3 มีนาคม ปี 1958… Fuji Heavy Industries หรือ FHI บริษัทผู้ผลิตอากาศยานสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งหันมาผลิตรถยนต์แบรนด์ Subaru ก็ได้วางจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโมเดลแรก รุ่น 360 หรือ Subaru 360 หลังจากทดสอบรถต้นแบบมานานหลายปี…
Subaru 360 เป็นรถยนต์ขนาด Microcar ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของเคย์คาร์ หรือ Kei Car ที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้มีรถขนาดเล็กราคาประหยัดใช้สอยในประเทศ และ ยกย่องให้เป็นรถยนต์แห่งชาติ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนหลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังมีความต้องการใช้รถยนต์อยู่ในขณะนั้น
Subaru 360 เริ่มสายการผลิตในปี 1958 จนถึงปี 1971 โดยตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ Subaru 360 อยู่ในสายการผลิต สามารถผลิต Subaru 360 ออกสู่ตลาดได้มากถึง 392,000 คัน… โดยชื่อรุ่น 360 มาจากขนาดเครื่องยนต์ 356 CC แบบ 2 สูบ 2 จังหวะ ที่ออกแบบตัวรถให้มีน้ำหนักรวมราว 450 กิโลกรัม โดยใช้ตัวถังแบบโมโนคอก หรือ Monocoque มีหลังคาไฟเบอร์กลาสให้เลือก กับ หลังคาผ้าแบบถลกเปิดได้ ซึ่งวางตลาดด้วยราคาไม่แพง… Subaru 360 เป็น Kei Car รุ่นแรกของญี่ปุ่น และ ขายดีที่สุดในยุคนั้น โดยได้รับฉายาจากตลาดรถยนต์ว่า Ladybird หรือ แมลงเต่าทอง
เครื่องยนต์ของ Subaru 360 รหัส EK31 ก็เหมือนกับเครื่องยนต์ 2 จังหวะรุ่นอื่นๆ ในยุคนั้น ที่จำเป็นที่จะต้องใช้เชื้อเพลิงที่ผสมกับออโต้ลู้ปเท่านั้น… ฝาถังน้ำมันเชื้อของ Subaru 360 จึงมีลักษณะคล้ายถ้วย ใช้ในการตวงออโต้ลู้ปสำหรับเติมลงในถังน้ำมันเชื้อเพลิง… กระทั่งปี 1964 ซูบารุจึงได้เปิดตัวระบบ Subaru Matic ซึ่งเป็นระบบที่จะทำการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ากับออโต้ลู้ปอัตโนมัติ ก่อนที่จะจ่ายเข้าสู่เครื่องยนต์ โดยจะเติมออโต้ลู้ปใส่ถังออโต้ลูปที่แยกออกจากถังเชื้อเพลิงต่างหาก ไม่ต้องตวงลงในถังน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเดิมอีกต่อไป
Subaru 360 เป็นนั่งส่วนบุคคลกลุ่ม Kei Car แบบ 2 ประตู โดยรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นจะมาพร้อมเบาะนั่งแถวหน้าแบบโซฟายาวไม่ต่างจากเบาะแถวหลัง ก่อนจะเปลี่ยนเบาะแถวหน้าเป็นเบาะคู่หน้า หรือ เบาะแยกในรุ่นหลัง และยังเพิ่มกระจกข้างแบบกระทุ้งเปิดให้ที่นั่งแถวหลัง
ความโดดเด่นและน่าสนใจที่สุดของ Subaru 360 ก็คือการออกแบบถังน้ำมันให้อยู่สูงกว่าเครื่องยนต์ และ จ่ายเชื้อเพลิงเข้าเครื่องยนต์ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก และ ที่เด็ดกว่านั้นก็คือ Subaru 360 ได้ใช้คลัตช์อัตโนมัติ หรือ Autoclutch ตัดต่อกำลังเครื่องยนต์กับเกียร์ธรรมดา 3 จังหวะ โดยมีรุ่นเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะและคลัตช์สายในรถรุ่นที่สองเป็นต้นมา… รวมทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในรถแบบจุกจิกที่หาได้ไม่ง่ายในรถคันจิ๋วของยุคนั้น เช่น ช่องเก็บแผนที่ และ ที่วางของหลังเบาะหลัง
Malcolm Bricklin นำ Subaru 360 เข้าตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีแต่รถคันใหญ่ๆ เครื่องยนต์แรงๆ กินน้ำมันเยอะๆ โดยโฆษณาขาย Subaru 360 สั้นๆ ว่า “Cheap and Ugly หรือ ถูกและขี้เหร่” ซึ่งตลาดอเมริกันตอบรับ Subaru 360 Ladybird อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตน้ำมันช่วงปี 1973 ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากราว 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลเป็น 50–70 ดอลลาร์สหรัฐยาวนานจนถึงปี 1980 ซึ่งกลุ่มชาติอาหรับผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ ได้ยกเลิกการส่งออกน้ำมันให้แก่กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนอิสราเอล และ ทำให้รถยนต์ประหยัดน้ำมันเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยหนึ่งในรถยนต์ประหยัดน้ำมันที่ตลาดต้องการก็คือ Subaru 360 Ladybird








References…