ผู้นำแบบ Task Oriented หรือ Production Oriented หรือ ผู้นำมุ่งเน้นภาระงาน ซึ่งเป็นสไตล์การบริหารจัดการของหัวหน้าหรือเจ้านายแบบสนใจผลงานและเนื้องานเป็นหลัก ผู้นำสไตล์นี้จึงเน้นความสำเร็จ แผน และ กระบวนการการทำงาน โดยจะดูแลทีมและพนักงานภายใต้การนำอย่างมืออาชีพ มีแบบแผนและระยะห่างระหว่างเรื่องส่วนตัวของผู้นำ กับ เรื่องส่วนตัวของลูกทีมแต่ละคนอย่างชัดเจน ภายใต้ความสัมพันธ์แบบหัวหน้า–ลูกน้อง
ผู้นำสไตล์ Task Oriented มักจะออกแบบกระบวนการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน เข้มงวดเรื่องเวลา และมีการมอบหมายงานและให้รางวัลตอบแทนอ้างอิงกระบวนการที่ออกแบบไว้… Task Oriented Leader จึงเป็นผู้นำที่มาพร้อมภาพ “ควบคุมดูแล” ค่อนข้างเข้มข้นกับ “ผลงานและเนื้องาน” จากทีมภายใต้การนำ ซึ่งลูกทีมเองจะค่อนข้างสบายกับภาระงาน หรือ Task ที่มาจากการมอบหมายสั่งงานของหัวหน้าสไตล์นี้… เพราะงานจะมาพร้อมโซลูชั่นเพื่อไม่ให้ผิดพลาดล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นงานยากๆ ก็อาจจะมาพร้อมการโค้ชแบบ “ถูกจับมือทำ” จนงานชิ้นนั้นออกมาได้เป็นที่พอใจของลูกพี่ทีเดียว
ข้อเท็จจริงก็คือ… ภาระงานในทุกองค์กรและกิจการจำเป็นต้องมีกระบวนการเพื่อเค้นเอา “ผลงานและเนื้องาน” จากทรัพยากรในองค์กรให้ได้มากที่สุดไม่ต่างกัน ซึ่งก็แน่นอนว่า… ทรัพยากรหลักอย่างบุคลากรย่อมเป็นส่วนสำคัญในผลผลิตทั้งหมด… ไม่ว่าผู้นำจะควบคุมและกำกับดูแลทรัพยากรบุคคลภายใต้การนำอย่างไร หรือ สไตล์ไหน
ประเด็นก็คือ… กรณีของวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ซึ่งมักจะเป็นองค์กรธุรกิจที่มาพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ และภาพของผู้นำหรือแม้แต่หัวหน้างานในกิจการแบบ Startup มักจะไม่มีภาพ “ควบคุมดูแล” แม้จะยังเข้มข้นกับ “ผลงานและเนื้องาน” จากทีมภายใต้การนำไม่ต่างกัน… มิหนำซ้ำ ภาพของผู้นำหรือหัวหน้างานในกิจการแบบ Startup ยังเป็นภาพอบอุ่นและใส่ใจทีมงานแบบ People Oriented หรือ Employee Centric เสียอีก
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า… การติดตามงานในกิจการสมัยใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามากำกับดูแลนั้น ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการการปลดปล่อยภาระของผู้นำและหัวหน้างานออกจากหน้าที่ “ควบคุมดูแล และ กำกับรายละเอียดในการทำงาน” และนำเทคโนโลยีเข้ามา “ควบคุมดูแล” เรื่องเวลาหรือแม้แต่การตรวจรับส่งมอบงานในหน้าที่ของทุกคนแทน… ซึ่งผู้นำและหัวหน้างานจะถูกลดบทบาทลงให้เป็นเพียง “ผู้สนับสนุน หรือ พี่เลี้ยง” ในภาระงานที่ออกแบบดำเนินการผ่านระบบให้ได้มากที่สุด… ซึ่งการขับเคลื่อนภาระงานผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน นอกจากจะไม่ได้ย่อย่อนลงแล้ว ยังเข้มข้นและกำกับดูแลผ่านเทคโนโลยีซึ่งไม่มีเหนื่อยหิวและเจ็บป่วยหรือพักผ่อนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันอีกด้วย
ผู้นำที่ไม่เหลือ “หน้าที่จุกจิก และ หน้าที่คอยจิก” เอางานจากลูกทีม เพราะภาระงานทุกขบวนการถูกขับเคลื่อนผ่าน Task Flow พร้อมเกณฑ์การประเมินขั้นละเอียดและผิดพลาดน้อยมากที่ติดตามงานทุกรายละเอียดผ่านระบบ… จึงมีเวลาไต่ถามลูกทีมอย่างอบอุ่นและใส่ใจได้สม่ำเสมอ
ท่านที่อยากเปลี่ยนความสัมพันธ์หัวหน้าลูกน้องให้อบอุ่นขึ้น จึงมีคำแนะนำเดียวให้ท่านในตอนนี้ก็คือ… Upgrade ภาระงานส่วนที่ท่านต้อง “ควบคุมดูแล และ กำกับรายละเอียดในการทำงาน” ทั้งหมดนั้น… ไปทำเป็นระบบให้ได้มากที่สุดก่อน… ต่อจากนั้นจะไม่มีอะไรยากจนต้องการคำแนะนำจากใครอีก