Tame Fears and Worries… เอาชนะกลัวและวิตกกังวล #SelfInsight

ความกลัวถือเป็น 1 ใน 4 ของ “เงื่อนไขความรู้สึก” ที่คนเราใช้ตัดสินใจทั้งที่เข้าใจตรรกะ กับ เหตุผลที่ตัดสินใจไปแบบนั้น รวมทั้งที่ตัดสินใจโดยสัญชาตญาณ ซึ่ง 4 เงื่อนไขดังว่าประกอบไปด้วย “รัก–โลภ–โกรธ–กลัว” ที่เกิดขึ้นกับความคิดจิตใจของเราทุกคนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง… และวนเวียนเกิดขึ้นภายใต้บริบทที่สอดรับกันของเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ถึงกันด้วย

ประเด็นก็คือ… ความกลัว หรือ Fears เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับความวิตกกังวล หรือ Worries อย่างยากที่จะแยกกันออก แต่ทั้งความกลัว และ ความวิตกกังวลก็เหมือนธรรมชาติพื้นฐานทั่วไปที่มีทั้งด้านดี และ ด้านไม่ดีเป็นอนาคตรอเราอยู่… ซึ่งอาจดีได้ถึงขั้นให้โอกาสที่หาได้ยาก และ ทำลายอนาคตจนหมดหนทาง ณ ช่วงเวลาที่ตัดสินใจด้วยความวิตกหวั่นกลัวได้เท่าๆ กัน

กรณีความกลัวที่จะไม่ปลอดภัยและหางทางให้ปลอดภัยที่สุด จะถือว่าเป็นความกลัวที่มอบโอกาสด้านดีให้การตัดสินใจหาโซลูชั่นเพื่อให้ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงที่คาดถึงอย่างครอบคลุม… ในขณะที่ความกลัวที่จะสูญเสียเงินก้อนหนึ่งจึงไม่กล้าลงทุนในวันที่มีโอกาส แต่ต่อมาก็ได้แต่พูดว่า “รู้งี้……” ก็ถือว่าเป็นกรณีความกลัวที่บดบังโอกาสอย่างน่าเจ็บช้ำได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าสังเกตุคือ… ความกลัว และหรือ ความวิตกกังวลที่คนส่วนใหญ่กลัว ดูเหมือนจะเป็นความกลัว และหรือ ความวิตกกังวลที่ทำให้การตัดสินใจของตัวเองผิดพลาดมากกว่า โดยเฉพาะความผิดพลาดอันน่าเสียดายที่ตามมาหลังจากใช้ความกลัว และหรือ ความวิตกกังวลตัดสินใจอะไรไป

คำถามคือ… เราจะตัดสินใจท่ามกลางความกลัว และหรือ ความวิตกกังวลให้ไม่พลาดโอกาสได้อย่างไร?

คำแนะนำมากมายชี้ไปที่… จงตัดสินใจด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ หรือ Mindfulness ซึ่งในทางเทคนิคจะต้องการสภาพแวดล้อมเพื่อให้กายใจสามารถครองสติสัมปชัญญะได้อย่างดี และ ยังอาจจะต้องใช้ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” ประกอบการตัดสินใจภายใต้ภาวะกลัว และหรือ วิตกกังวลให้มาก… ซึ่งทั้งหมดยังอาจจะต้องใช้ “ประสบการณ์” บางอย่าง หรือ หลายอย่างประกอบการตัดสินใจครั้งนั้นๆ ด้วย

ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… คนส่วนใหญ่มีข้อมูล และ ประสบการณ์มากพอสำหรับความกลัว และหรือ ความวิตกกังวลที่ใกล้ตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าการตกอยู่ในสภาพ “ข้อมูลน้อย และ ประสบการณ์ต่ำ” มักจะเป็นสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พอสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดมากกว่า ซึ่งการจะพัฒนาสติ หรือ ขัดเกลาสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ก็มักจะมีทางเลือกไม่มาก และ ทางเลือกที่ถูกแนะนำอย่างกว้างขวางในปัจจุบันก็ยังคงเป็น “การเจริญสติ” ซึ่งปรัชญาพุทธศาสตร์ชี้ทางเอาไว้มานานกว่าสองพันห้าร้อยปี

วิธีและเทคนิคการเจริญสติแบบต่างๆ ไม่คุยครับ… เพราะผมถือว่าพวกเราโตกันมาท่ามกลางสังคมชาวพุทธที่พูดเรื่อง “การเจริญสติ” จนคนส่วนใหญ่ได้ยิน และ รู้จักอย่างดีมาก… ถึงแม้จะไม่ใช่ชาวพุทธก็ตาม

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *