แนวโน้มราคายางพาราในตลาดโลก คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.6-1.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม และมีอัตราการขยายตัวราว 2 เปอร์เซ็นต์จากปี 2019… จากผลผลิตของประเทศไทย อินเดีย จีนและ CLMV ยกเว้นมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เกิดโรคระบาดในสวนยางจนผลผลิตตกต่ำ
สำหรับการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมหลักอย่างยางล้อมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างดี
ส่วนการคาดการณ์ราคายางพาราในประเทศ จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับปี 2019 โดยนอกจากผลกระทบจากราคาโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำแล้ว ยังได้รับแรงกดดันจากผลผลิตในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกด้วย… นอกจากนี้ ความต้องการยางพาราจากจีนที่ชะลอลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ย่อมส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก
ซึ่งนักวิเคราะห์จากอีไอซีคาดว่า ปริมาณการส่งออกยางพาราไทยในปี 2020 จะอยู่ที่ 3.1 ล้านตัน หดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
ประเด็นก็คือ ข้อมูลทั้งหมดชี้ว่า… เกษตรกรสวนยางยังคงติดหล่มเดิมๆ แบบที่ยังจะเป็นประเด็นการเมืองและสังคมต่อไปอีกนาน… ปัญหาระดับนโยบายก็ว่ากันไปในชั้นนโยบาย ที่จะเพิ่มการใช้ในประเทศ หรือเพิ่มตลาดส่งออก หรือแม้แต่ลด Supply ลงให้มากด้วยการโยกงบประมาณที่ใช้แก้ปัญหาปลายทาง มาช่วยกันดึงพี่น้องเกษตรกรออกจากกับดักสำคัญที่เรียกว่า… Sunk Cost Fallacy ดีมั๊ย???

Sunk Cost Fallacy เป็นพฤติกรรมเสียดายทุนที่จมไปแล้ว และยังดันทุรังลงเงิน ลงแรง ลงเวลาเพิ่มเข้าไปด้วยหวังว่าจะได้ทุนคืนเป็นอย่างน้อย
นักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่า มนุษย์เราไม่ค่อยจะตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเท่าไหร่ เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสีย… โดยเฉพาะความสูญเสียที่ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบเอง
กรณีสวนยางและอุปทานส่วนเกินก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ผมเชื่อว่า… Sunk Cost Fallacy เล่นงานตั้งแต่เกษตรกรจนถึงคนทำนโยบายในแง่มุมปลีกย่อยอันน่าเศร้ามากมาย…
ในทางปฏิบัติ… อาการเสียดายทุนจมสร้างปัญหาเรื้อรังหลายกรณีให้คนๆ หนึ่ง… ครอบครัวๆ หนึ่ง หรือแม้แต่ชุมชนและชาติบ้านเมืองที่ต้องเพียรใส่ทุนก้อนใหม่ ให้ถมจมไปด้วยกันและถอนตัวยากขึ้นกว่าเดิม
Sunk Cost Fallacy มีอีกชื่อหนึ่งว่า Concorde Fallacy ซึ่งเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยความดื้อรั้นจากโครงการพัฒนาเครื่อง Concorde… เครื่องบินขนส่งความเร็วเหนือเสียง ที่จะถูกนำมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ โดย British Airways และ Air France ระหว่างปี 1976-2003 เครื่องบินรุ่นนี้ทำความเร็วได้ถึง 2,158 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือทำความเร็วได้สองเท่าของเครื่องบินโดยสารในยุคเดียวกัน… สามารถบิน ลอนดอน-นิวยอร์ค หรือ ปารีส-นิวยอร์ค ด้วยเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น… ถ้ามองในแง่ประสิทธิภาพอย่างเดียว Concorde น่าจะเป็นเครื่องบินโดยสารที่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการบินไปเลยก็ได้

เครื่องบิน Concorde เที่ยวบินสุดท้ายโดยสายการบิน British Airways ลงจอดที่สนามบินเมืองบอสตัน, วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2003
ย้อนกลับไปในปี 1956 เมื่อคณะกรรมการควบคุมอากาศยานขนส่งด้วยความเร็วเหนือเสียง จัดประชุมที่อังกฤษ ถึงแผนการสร้างเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นครั้งแรก และได้ฝรั่งเศสเข้าร่วมโครงการในปี 1962… แต่กว่าที่เครื่องต้นแบบของ Concorde จะเป็นรูปเป็นร่าง ก็ต้องรอจนถึงปี 1969 จากนั้น ยังต้องใช้เวลาทดสอบและพัฒนาต่ออีก 4 ปี
นับรวมตั้งแต่เริ่มโครงการ จนสามารถผลิตเพื่อให้ Concorde ใช้งานจริงได้นั้น… กินเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษ และใช้เงินในการพัฒนาไปกว่า 1,000 ล้านปอนด์ จนทำให้โครงการนี้ตกอยู่ในภาวะ ‘ต้นทุนจม’ หรือ Sunk Costs ตั้งแต่แรกเริ่ม
เหตุผลหลักที่ทำให้โครงการพัฒนาเครื่องบิน Concorde สามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งที่ไม่มีวี่แววจะคืนทุน คือศักดิ์ศรีที่ค้ำคอรัฐบาลของอังกฤษและฝรั่งเศส ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ และไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รู้สึกว่าความเหน็ดเหนื่อย เวลา หรือแม้แต่เงินทุนที่ลงไปกับการพัฒนานั้นสูญเปล่า… ความดื้อแพ่งในกรณีนี้ ยังทำให้สายการบินและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ต้องแบกรับภาระทางการเงินนานถึง 27 ปี ระหว่างที่ Concorde ถูกใช้งาน ตั้งแต่ปี 1976 จนถึงปี 2003… กระทั่งหลังเหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุโจมตีอาคารเวิล์ดเทรดในนิวยอร์ค อุตสาหกรรมการบินก็ถึงยุคตกต่ำ ในขณะที่เครื่องบิน Concorde ที่ใช้งานอยู่มีปัญหาขัดข้องเกิดระเบิดเองขณะขึ้นบิน… และทุกฝ่ายก็ต้องยอมแพ้ยกเลิกโครงการ Concorde ในที่สุด
Concorde Fallacy จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่เราท่านควรตั้งคำถามกับสิ่งที่เราทำอยู่ได้เสมอว่า… เอาเข้าจริงๆ แล้วเรากำลังเพียรพยายามเพื่อให้ขุดถึงขุมทองที่เรารู้สึกว่าอยู่ไม่ไกล… หรือกำลังเจอมายาคติค้ำความหวังอันหวาดหวั่นอยู่กันแน่
ความเพียรเป็นสิ่งดีงามและทรงพลังกับความก้าวหน้า… แต่!!! หากใช้เพื่อหล่อเลี้ยง Sunk Cost Fallacy ที่น่าสงสารต่อไป… ย่อมเป็นความเพียรที่ขาดการเปลี่ยนแปลง ที่ผลลัพธ์ในท้ายที่สุด… จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิมในทางที่ดีขึ้นได้… อย่างแน่นอน!
อ้างอิง