาดทำความสะอาด ยิ่งปล่อยไว้นานก็จะยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะขยะอวกาศมักแตกตัวออกเป็นชิ้นส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งตรวจจับและมองเห็นได้ยาก สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันคือ การเฝ้าระวังทิศทางการโคจรของขยะอวกาศ ไม่ให้ชนเข้ากับดาวเทียมหรือยานต่างๆ… ตัวอย่าง หน่วยจราจรอวกาศ ที่ The Goddard Space Flight Center ใน Maryland เป็นต้น
ประเด็นคือ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการจัดการกับขยะอวกาศ แม้องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้ง United Nations Committee on the Peaceful Uses of Outer Space หรือ COPUOS ตั้งแต่ปี 1959 ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่อวกาศอย่างสันติ มีสมาชิกกว่า 85 ประเทศ แต่ก็ยากที่จะหว่านล้อมให้สมาชิกร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับขยะนอกโลกเหล่านี้… แค่ให้ชาติสมาชิกจ่ายค่าดำเนินงานทั่วไปของ COPUOS ก็ลำบากจนแทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อยู่แล้ว
#FridaysForFuture ครับ!
อ้างอิง