Thinking

Super Productive Thinking… คิดอย่างไรให้ไปถึงผลงาน #ExtremeLeadership

ในบรรดาเทคนิคการรับมือกับปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมักจะเริ่มต้นที่โจทย์ปัญหา ตั้งแต่ระดับอยากทำอะไรมาใช้ทำอะไร ไปจนถึงอยากจะทำให้เรื่องเหลือเชื่อแค่ไหนให้เป็นจริงได้อย่างไร ซึ่งท้าทายและอาจถึงขั้นสร้างคุณูปการมากมายให้มวลมนุษย์ก็ได้

ประเด็นก็คือ… การรับมือกับปัญหา หรือ แม้แต่การใช้ปัญหานำทางการสร้างสรรค์เพื่ออะไรก็ตามแต่ ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่การคิด ซึ่งถ้าทั้งหมดหวังผลในการจัดการปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์แล้วหล่ะก็… การคิดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในกรอบปัญหา มักจะเป็นการเชื่อมโยง “ทรัพยากร” ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาต่อเนื่องเป็นทอดๆ ไป… ซึ่งด้านหนึ่งของการมี หรือ การหา หรือ การนำทรัพยากรมาใช้จัดการปัญหาชั้นแรก  ก็มักจะเจอปัญหาในห่วงโซ่ทรัพยากรทั้งหมดด้วยเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาคือเดินทางไม่สะดวก วิธีแก้คือซื้อรถยนต์สักคัน… การจะมีรถสักคันต้องมีเงินสักก้อน การจะมีเงินสักก้อนมาซื้อรถ ก็ต้องใช้เงินออมในบัญชี หรือไม่ ก็ต้องขายมรดก หรืออีกทาง ก็ต้องกู้ไฟแนนซ์… ซึ่งปัญหาต่อจากเงินออมหาย หรือขายมรดก หรือกู้ไฟแนนซ์ก็จะมีชุดปัญหาที่ต้องจัดการยากง่ายซับซ้อนตามบริบท และเงื่อนไข “การมี หรือหาให้มีทรัพยากร” ที่จะใช้จัดการโซ่ปัญหาแต่ละเปลาะ

การที่โซ่ปัญหาทุกเปลาะเชื่อมโยงกัน และ ต้องคิดหาทางไขแต่ละเปลาะนี่เอง… ที่ทำให้ “หลักการคิด” มีความหลากหลายอย่างน่าสนใจจนเกิดทฤษฎีการคิดและวิธีคิดมากมาย… ซึ่งการคิดเป็น และ ฉลาดคิดนี่เองที่แบ่งแยกความสำเร็จของคนที่วัดได้จาก “คุณภาพและปริมาณของเปลาะปัญหา” ที่คนเราทำได้ไม่เท่ากัน… หรือจะอธิบายว่า คนเราคิดได้ไม่เท่ากันก็ไม่ผิด

องค์ความรู้เรื่องการคิดจึงได้รับความสนใจมาตั้งแต่ยุคโบราณ รวมทั้งการพัฒนา “ทรัพยากรเพื่อการคิด” ซึ่งก็คือการเพิ่มพูนความรู้และทักษะประกอบสติปัญญานั่นเอง… แต่การคิดประกอบทักษะและความรู้ อันเป็นวิธีการใช้ความรู้ก็สำคัญและสำคัญมาก… เพราะเนื้อแท้ของการดำรงค์อยู่อย่างสร้างสรรค์ของคนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง… ต้องสะสางรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับตัวเองหลายมิติ แม้หลายอย่างจะไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่ทุกอย่างที่ต้องคิดนิดคิดหน่อยไปจนถึงขั้นต้องหาคนมาช่วยคิด… ล้วนเรียกว่าปัญหาได้ทั้งสิ้น!!!

ประเด็นที่สำคัญก็คือ… ทักษะการคิด หรือ วิธีคิดกับปัญหาแต่ละประเด็นก่อนที่ปัญหานั้นๆ จะถูกจัดการ… จะเป็นเครื่องยืนยัน “คุณภาพและปริมาณของเปลาะปัญหาที่ถูกจัดการ” อันทำให้คนเราเลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมอย่างสิ้นเชิงในท้ายที่สุด…

แต่ข้อเท็จจริงก็คือว่า… ปัญหาไม่ได้มีน้อยๆ เลยสำหรับแต่ละคน ยิ่งถ้าเป็นคนที่ต้องจัดการปัญหาใหญ่ๆ แบบที่ต้องใช้คนช่วยเยอะๆ ก็จะมีความซับซ้อนของปัญหาถึงขั้นที่ไม่เคยรู้ว่ามีปัญหาอยู่ก็มากมาย… เหมือนกรณีปัญหาใต้พรมที่คนใหญ่คนโตและผู้นำทั้งหลายโดนน๊อคมานักต่อนักนั่นเอง

