คนส่วนใหญ่ล้วนมีปัญหาพัวพันกับตัวเองให้อยากเปลี่ยนแปลง หรือ แก้ไขอะไรบางอย่าง หรือ หลายๆ อย่างเพื่อแก้ไขส่วนที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา หรือ อย่างน้อยก็เพื่อบรรเทาส่วนที่เป็นปัญหาให้เหลือเป็นเพียงอุปสรรคที่สร้างปัญหาให้น้อยลง… ซึ่งทั้งการจะแก้ไข หรือ จะบรรเทาปัญหาให้เบาลงไม่ว่าจะแค่ไหนอย่างไรนั้น คนที่อยากพ้นปัญหาก็จำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หรือ หลายอย่างไปจากเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงบนความพยายามเหล่านั้นก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่าย
โมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือ Transtheoretical Model ของ Professor James O. Prochaska ซึ่งท่านเป็นนักจิตวิทยาจากสถาบันมะเร็งใน University of Rhode Island และ Professor Dr.Carlo C. Diclemente นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเสพติด และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณจาก University of Maryland ซึ่งอธิบาย Stage of Change หรือ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงระยะต่างๆ ที่คนๆ หนึ่งมีพัฒนาการมุ่งปรับเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมสุขภาพที่คนส่วนใหญ่ตระหนักว่าสำคัญ… นักจิตวิทยาเจ้าของโมเดลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งสองศึกษา จึงแนะนำให้ใช้เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผนขั้นตอน ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จต่อวัตถุประสงค์การเปลี่ยนแปลงมากกว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงแบบขาดขั้นตอนและรายละเอียด… เพราะได้รู้เท่าทันระยะต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
Stage of Change หรือ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จาก Transtheoretical Model ประกอบด้วย…
- Precontemplation หรือ ระยะเมินเฉย… เป็นระยะแรกที่คนยังมองไม่เห็นปัญหา หรือ เห็นแต่ยังไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเฉพาะพฤติกรรมของตัวเอง
- Contemplation หรือ ระยะลังเล… เป็นระยะที่ตระหนักถึงปัญหา และหรือ มองเห็นผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เริ่มกังวลหมกมุ่นแต่ยังไม่ทำอะไร เพราะจะมาไกลได้แค่ “อยากจะ หรือ คิดจะ” เท่านั้นเอง
- Preparation หรือ ระยะเตรียมการ… เป็นระยะวางแผน และ เตรียมการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนที่คิดจะเปลี่ยน และ ที่ต้องการจะเปลี่ยน
- Action หรือ ระยะลงมือ… เป็นระยะที่พาตัวเองลองผิดลองถูกกับกิจกรรม และ ตัวแปรในการปรับเปลี่ยนให้ได้ผลตามเป้าหมาย…
- Maintenance หรือ ระยะคงที่… เป็นระยะที่การเปลี่ยนแปลงนำผลลัพธ์ตามเป้าหมายมาสู่ตัวเองอย่างชัดเจน ซึ่งในเชิงพฤติกรรมจะสามารถปฏิบัติตนจนเป็นนิสัยใหม่ได้ด้วย
- Termination หรือ ระยะล้มเลิก… เป็นระยะที่คนส่วนหนึ่งล้มเลิกพฤติกรรมที่ต้อง “ใช้ความพยายาม” แม้จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ตัวเอง และ ผ่านระยะลงมือมาจนถึงระยะคงที่แล้วก็ตาม โดยต่อมาก็มักจะนำไปสู่ภาวะ Relapse หรือ วนกลับไปเจอปัญหาเดิมจนต้องเริ่มวงจรการเปลี่ยนแปลงใหม่

ก่อนอื่นต้องเรียนทุกท่านก่อนว่า… Stage of Change หรือ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จาก Transtheoretical Model พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ผลักดันการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนไข้ ซึ่งนักจิตวิทยาเจ้าของโมเดลใช้วิเคราะห์คนไข้ว่าอยู่ในระยะไหน และ ต้องทำอะไรบ้างเพื่อผลักดันคนไข้ให้เปลี่ยนแปลง… โดยเฉพาะแรงจูงใจที่ต้องใส่ไปในขั้นตอนการช่วยเหลือคนไข้ ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… Stage of Change หรือ ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จาก Transtheoretical Model มีประโยชน์ในการ “ติดตามตัวเอง” ซึ่งเมื่อคนเราตระหนักถึงปัญหาและผลของปัญหาจน “คิดจะ หรือ อยากจะ” สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปลี่ยนผลลัพธ์ในอนาคตให้ตัวเอง… ซึ่งการใส่ “แรงจูงใจ” ให้ถูกจริตส่วนตัวตามระยะการเปลี่ยนแปลงตาม Stage of Change มักจะได้ผลดีกว่าการใช้ความพยายามโดยไม่มีลูกเล่น หรือ กลยุทธ์อื่นใดในการจัดการจิตใจและความต้องการของตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็ซับซ้อนและตามไม่ทันจิตใจตัวเองนัก… แม้ทุกคนจะรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงตาม “ความตั้งใจดี” มักทำให้ตัวเองดีขึ้นได้กว่าเดิม แต่การเอาชนะ “นิสัยเดิม” ด้วยการสร้างนิสัยใหม่ให้ได้ดั่งใจนั้น… ไม่ง่าย!
References…