Sustainable Development Goals 4… กรอบการพัฒนาความยั่งยืนด้านการศึกษา #ReDucation

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs หรือ Sustainable Development Goals อันเป็นโครงการระดับโลก 17 เป้าหมายของสมัชชาสหประชาชาติที่ริเริ่มขึ้นในปี 2015 โดยมุ่งบรรลุทุกเป้าหมายภายในปี 2030 ซึ่งประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทุกประเทศต่างก็เห็นพ้องต้องกันในทุกเป้าหมาย และ รายละเอียด… กล่าวเฉพาะเป้าหมายที่ 4 หรือ Goal 4 ที่ว่าด้วย Quality Education อันเป็นสาระสำคัญเพื่อผลักดันกลไกคุณภาพทางการศึกษาเข้าสู่แนวทางยั่งยืน… ซึ่งท้าทายระบบนิเวศทางการศึกษาบนความเหลื่อมล้ำอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก

สาระสำคัญในเป้าหมายที่ 4 ซึ่งวางกรอบในการสร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และยังสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Ensure Inclusive And Equitable Quality Education And Promote Lifelong Learning Opportunities For All… ครอบคลุมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กชายและเด็กหญิงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย… ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา… การเข้าถึงการศึกษาระดับเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่จ่ายได้ และ มีคุณภาพสำหรับชายและหญิงทุกคน… ในภาพรวมเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้… เน้นให้ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษา และ การเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการ ชนพื้นเมือง และ กลุ่มเปราะบาง

นอกจากนั้น… เป้าหมายนี้ยังส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการ… และเน้นให้ทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในเชิงนโยบาย… เป้าหมายนี้จะเน้นให้มีการยกระดับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และผู้มีเพศสภาวะหลากหลาย และสร้างสภาพแวดล้อมให้ปราศจากความรุนแรงต่อกลุ่มเหล่านี้ ขยายโอกาสด้านทุนการศึกษาและการฝึกอบรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รงมทั้งการเพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ… โดยมีรายการอ้างอิงตามตารางเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายที่ 4 ดังนี้คือ…

4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม และ ไม่มีค่าใช้จ่ายนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผลภายในปี 2030

4.2 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2030 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา

4.3 ให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาวิชาเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีราคาที่สามารถจ่ายได้และมีคุณภาพ ภายในปี 2030

4.4 เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นรวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดีและการเป็นผู้ประกอบการภายในปี 2030

4.5 ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาและสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็กเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2030

4.6 สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ในสัดส่วนสูงทั้งชายและหญิงสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ภายในปี 2030

4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลกและความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนะธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030

4.a สร้างและยกระดับอุปกรณ์และเครื่องมือทางการศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการและเพศภาวะ และให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัยปราศจากความรุนแรงครอบคลุมและ มีประสิทธิผลสำหรับทุกคน

4.b ขยายจำนวนทุนการศึกษาในทั่วโลกที่ให้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศในแอฟริกาในการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอาชีพและโปรแกรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านเทคนิค วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆภายในปี 2563

4.c เพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพรวมถึงการดำเนินการผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการฝึกอบรมครูในประเทศกำลังพัฒนาเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในปี 2030

ความจริงมีรายละเอียดในแต่ละเป้าหมายในระดับ Metadata ที่ใช้อธิบายตัวชี้วัดโดยละเอียด รวมทั้ง KPI สำหรับแต่ละเป้าประสงค์… ซึ่งขออนุญาตที่จะไม่ Copy/Paste ข้อมูลทั้งหมดมาไว้ตรงนี้ที่ต้องการสรุปรายละเอียดมาเล่าแบ่งปันมากกว่า… ส่วนท่านที่เคลื่อนไหวเรื่อง SDGs ทุกเป้าหมายก็คงมีคู่มือฉบับเต็มใช้กันอยู่แล้ว

ประเด็นก็คือ… สาระในเป้าหมายความยั่งยืนที่ 4 ตั้งแต่ 4.1 ลงมาทั้งหมดจนถึง 4.c ล้วนเป็น “เป้าหมายธรรมดาที่ทำให้สำเร็จได้ยากไม่ธรรมดา” แทบจะทุกรายการ ท่านที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางการศึกษาที่คิดจะ Copy/Paste กรอบความยั่งยืนไปใช้ หรือ แม้แต่นำไปอ้างอิง… จึงควรอย่างมากที่จะทำความเข้าใจภาพรวมของเป้าหมายให้ชัดก่อนจะลอกการบ้านโดยไม่สนใจที่มาที่ไปของโจทย์และคำตอบ… ซึ่งเริ่มได้เห็นกรอบนโยบายแบบลอกกันดิบๆ โดยไม่มีแผนและกลยุทธ์เติมต่อให้เห็นมากมายในประเทศไทยบ้างแล้ว

เอาเป็นว่า… ในเบื้องนี้อยากให้ท่านที่สนใจแนวทาง “คุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป้าหมายที่ 4 หรือ SDGs Goal 4” ได้โปรดอ้างถึงความยั่งยืนอย่างเข้าใจ… และถ้าสนใจต้นแบบการศึกษาวิจัยเพื่อนำกรอบ SDGs Goal 4 ไปใช้ ผมแนะนำให้เริ่มต้นที่ sdgmove.com ซึ่งดำเนินงานโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ซึ่งอาจารย์เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Move… และ เป็นหนึ่งในไม่กี่คนในเมืองไทยที่เชื่อได้ว่าเข้าใจ SDGs Goal 4 มากที่สุดท่านหนึ่ง… ถ้ามีโอกาสอาจจะได้เอางานของอาจารย์มาเล่าบ้างในอนาคต

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *