การพูดถึงชุมชนยั่งยืนหลังวิกฤตโควิดที่ทั่วโลกมีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน เมื่อต้องเผชิญวิกฤตโดยต้องพึ่งพาตนเองให้มาก และ พึ่งพิงกันเองกับเพื่อนบ้านในชุมชน โดยมีนวัตกรรม “ตู้ปันสุข” ของประเทศไทยได้กลายเป็นกรณีศึกษาของแนวคิดการสร้างชุมชนที่พึ่งพิงกันได้… โดยมีเป้าหมายที่จะปรับโครงสร้างของเมือง หรือ ชุมชนให้สมดุลยั่งยืนทั้งด้านสภาพแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและสังคม… ซึ่งถูกขับเคลื่อนผ่านแนวคิดต่างๆ มากมาย เช่น Ecovillage… EcoCommunities… Off-Grid Community… Green Cities… Livable Cities… Sustainable Cities และ Sustainable Community… และอื่นๆ อีกมากที่มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีกว่าเดิมทุกด้าน ภายใต้การแบ่งปันปัจจัยพื้นฐานโดยเกิดความเหลื่อมล้ำไม่มากจนกลายเป็นปัญหา… ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาด “ความร่วมมือ” จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นก็คือ… กรอบการผลักดันแนวคิดชุมชนยั่งยืนต้องการ “ความร่วมมือระดับชาติ” อันหมายถึง… หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานบริการประชาชนในเมือง และ ชุมชนเป้าหมายจำเป็นจะต้อง “ร่วมมือกัน” ริเริ่มโครงการยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง และหรือ ชุมชนให้ดีกว่าเดิม… โดยหลายข้อเสนอจากนานาชาติแนะนำให้กิจการด้านขนส่งสาธารณะ กับ กิจการด้านเคหะชุมชน และ กิจการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งของรัฐ และ เอกชน รวมทั้ง NGOs… ร่วมมือกันวางรากฐานความมั่นคงด้านอาหาร และ ที่อยู่อาศัย… โดยเฉพาะน้ำสะอาด อากาศดี อาหารมีพอ และ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริงในระยะยาว… แม้ไม่มีความช่วยเหลือภายนอก และ วิกฤต หรือ ความเปลี่ยนแปลงที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยมีข้อเสนอแนะจาก ISC หรือ Institute for Sustainable Communities ผ่าน “หลักชุมชนน่าอยู่ 6 ประการ หรือ 6 Principles Of Livability ที่ประกอบไปด้วย
- Provide More Transportation Choices หรือ เพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้มาก
- Promote Equitable, Affordable Housing หรือ ส่งเสริมที่อยู่อาศัยที่เป็นธรรมและราคาไม่แพง
- Enhance Economic Competitiveness หรือ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
- Support Existing Communities หรือ สนับสนุนชุมชนดั้งเดิม
- Coordinate Policies And Leverage Investment หรือ ประสานนโยบาย และ ยกระดับการลงทุน
- Value Communities And Neighborhoods หรือ ส่งเสริมคุณค่าของชุมชน และ ละแวกใกล้เคียง
ข้อมูลจากบทความที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เกี่ยวกับชุมชนยั่งยืนมองว่า… บริบทของของชุมชนยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง หรือ Self-Sustained Community จะหมายถึง ชุมชนในความหมายแคบที่เจาะจงถึง “กลุ่มคนที่ใช้ชีวิต และ ทำงานร่วมกันอย่างมีระบบภายในพื้นที่เดียวกัน หรือ Area Based Community” เช่น กลุ่มคนจากเพื่อนบ้านหลายครอบครัว หรือ คนหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนคนไม่น้อยเกินไปจนไม่สามารถพึ่งพากันและกันได้ แต่ก็ไม่มากเกินไปจนไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันได้… โดยจะเป็นชุมชนที่มีความสามารถในการพึ่งตนเองในการผลิตปัจจัยอยู่รอด เช่น อาหาร น้ำ และ พลังงานอย่างเพียงพอในภาวะวิกฤต ทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน้อย 6 เดือน… ซึ่งถ้าเกิดวิกฤตเกินการควบคุมขึ้นจนผู้คนตื่นตระหนก มีการกักตุนสินค้าจนเกิดการขาดแคลน และ ความช่วยเหลือจากภาครัฐยังไม่สามารถขับเคลื่อนดูแลอะไรได้ ทำให้การช่วยเหลือยังไม่เป็นระบบและไม่ทั่วถึง… ชุมชนแบบนี้ในภาวะปกติจะติดต่อค้าขาย และ เชื่อมโยงกับชุมชนอื่นหรือโลกภายนอกเพื่อสะสมความมั่งคั่ง และ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสอดไปกับโลกภายนอก… แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นก็สามารถดำเนินนโยบายสับเปลี่ยน หรือ Switching Policy เพื่อปรับสู่การพึ่งตนเองตามแผนที่ถูกเตรียมความพร้อมเอาไว้
นั่นแปลว่า… ชุมชนยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนยั่งยืนที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องได้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไป… จำเป็นต้องออกแบบ และ เตรียมพร้อมล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ
References…