เอกสารเผยแพร่จาก สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย “ร่าง” มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน 2 ฉบับ ที่นักบัญชีต้องรวบรวมนำส่งพร้อมรายการบัญชี ประกอบด้วย… ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 1 เรื่อง ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน… และ ร่างมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยด้านความยั่งยืน ฉบับที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ออกรายงานความยั่งยืนประจำปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปีบัญชีล่าสุดที่ปิดไปเรียบร้อยแล้ว… ซึ่งข้อมูลในรายงายของตลาดหลักทรัพย์ปีหลังๆ จะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลคุณภาพแทบจะทุกมิติของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยดูแลอยู่…
ส่วนรายงานจาก KPMG International เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา… ก็ได้เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนภายใต้เอกสารที่ชื่อว่า Survey Of Sustainability Reporting 2022: Big Shifts, Small Steps ซึ่งให้ข้อมูลโดยภาพรวมว่า… ในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลย้อนหลังของ 10 ปีก่อน… บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่งจากแต่ละประเทศที่ทำการสำรวจ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนราว 64% ส่วนข้อมูลในปีปัจจุบัน 2022 พบว่าบริษัทในกลุ่มดังกล่าว หรือ กลุ่ม N100 ซึ่งประกอบด้วยกิจการขนาดใหญ่ 5,800 บริษัท จาก 58 ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพิ่มขึ้นเป็น 79%
ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจในกลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500 หรือ กลุ่ม G250 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ อยุ่ในอัตราสูงถึง 96% ในปีปัจจุบัน…
ส่วนที่น่าภาคภูมิก็คือ… ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ ที่มีอัตราการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนสูงกว่า 90% โดยเพิ่มจาก 84% ในปี 2020 มาอยู่ที่ 97% ในปี 2022 และ เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนในรายงานประจำปีด้วยอัตรา 86% ในปี 2022
วันนี้เอาข้อมูลภาพรวมที่เกิดขึ้นจริงในกระแสความยั่งยืน อันเป็นกระแสหลักระดับโลกที่ชัดเจนมากว่า… ความยั่งยืนจะกลายเป็นข้อมูลหลักใกล้เคียง หรือ เทียบเท่าข้อมูลทางการเงิน ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ตัดสินใจเพื่อการลงทุน โดยธุรกิจที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ถูกต้อง และ ครบถ้วน ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และ ดึงดูดให้ผู้ลงทุนเกิดความสนใจ โดยการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจ จะแสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจ และ การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในแนวทาง ESG หรือ Environmental Social Governance เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาลงทุน สอดคล้องกับรายงานของ KPMG International เรื่อง Impact of ESG Disclosure ที่อธิบายว่า… ผู้ลงทุนชั้นนำระดับโลกอย่าง BlackRock และ Vanguard นิยมใช้ข้อมูล ESG มาวิเคราะห์สุขภาพของบริษัทในระยะยาว เช่น ข้อมูลการใช้พลังงานที่สะท้อนต้นทุน และความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานของธุรกิจ อีกทั้งมีการนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขการออกผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น กองทุน และ ETFs โดยเชื่อว่าธุรกิจที่คำนึงถึงหลักการ ESG จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน และ สามารถสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมในภาพรวม
References…