ในหนังสือ Teaching 2030: What We Must Do for Our Students and Our Public Schools, Now and in the Future ของ Barnett Berry ซึ่งได้กลายเป็น “หนังสือแนะนำ” สำหรับนักการศึกษาที่ยังศรัทธาในแนวทางการยกระดับบริการการศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ ซึ่ง Bernett Berry ได้บรรยายแนวทางการปฏิรูป และ พูดถึงขอบเขตการเปลี่ยนแปลงของอุตสากรรมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัลเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ และ เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยเนื้อหาในหนังสือได้โฟกัสประเด็นที่น่าสนใจมากมายเช่น…
- แนวทางและวิธีสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้แบบแปรผันและยืดหยุ่น หรือ Dynamic and Flexible Learning Environment ทั้งสำหรับผู้เรียนและผู้สอน
- พลิกโฉมบริการทางการศึกษาของรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยปรับปรุงโรงเรียนแบบอิฐกับปูน หรือ Brick and Mortar ไปเป็นฮับเพื่อการเรียนรู้ หรือ Learning Hub แบบ 24/7 สำหรับทุกคน… โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง
- คิดใหม่ทำใหม่เรื่องรายได้ค่าตอบแทนของครู ที่จำเป็นจะต้องทำให้เชื่อมั่นได้ว่า “ครู” มีเส้นทางอาชีพ และ ค่าตอบแทนในขั้นที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่มีคุณภาพ เพื่อให้เป็นกลไกที่เข้มแข็งของระบบการศึกษายุคใหม่ เพื่อให้ “ครูจะสำคัญกว่าโรงเรียน” ที่เป็นเพียงอาคารสถานที่ หรือ อุปกรณ์ส่งเสริมการศึกษาตามยุคสมัยเท่านั้น
- ริเริ่มสร้างแกนนำครูแบบ “Teacherpreneurs หรือ ครูผู้ประกอบการ” ที่เก่งทั้งงานสอน งานวิจัย และ การจัดการบริบทแวดล้อมกิจการด้านการศึกษา และหรือ บทบาทอาชีพครู กับ บทบาทหน้าที่นอกเหนือจากการเป็นครู… ซึ่งข้อเสนอของ Barnett Berry ต้องการครูพร้อมทักษะ Teacherpreneurs ในสหรัฐอเมริกามากถึง 600,000 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ความจริง ณ เวลาที่ทำต้นฉบับบทความตอนนี้… ผมเพิ่งได้หนังสือ Teaching 2030 มาไม่กี่วัน และอ่านไปได้ราว 5% โดยประมาณเท่านั้น… แต่ Keyword คำว่า Teacherpreneurs วนเวียนอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้เพราะคำๆ นี้… จนต้องขอเล่าถึงเท่าที่รู้ก่อนอื่น โดยเฉพาะนิยามชัดๆ ของคำว่า Teacherpreneurs ภายใต้การตีความส่วนตัว… ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่และหาเอกสารอ้างอิงที่เชื่อถือได้ยังไม่มาก
เวบไซต์ School of Education and Human Sciences ของ University of Kansas ได้เรียก Teacherpreneurs ว่าเป็นครูพันธุ์ใหม่ ที่จะมาเติมเต็มความเป็นครูสอนในชั้น ให้มีทักษะระดับครูใหญ่ หรือ นักบริหารการศึกษา และหรือ ศึกษานิเทศก์… ซึ่งก็คือภาพในอดีตที่เคยล้อเลียนครูคนเดียวผู้ทำหน้าที่ตั้งแต่เป็นภารโรงและครูใหญ่เพราะปัญหาขาดแคลนครู เพียงแต่ Teacherpreneurs ต้องทำหน้าที่ให้เป็นได้ทั้งภารโรง ครูใหญ่ เจ้าของโรงเรียน และ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ… อันเป็นบทบาทที่ต้องนำบริการด้านการศึกษาไปช่วยสังคมแก้ไข Pain Point ที่มีอยู่มากมายผ่านผู้เรียนและชุมชนที่ครูได้ดูแล ซึ่งงานสอนจะกลายเป็นเพียงบทบาทหนึ่งของครูระดับ Teacherpreneurs เท่านั้นเอง… โดยบทบาทและทักษะของ Teacherpreneurs ควรต้องประกอบด้วย
1. Multi-Tasking หรือ ทำหน้าที่ได้หลากหลาย หรือ หลายหลากอาชีพพร้อมกัน
ในอดีต… ครูบางส่วนที่ยังสนุกกับการเป็นครูสอนนักเรียน มักจะไม่มีโอกาสทำหน้าที่อื่นเพราะถูกกำหนดและมอบหมายให้รับผิดชอบเพียงงานสอนในชั้นให้คุ้มค่าจ้างที่สุดเท่านั้น ซึ่งแม้แต่การจะขยับขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารในโรงเรียน ส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกงานในหน้าที่ใหม่ และ ทิ้งงานสอนให้ครูท่านอื่นรับช่วงต่อ เพราะไม่สามารถทำงานสองหน้าที่ได้ดีเท่าที่ควร… ส่วนการคิดทำอาชีพที่สอง หรือ ทำงานอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสใดๆ มากกว่านั้น… ครูในอดีตจำต้องเลือกหนทางใดหนทางหนึ่ง… เพราะรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ทำมาแต่เดิม จะผูกพันครูเข้ากับชั้นเรียน และ ผู้เรียนเท่านั้น… จนครูกลายเป็นอาชีพที่มีทักษะความรู้เท่าที่ต้องทำหน้าที่ในชั้นเรียนเท่านั้นจนเกษียณเกือบทั้งหมด
