ในการกำหนดทิศทางและอนาคตให้องค์กรหรือธุรกิจ หรือแม้แต่ชีวิตส่วนตัวอันเป็นความปราถนาของคนๆ หนึ่งในอนาคต สิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเรื่องส่วนตัวก็คือ เราจะมีเป้าหมายและเริ่มคิดหาทาง
เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมาย จึงมีความสำคัญเท่าๆ กับวิธีการหาทางให้เราไปสู่เป้าหมาย… ซึ่งทั้งหมดจะมีลำดับและวิธีการเข้าใกล้เป้าหมายที่ได้จาก “การคิดหาทางและการทำตามที่คิดไว้ไปตามลำดับ”
สิ่งที่เราคิดและเตรียมการจะทำตามที่คิด ไปจนกระทั่งได้ทำตามสิ่งที่ได้คิดไว้จนเสร็จตามเป้าทั้งหมดจะเรียกว่า แผนการและแผนดำเนินการ… หรืออีกคำนิยามหนึ่งก็คือ “เป้าหมายและวิธีประสบความสำเร็จต่อเป้าหมาย” ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แผนกลยุทธ์” หรือเรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์” ในกรณีที่เป็นแผนซึ่งกระทบต่อคนหมู่มาก
ใช่เลยครับ! คำหรูๆ อย่างคำว่าแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ เป้าหมายและวิธีการที่ได้คิดและเตรียมการเพื่อบรรลุเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า… เท่านั้นเอง
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… แผนและแผนกลยุทธ์ หรือ “แผนยุทธ์” ส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะแผนยุทธ์มากมายที่ร่างกันขึ้นมาทีละหลายร้อยหน้า มีคนใหญ่คนโตเกี่ยวข้องร่วมทุ่มเทสติปัญญา ประสบการณ์และไอเดียมากมายจนกล้าลงนาม… รวมทั้งมอบหมายให้ “คน” ไปดำเนินการตามแผน ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านการ “ระดมสมอง” กันมาไม่น้อยจึงตั้งชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์นั่นนี่ยาวเฟื้อยก็มี
ข้อเท็จจริงก็คือ… แผนยุทธ์ส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินการตามแผน มักจะมีความก้าวหน้าของแผนถึงระดับหนึ่ง ซึ่งมีเพียงแผนยุทธ์จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถ “ก้าวหน้าถึงขั้นบรรลุวัตถุประสงค์” ได้ตามเป้าหมายอย่างชัดเจน ในขณะที่แผนยุทธ์ส่วนใหญ่มักจะล้มเหลวเพราะ… วิธีการที่ได้คิดและเตรียมไว้ลำดับถัดไปจากความก้าวหน้าล่าสุดตามแผน ไม่สามารถดำเนินการ หรือ Execute ต่อไปได้… และไม่มีทางเลือกอื่นให้ดำเนินการทดแทน
งานตีพิมพ์เผยแพร่ในหัวข้อ Strategic Planning with Critical Success Factors and Future Scenarios: An Integrated Strategic Planning Framework โดย Linda P. Gates ได้พูดถึง CSF หรือ Critical Success Factor หรือ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ… หรือล้มเหลวในแต่ละฉากทัศน์ หรือ Scenario และ Method หรือ วิธีการตามแผน มักจะไม่ถูกโฟกัสเอาไว้ในแผนยุทธ์อย่างเพียงพอที่จะก้าวหน้าจนบรรลุวัตถุประสงค์… เหมือนท่านอยากช่วยชาวบ้านน้ำท่วมด้วยการไปตลาด ซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารและจัดใส่ห่อเอาไว้ให้ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมแกะห่อกินได้เลย… แต่ลืมคิดไว้ว่าจะเอาไปส่งยังไงให้ถึงมือคนกิน!
แผนยุทธ์ หรือ แผนกลยุทธ์ หรือแผนยุทธศาสตร์ที่ดีจึงควรเริ่มต้นที่การออกแบบความสำเร็จและล้มเหลวล่วงหน้า… พร้อมคำตอบให้คำถามว่า “สำเร็จแล้วไงต่อ?… ล้มเหลวแล้วไงต่อ?”
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของแผนที่บรรจุวิธีการและรายละเอียดไว้ด้วยก็คือ… มันมีรายละเอียดให้ทำตาม ที่จำเป็นต้องทำตามก่อน… และมันมีรายละเอียด “ที่ไปเจอว่าไม่ควรทำตาม” แต่ก็ต้องทำตาม ทั้งๆ ที่ไม่ควรทำตามก่อน… ถูกเขียนลงแผนไว้ในแผนล่วงหน้าเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้น
วิธีการทำแผนกลยุทธ์จึงเป็นงานศิลปะ ที่ต้องไปเก็บเกี่ยวตรรกะเอาหน้างานมาขัดเกลาวิธีการและกลยุทธ์ในแต่ละขั้น ทั้งเพื่อประเมินความก้าวหน้าของแผนแต่ละขั้นและเก็บ “ข้อมูล” ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้เป็นตรรกะช่วยขับเคลื่อนแผนที่ถูกปรับแต่งมุ่งหวังความก้าวหน้าขั้นถัดไป
ส่วนที่สำคัญจริงๆ ก็คือ… ข้อมูลต้นที่ใช้ร่างแผนครั้งแรกซึ่งผมเรียกว่างานศิลปะนั้น ไม่ได้ต้องการข้อมูลมากมายก่ายกองชัดเจนครบถ้วนหรอกครับ… แต่ต้องแน่ใจว่า “วิสัยทัศน์ชัดเจนถูกต้อง” ที่เหลือก็แค่เปิดหูเปิดตาและเปิดใจ… รับข้อมูลใหม่ๆ ที่จะถาโถมเข้าใส่เมื่อเริ่มดำเนินการตามแผน… นั่นแหละ ศิลปะ!!!
References…