Splinternet

Splinternet… เมื่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้มีเครือข่ายเดียว

Splinternet คือ แนวคิดที่ระบบอินเทอร์เน็ตถูกจำกัดขอบเขตตามภูมิภาคหรือประเทศด้วยกฎระเบียบ และถูกควบคุมจากส่วนกลางของแต่ละแห่ง ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจพบความแตกต่างกันในด้าน Contents และ Platform ในแต่ละภูมิภาค 

คำว่า Splinternet เกิดจากการรวมคำระหว่าง Splinter กับ Internet

Splinternet แตกต่างจากแนวคิดทั่วไปของอินเทอร์เน็ตในยุคโลกาภิวัตน์ ที่หมายถึงโลกไร้พรมแดนที่เชื่อมต่อกับคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน โดยไม่มีการควบคุมจากส่วนกลาง ซึ่งอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 3.7 พันล้านคนทั่วโลก หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเข้าถึงและใช้งานอินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน

กระแส Splinternet กำลังก่อตัวขึ้นในประเทศมหาอำนาจ อย่างจีน รัสเซียและสหภาพยุโรป ซึ่งพยายามแยกตัวจากวงจรอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา และกระแสดังกล่าว จะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบโลกออนไลน์ใหม่ ทั้งในด้านการส่งข้อมูลระหว่างประเทศและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร จนท้ายที่สุดจะกลายเป็นความปกติใหม่ หรือ New Normal อย่างแน่นอน

กระแส Splinternet นำโดยจีนและเริ่มกระจายไปยังหลายประเทศ ทำให้เครือข่าย อินเทอร์เน็ตจะถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มหลายวงจร โดยปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อินเทอร์เน็ตถูกแบ่งขั้วมี 3 ประการคือ

1. ต้องการควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่ผ่านมาเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นจากผู้ใช้งานและผู้ให้บริการทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลแทบไม่มีอำนาจในการ จัดการเนื้อหาดังกล่าวในโลกออนไลน์ ซึ่งข้อมูลบางอย่างอาจเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวต่อประเทศนั้นๆ รัฐบาล หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตภายในประเทศตน ด้วยการออก กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลสามารถกรองเนื้อหาในโลกออนไลน์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือเพื่อผลประโยชน์ ทางการเมืองได้

2. ต้องการลดการพึ่งพาการเชื่อมต่ออินเทอรเ์น็ตกับแพลตฟอร์มจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะประเด็นการสอดแนมข้อมูลต่างชาติจากสหรัฐอเมริกา

3. รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลต่างกัน เมื่อข้อมูลในยุคปัจจุบัน ถือเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศต่างต้องการความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองในประเทศ

Splinternet ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานดิจิตอล หรือ Digital Supply Chain มีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังต่อไปนี้

1. อุปสรรคในการรับส่งข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาข้ามประเทศ จะถูกคัดกรองจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้นๆ เสียก่อน หากเนื้อหาหรือข้อมูลข่าสวสารดังกล่าว เป็นเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาต… เนื้อที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ หรือเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นทางๆ ในประเทศ… ก็จะถูกปิดกั้นและดำเนินการโดยปริยาย

2. เกิดการแผ่ขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแพล็ตฟอร์มการเลือกขั้วอำนาจด้วยเครือข่าย… ตัวอย่างเช่น การติดต่อค้าขายกับนักธุรกิจจีนจะต้องใช้แพล็ตฟอร์ม WeChat เป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน… หรือกรณี VK หรือบริการ VKontakte โซเชี่ยลมีเดียของรัสเซียก็เป็นโซเชี่ยลมีเดียแพล็ตฟอร์มภายในรัสเซียที่ทรงอิทธิพลทั้งในรัสเซียเองและธุรกิจต่างชาติที่จะเข้าตลาดรัสเซียเช่นกัน

ในห้วงเวลานับจากนี้… ธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในอินเทอร์เน็ต จะต้องเจออุปสรรคกับ Splinternet อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียต่อการดำเนินการของธุรกิจเช่น

1. ลดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทั่วโลก เนื่องจากแต่ละประเทศจะใช้กฎระเบียบควบคุมอินเทอร์เน็ตของตัวเอง ซึ่งแต่ละแห่ง มีความเข้มงวดหรือให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่สามารถนำบริการแบบเดียวกัน มาให้บริการกับผู้ใช้ทั่วโลกได้เหมือนในอดีต… ทำให้โมเดลการขยายธุรกิจด้วยแนวคิด Economies of Scale ที่เคยเป็นจุดเด่นของ Startup ทั่วโลก เป็นไปได้ยากขึ้น

2. เพิ่มต้นทุนการดำเนินงานของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เนื่องจากต้องทำตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศ เช่น ต้นทุนในการกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม… ซึ่งมีตั้งแต่การจ้างคนหรือพัฒนา AI ขึ้นตรวจสอบข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาบนแพลตฟอร์มก่อนจะทำผิดกฏหมายที่อาจนำไปสู่บทลงโทษที่กระทบผลประกอบการ… หรือเลวร้ายถึงขึ้นขั้นมีความผิดทางอาญาเลยก็ได้

3. เพิ่มช่องว่างความแตกต่างในการพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI โดยประเทศที่ผ่อนคลายกฎระเบียบการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล จะสามารถเร่งพัฒนาระบบ AI ได้รวดเร็วกว่าประเทศที่เน้นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากถ้าผู้ให้บริการมีข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ AI สามารถคาดเดาพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้แม่นยำยิ่งขึ้นเท่านั้น

ประเทศไทยมีกฎระเบียบควบคุมและปกป้องสิทธิในข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ

1. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562… บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562

2. พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562… จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 

ประเด็นก็คือ… Splinternet เกิดขึ้นแน่นอน… ซึ่งความวุ่นวายซับซ้อนนี้ จะมีทั้งปัญหาและโอกาสที่รอใครซักคนหยิบจับขึ้นมาทำประโยชน์ได้แน่นอนเช่นกัน!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *