ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในกลุ่มประเทศยากจนและพัฒนาล่าช้า อันเนื่องมาจากทรัพยากรมนุษย์ในประเทศยากจน บวกกับความขาดแคลนทรัพยากรสำคัญ ซึ่งต่างก็เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาแม้เพียงให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อจะได้เข้าถึงองค์ความรู้มากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้าถึงชุดความรู้และทักษะใหม่ๆ ควรต้องอ่านออกก่อนเป็นอย่างน้อย
องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Educational Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่เคลื่อนไหวในระดับนานาชาติเพื่อหาทางให้เด็ก และ ประชากรในพื้นที่ด้อยโอกาสทั่วโลก ได้เข้าถึงองค์ความรู้และการศึกษาอย่างแท้จริง… ซึ่งมักจะได้เห็นเป็นโครงการมากมายที่ถูกบอกเล่าและเผยแพร่สู่สาธารณะ
ล่าสุด… UNESCO ได้ผลักดันแผนส่งเสริมการศึกษาชื่อ Education for Sustainable Development หรือ ESD หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะแผนงานเป้าหมายที่ 4 หรือ SDG4 ซึ่งกำหนดเป้าหมายย่อยโดยบูรณาการความยั่งยืนให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning ไว้มากถึง 10 เป้าหมายย่อย ครอบคลุมถึงปี 2030 ทั้ง Formal Education หรือ การศึกษาในระบบ และ Informal Education หรือ การศึกษาตามอัธยาศัย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ESD มีเป้าหมายไกลกว่าเพียงการอ่านออกเขียนได้ เพราะจะเน้นการเรียนรู้เพื่อเสริมพลังของเด็กๆ และ ผู้เรียนให้สามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูล… มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เป็นความรับผิดชอบต่อความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และ ความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์วรรณะ
ในทางเทคนิค… แนวคิดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life Long Learning โดยปริยาย… ซึ่งการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในกรอบ SDG4 จะมีรายละเอียดที่เป็นส่วนสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ ผูกพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้เรียนทุกคนในทุกบริบทและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับท้องถิ่น และ ในระดับโลกที่ทรัพยากรมนุษย์ของโลก จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนเปลี่ยนแปลงหลายรูปแบบตลอดเวลาอย่างในปัจจุบัน
Education for Sustainable Development หรือ ESD หรือ การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการศึกษาแบบบูรณาการมุ่งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีทั้งที่เป็น Contents หรือ เนื้อหาสาระการเรียนรู้ และ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ หรือ Learning Achievement… ตลอดจนวิธีการเรียนการสอน และ สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อันเป็นเป้าหมายสูงสุดหนึ่งเดียวอย่างเท่าเทียมคือ… การเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ยั่งยืน
รายละเอียดในกรอบ SDG4 ยังมีแง่มุมให้พูดถึงได้อีกมาก เพราะเป็นกรอบและเป้าหมายระดับนานาชาติ ซึ่งโดยรายละเอียดก็มีความลักลั่นและเหลื่อมล้ำทั้งในกลุ่มประเทศยากจน และ แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนามากมายหลายมิติ… โดยเฉพาะประเด็นการวิเคราะห์ความล้มเหลวของแนวทางการจัดการศึกษาที่มีใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน แต่ใช้เหมือนกันกลับได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแตกต่างกัน โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งเป้ายกระดับภาพรวมเชิงสังคม อันเป็นเป้าหมายระดับความยั่งยืนอย่างแท้จริง ที่ยังคงเป็นเพียง “ความหวัง” แม้วิเคราะห์ผ่านบริบทของชาติร่ำรวยและประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความพยายามในการปฏิรูป และ เปลี่ยนแปลงสาระของกลไกทางการศึกษาในทุกวัตถุประสงค์ กับ ทุกๆ เป้าหมาย และ วิสัยทัศน์เชิงปฏิรูปการศึกษาทั้งหมด… ถ้าเป้าหมายสุดท้ายไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทรัพยากรบุคคล “ได้ดีพอ” จนถึงขั้นบุคคลสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีสู่สังคมของตนได้ในทุกมิติ… ก็คงเสียเวลาพยายามอยู่ดี
References…