ปัญหาการบุกรุกป่า และ ทำลายระบบนิเวศเดิมที่เคยมีมาก่อนพวกเรานั้น พื้นที่ๆ ถูกบุกรุกทั่วโลกล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการด้านกสิกรรมทั้งในระดับครอบครัว และ ในระดับอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่… และกิจการด้านกสิกรรมทั้งหมดก็เพื่อผลิตและพัฒนาอาหารให้มนุษยชาติ ซึ่งความมั่นคงด้านอาหารก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกยังคงหาอาหารเลี้ยงปากท้องและครอบครัวได้น้อยกว่าความจำเป็นพื้นฐานที่ควรจะได้กินอาหารอย่างเพียงพอ
นั่นแปลว่า… ถ้าอยากผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความหิวโหยอดอยากในส่วนที่ขาดอยู่นั้น มนุษย์โลกอาจจะต้องบุกรุกผืนป่า และ ใช้หน้าดินอีกมากเพื่อปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจนว่า… คงยากที่จะพอ!!!
แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน หรือ Sustainable Agriculture จึงเป็นทางออกเดียวที่ Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ผลักดันจนกลายเป็นวาระโลกที่ทุกประเทศเห็นพ้องในหลักการและเหตุผล
Sustainable Agriculture คือการทำการเกษตรโดยใช้หลักการของระบบนิเวศที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกัน… คำว่า Sustainable Agriculture เป็นคำที่ตั้งใช้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Gordon McClymont ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร หรือ Agricultural Scientist ประจำ University of Sydney ซึ่งท่านมีผลงานด้านการเกษตร และ เศรษฐศาสตร์ชนบทผู้มีผลงานมากมาย และ ให้กำเนิดคำว่า Sustainable Agriculture โดยท่านได้ขยายความว่า… เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบบูรณาการแนวปฏิบัติในการปลูกพืช และ เลี้ยงสัตว์ที่มีการประยุกต์ใช้เฉพาะที่ โดยเจาะจงมุ่งมั่นที่จะให้มีความยืนยาวของวงจรการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ทั้งเพื่อ
- สนองความต้องการอาหาร และ เส้นใยของมนุษย์
- เพิ่มคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรธรรมชาติที่เศรษฐกิจการเกษตรพึ่งพาอาศัยอยู่
- ใช้ทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียนและทรัพยากรในฟาร์มให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และ บูรณาการวัฏจักร และหรือ ควบคุมด้านชีววิทยาทางธรรมชาติตามความเหมาะสม
- รักษาศักยภาพทางเศรษฐกิจของการดำเนินงานในฟาร์มให้ยั่งยืน
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และ สังคมโดยรวม
Sustainable Agriculture จึงเป็นวิธีการทำเกษตรกรรมด้วยแนวทางที่เข้ากันได้กับระบบนิเวศ ซึ่งจำเป็นต้องยึดแนวปฏิบัติที่ไม่สร้างผลกระทบในระยะยาวกับหน้าดิน เนื้อดิน และ ชั้นดินที่ทำการเกษตร โดยมีการจัดการน้ำอย่างสมดุลย์ทั้งการจ่ายน้ำ ใช้น้ำ และ ระบายน้ำที่เหมาะสมกับกิจกรรมการผลิต ซึ่งต้องไม่ขาดแคลนจนประสิทธิภาพของผลผลิตไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และ ไม่เกินหรือท่วมขังเน่าเสีย และ ทำลายโครงสร้างพื้นดินซึ่งมักจะกระทบระบบนิเวศโดยรวมในที่สุด
นอกจากนั้น… ปัจจัยสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากดินและน้ำ… การเกษตรในแนวทาง Sustainable Agriculture ยังมีเรื่องอากาศ แสงแดด และ สารอาหารและแร่ธาตุในดิน โดยเฉพาะ Phosphate หรือ ฟอสเฟต รวมทั้งพลังงานที่ใช้ในการทำการเกษตรด้วย
Sustainable Agriculture ในทางเทคนิคมีรายละเอียดเฉพาะพื้นที่ และ เป้าหมายผลผลิตซึ่งบทความนี้ขอข้ามรายละเอียดทางเทคนิคไปทั้งหมด… โดยในเบื้องต้นนี้ให้เข้าใจเอาไว้แต่เพียงว่า Sustainable Agriculture จะโฟกัสเกี่ยวกับ “ผลกระทบ” ที่เกิดกับดิน–น้ำ–อากาศ–แร่ธาตุ–แสงแดด–พลังงานและผู้คน… ครับ!
References…