การจัดการศึกษายุคใหม่ที่เอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างสมบูรณ์แบบ จะทำให้ครูถูก “ปลดปล่อย” ออกจากชั้นเรียนแบบอิฐกับปูน หรือ Brick and Mortar จนมีเวลาและโอกาสมากพอที่จะแสวงหาความสำเร็จด้านอื่นให้ตนเองได้เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้อาชีพครูเปลี่ยนจากเส้นทางอาชีพสายเดียว กลับเป็นเส้นทางอาชีพที่เต็มไปด้วยสีสันไม่ต่างจากคนทำธุรกิจ ที่โอกาสเปลี่ยนได้ตามบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
2. Shaping the Future of Education Policy หรือ มีส่วนในการปรับแต่งนโยบายทางการศึกษาในอนาคต
นโยบายการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการหลายอย่างที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคต เช่น เทคโนโลยี Open Proposal ที่เปิดโอกาสให้ใครก็สามารถทำ “ข้อเสนอแนะ หรือ Proposal” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบายทางตรง โดยไม่ผ่านผู้แทน หรือ ตัวแทน หรือ นักบริหารที่ขาดประสบการณ์ตรง ให้สามารถทำรายละเอียดขอรับการสนับสนุนการทำหน้าที่ และ ขอสนับสนุนปัจจัยพัฒนาองค์ประกอบการทำหน้าที่ของตนเองให้ดีกว่าเดิมได้โดยตรง เช่น กรณีของการศึกษาที่ครูผู้สอนเป็นผู้ได้สัมผัสกับผู้เรียนโดยตรงตลอดเวลาเป็นผู้เสนอ Proposal ได้เอง ซึ่งแต่เดิมเคยมีแต่ผู้บริหาร กับ ฝ่ายกำหนดนโยบายที่มักจะใช้ “ค่าเฉลี่ย” ในการจัดการโดยไม่สนใจรายละเอียดและบริบทเชิงพื้นที่ กับ ปัญหาทางตรงที่ครูมากมายได้แต่ต้องทำตามคำสั่ง และหรือ ว่าไปตามตัวอักษร
ในขณะที่นักการศึกษา และ ผู้ควบคุมระดับนโยบายต่างก็ทำได้เพียงดู “ค่าเฉลี่ย” ไปตามเนื้อผ้า… แล้วก็ขับเคลื่อนดูแลกันไปตามหน้าที่ ซึ่งก็ทำอะไรให้ดีกว่านั้นไม่ได้เช่นกัน… ยิ่งถ้ามีกรณีคอร์รัปชั่นปนแทรกเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจด้วยแล้ว… กลไกการศึกษาก็จะเห็นมีแต่งบประมาณที่ถมลงไป โดยไม่เห็นผลลัพธ์อะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเหมือนระบบการศึกษาในบางประเทศ ที่เห็นกล้าซื้อคอมพิวเตอร์ส่งไปให้โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือ ซื้อแท็บเล็ตให้เด็กที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตในรัศมี 100 กิโลเมตรเพราะต้องได้เท่าเทียม
3. Becoming Better Classroom Instructors หรือ เป็นผู้สอนที่ยอดเยี่ยมกว่าที่เคยเป็นมา
โลกในยุคข้อมูลข่าวสารจะทำให้ครูสามารถพัฒนาตนเองได้ดีกว่าเดิมโดยไม่ต้องไปขอดูงานให้วุ่นวาย ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่โคตรไร้สาระแบบที่ครูในอดีต ต่างก็เคยขึ้นรถทัวส์ไปดูงานสามวันสองคืน และ ได้เพียง “รูปหมู่” สองสามพันรูปเป็นผลลัพธ์เอาไว้แปะ PowerPoint ขึ้นนำเสนอตอนประเมินโรงเรียน… ซึ่งบางโรงเรียนในบางประเทศ ยกพอร์ตของอีกโรงเรียนหนึ่งที่ตรวจผ่านไปก่อนหน้า มาแก้ข้อมูล กับ เปลี่ยนรูปบนสไลด์ผังองค์กร กับ แปะรูปหมู่คณะครูหน้าป้ายโรงเรียนชื่อดังในทำนองว่าไปดูงานมาเลยน๊ะ… แค่นั้นก็ผ่านกันฉลุยหลังงานเลี้ยงตอนรับคณะกรรมการ… จบลง
แต่ครูในบริบทการศึกษายุคใหม่… โดยเฉพาะครูอาจารย์ที่รักในวิชาชีพและนักเรียนของตนจะต่างออกไป เพราะทรัพยากรทางการศึกษาหลักเหล่านี้ จะหาทางพัฒนาตนเองจนกลายเป็นผู้สอนที่ให้อะไรกับผู้เรียนได้ดียิ่งๆ ขึ้นเสมอภายใต้แนวคิดการเป็น Teacherpreneurs ที่มุ่งจัดการกลไกการเรียนรู้ในมืออย่างครูผู้มีความรู้ และ มีทักษะขั้นมากพอ หรือ เกินพอจนสร้างความสำเร็จให้กับผู้เรียนได้อย่างชัดเจน
เบื้องต้นคุยกันบทภาพรวมของคุณลักษณะ และ บทบาทครูแบบ Teacherpreneurs ซึ่งจะเป็นคุณลักษณะ และ บทบาทอาชีพครูในอนาคตอันใกล้ อันจะทำให้ภาพลักษณ์ “แม่พิมพ์ หรือ เรือจ้าง” แบบดั้งเดิมหายไปทั้งหมดในที่สุด… ซึ่งรายละเอียดยังมีอีกมาก และ ผมยังไม่อยากขยายความไปไกลกว่านี้ให้ตื่นตกใจ!
สุขสันต์วันครูล่วงหน้าครับ!
References…