ความเสี่ยง หรือ Risk… เป็นคำที่นิยามถึงปราการใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตมนุษย์แทบจะทุกคน โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ บางเรื่อง เพื่ออะไรและอย่างไรก็ตามแต่ ความเสี่ยงซึ่งส่วนใหญ่เป็นตรรกะค่อนข้างชัดเจน จะต่อตรงเข้าหา “ความกลัว หรือ Fear” ของคนที่ต้องตัดสินใจ รวมทั้งคนที่ต้องตัดสินใจร่วม ในขณะที่หลายกรณีอาจจะเลยไปกระตุ้นความกลัวในหมู่คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไรเลยนอกจากรอผลกระทบเท่านั้นได้ด้วย
ความเสี่ยงจึงเป็นปัญหาใหญ่อันท้าทายเสมอ ในทุกๆ การตัดสินใจรวมทั้งการไม่ตัดสินใจ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่ต่างกัน… พัฒนาการหลายอย่างของมนุษย์ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อบริหารความเสี่ยง ภายใต้การกระตุ้นโดยตรงถึงและผ่านความกลัวในระดับต่างๆ ของสติปัญญาและความรู้สึกนึกคิด… รวมทั้งหนทางอื่นๆ ตระเตรียมเป็นทางเลือก เพื่อลดระดับความกลัวและหรือระดับความเสี่ยง ซึ่งเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นก็คือ… ที่ไหนมีความเสี่ยง ที่นั่นน่ากลัว และ เรื่องไหนมีความเสี่ยง เรื่องนั้นน่ากลัว!
เทคโนโลยีและพัฒนาการต่างๆ ของมนุษยชาติ รวมทั้งธุรกิจและบริการมากมายในโลกใบนี้ จึงถูกสร้างขึ้นบนบริบทของความกลัว โดยหาทางจัดการความเสี่ยงเป็นหลัก… ไล่มาตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์เรียนรู้การใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นและแสงสว่างเพื่อแกปัญหาความมืด ความหนาวและอาหารดิบจากธรรมชาติ… ไล่เรียงตามพัฒนาการยุคต่างๆ มาจนถึงการหาทางอพยพข้ามดวงดาว เพราะกลัวว่าวันหนึ่งโลกใบนี้จะอยู่ไม่ได้เหมือนปัจจุบัน
ส่วนกลยุทธ์การจัดการความกลัว ผ่านการบริหารความเสี่ยงของมนุษย์ที่ผ่านมาหลายรุ่นหลายสมัย ส่วนใหญ่มักจะบริหารความเสี่ยงด้วยการ “กระจายทางเลือก หรือ เพิ่มทางเลือก” เพื่อให้มั่นใจว่า… หากการตัดสินใจในแนวทางหนึ่ง ต้องเผชิญความเสี่ยงจนเกินท้าทายและกลายเป็นอุปสรรค มนุษย์สามารถใช้ทางเลือกสำรอง หรือ ทางเลือกที่สองสามสี่ซึ่งตระเตรียมไว้เผื่อ… มาชดเชยความเสียหายบกพร่องที่เป็นผลกระทบจากความเสี่ยงที่บริหารไม่ได้ตามเป้าหมายนั่นเอง
ในโลกธุรกิจ… การบริหารความเสี่ยงก็เป็นประเด็นใหญ่ไม่ต่างกับแง่มุมส่วนบุคคลและปัจเจก ในขณะที่สีสันของการบริหารความเสี่ยงในโลกธุรกิจ รวมทั้งโลกของการลงทุนและนักลงทุน กลับกลายเป็นชุดภูมิปัญญา หรือ The Knowledge Package ที่คนในสังคมธุรกิจและการลงทุน มีการถ่ายทอดและสืบทอดแนวทางและวิธีการอย่างเป็นระบบ… โดยเฉพาะกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงแบบต่างๆ เพื่อจัดการความกลัวเฉพาะอย่าง หรือ เฉพาะเหตุการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงสูงให้ลดลงเหลือเสี่ยงน้อย และหาทางลดความเสี่ยงเล็กน้อยให้หมดไปจนกลายเป็นโอกาสใหม่ได้ด้วย… กลยุทธ์การกระจายความเสี่ยง หรือ Diversify จึงเป็นกลยุทธ์สุดคลาสสิคในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยสีสัน โดยเฉพาะสีสันข้อดีข้อด้อยของการกระจายความเสี่ยงเรื่องหนึ่ง แต่ดันไปเพิ่มความเสี่ยงเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง หลายกรณี… ความเสี่ยงใหม่ที่ตามมาจากการหาทางลดหรือกระจายความเสี่ยงชั้นต้น กลับมีความเสี่ยงแฝงมากับโอกาสอันท้าทายทั้งความกลัวและความอยากในคราวเดียวกัน สุดท้ายจึงเกิดคำคมสุดคลาสสิคที่บอกว่า… High Risk High Return หรือ เสี่ยงสูงผลตอบแทนก็สูง
Constantinos C. Markides ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ธุรกิจจาก London Business School ซึ่งมีรายชื่ออยู่ใน The Most Influential Management Gurus ลำดับที 47 ในปี 2009 ปีเดียวกับที่มีชื่อ Paul Krugman… Steve Jobs… Bill Gates… Richard Branson… Philip Kotler และนักกลยุทธ์การจัดการชื่อดังอื่นๆ ของโลกรวม 50 คน… โดย Constantinos C. Markides ได้สรุปแนวทางในการกระจายความเสี่ยง หรือกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยง… เพื่อให้ภาพการบริหารความเสี่ยงในแนวทางกระจาย เหมาะสมต่อกลยุทธ์และวิสัยทัศน์หลังของธุรกิจ และหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์การบริหารแบบมั่วๆ กะๆ อย่างไร้ทิศทาง
แนวทางและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของ Constantinos C. Markides จะพัฒนารอบ “สินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Assets” ที่หมายถีงสินทรัพย์ของธุรกิจหรือองค์กร ที่มีอยู่และมีไว้แล้วได้เปรียบคู่แข่งทั้งหมด… มีอยู่และมีไว้แล้วส่งเสริมธุรกิจให้ก้าวหน้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด… มีอยู่และมีไว้แล้วทำให้เข้าถึงโอกาสและตลาดใหม่ๆ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนบนตัวชี้วัดที่เป็นจริงทั้งหมด
หลักใหญ่ในแนวคิดนี้ก็คือ… การกระจายความเสี่ยงใดๆ ที่จะดำเนินการต่อไปนั้น “ไม่ควร” ทำลายสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Assets ครับ!
ผมขอจบบทความตอนนี้เท่านี้ก่อนน๊ะครับ… เพราะถ้าแตกประเด็นต่อเพื่ออธิบาย Strategic Assets เพิ่มเติมคงยาวเกินกว่าจะเขียนเสร็จภายในวันได้… เกาะติดบทความจากผมและ Reder.red แนวกลยุทธ์ได้ทุกวันเสาร์ครับ… สแกนคิวอาร์โค๊ดข้างล่างเพิ่มเพื่อนในไลน์ไว้ท่านไม่พลาดแน่นอน
ขอบคุณทุกท่านครับ!
References…