เมื่อเรารู้ดีแล้วว่า… ปัญหารอจัดการไม่เคยมีน้อยสำหรับใคร วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหาจึงต้องเลือกวิธี สะสางแต่ละปัญหา “เฉพาะเท่าที่จะเพิ่มคุณภาพและปริมาณของเปลาะปัญหาให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักเป็นสำคัญ” โดยคำแนะนำทั่วไปในการจัดการปัญหา หรือ การคิดจัดการปัญหาที่ถ่ายทอดบอกต่อกันมาว่าให้ผลลัพธ์ตอบวัตถุประสงค์ได้ดี ก็มีหลายเทคนิค… ซึ่งขออนุญาตพูดถึงเฉพาะเทคนิคที่ผมคุ้นเคย 3 แบบก่อนคือ Creative Thinking หรือ การคิดสร้างสรรค์… Reversal Thinking หรือ การคิดสวนทาง… หรือ Lateral Thinking หรือ การคิดนอกกรอบ

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยสนใจเทคนิคการคิดหรอกว่า… อันไหนต้อง Creative Thinking อันไหนต้อง Revers หรือ อันไหนต้อง Lateral… แค่มีโจทย์มา ปัญหาถูกแก้ จากเปลาะหนึ่งไปอีกเปลาะหนึ่ง… ซึ่งหลายกรณีบอกไม่ได้ว่า ที่สำเร็จเสร็จจบไปเมื่อสักครู่ มัน Creative มา หรือคิดพิศดารแบบไหนมากันแน่… 

ตัว Creative Thinking มักจะมีคนนิยามว่า… เป็นการคิดเพื่อทำอะไรเพิ่มขึ้นใหม่และต้องดีกว่าเดิม มักจะเป็นขั้นเป็นตอน มีกระบวนการและตรรกะผลักดันการแก้ไขจัดการปัญหา รวมทั้งประเด็นในห่วงโซ่ที่เกี่ยวพันกันให้ลุล่วง… ก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิมเป็นส่วนใหญ่

ส่วน Reversal Thinking ในทางเทคนิค… ก็จะเป็นการคิดแบบเอาผลลัพธ์หรือเป้าหมายสุดท้ายมาตั้ง แล้วหาทางไปเหมือนเล่นลากเส้นเขาวงกตย้อนทางจากทางออกกลับมาทางเข้า

ในขณะที่ Lateral Thinking ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยามว่าเป็นการคิดนอกกรอบ หรือ คิดอ้อม คิดลัด หรือ คิดโดยไม่คำนึงเรื่องตรรกะหรือเส้นทาง… ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการคิดแบบใช้ผลลัพธ์เป็นฐาน หรือ Result Based เหมือน Reversal Thinking… แต่จะแตกต่างที่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายปลายทางจะถูกตั้งคำถามก่อน

ตัวอย่างกรณีความจำเป็นต้องใช้รถและอยากมีรถ… ซึ่ง Creative Thinking อาจจะลองเช่ารถผ่านแอพแชร์รถเช่าใช้เฉพาะวันที่ต้องเดินทาง… ในขณะที่ Reversal Thinking จะมีแต่ภาพรถในหัว จะป้ายแดงหรือมือสองก็ได้ทั้งนั้น แล้วย้อนมาดูว่าหาตังค์พอซื้อสดหรือวางดาวน์ ป้ายแดงหรือมือสอง แล้วก็ลุยตามแผน… ส่วน Lateral Thinking ก็จะขายบ้านในซอย ไปดาวน์คอนโดติดสถานีรถไฟฟ้า หรือเอาใกล้ที่ทำงานแบบเดินถึงไม่พึ่งรถ เพราะได้ตั้งคำถามได้คำตอบไปก่อนแล้วว่าจะซื้อรถมาใช้ทำอะไรกันแน่…

สุดท้าย… อยากฝากถึงท่านที่อยากได้ไอเดีย หรือ อยากได้ชุดความคิดที่สร้างสรรค์ไปใช้จัดการหรือดำเนินการเรื่องอะไรก็แล้วแต่… สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องคิดให้ออก หรือ คิดได้แต่เรื่องเจ๋งๆ หรอกครับ… แต่เป็นเรื่องคิดได้ต้องกล้าลอง กล้าพลาด และ กล้าลองใหม่… แค่นั้นเอง 

ข้อเท็จจริงโดยประสบการณ์ส่วนตัวก็มักจะเจอว่า… คนส่วนใหญ่คิดสร้างสรรค์สารพัดแบบเป็นหมด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่กล้า หรือ ได้ทำตามที่คิด… ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีเพียงคนที่ได้ทำตามที่คิดจนพลาดมาแล้วมากมายและพยายามมากมายมายเท่านั้น ที่สามารถ “สะสมคุณภาพและปริมาณของเปลาะปัญหาที่ถูกจัดการไปแล้ว”

ผมเชื่อแบบนี้ครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts