Team Building

Team Building… สร้างทีมอย่างไรไม่ให้อ่อนซ้อม

คำกล่าวโบราณที่บอกว่า… มากคนก็มากความ ที่หมายถึงคนเยอะปัญหาก็เยอะอันเนื่องมาจากปัญหาที่มาจากคนหลายๆ คน ยิ่งเมื่อต้องมาอยู่รวมกันเพื่อร่วมมือร่วมแรง ผลักดันเป้าหมายเดียวกันด้วยแล้ว หลายครั้งต้องสะสางปัญหาเยอะแยะที่ติดตัวแต่ละคนมาเสียก่อน จึงจะทำให้เป้าหมายปลายทาง ถูกทำให้สำเร็จลุล่วง… ซึ่งสถานะมากคนที่มารวมกันเพื่อสะสางเป้าหมายเดียวแบบนี้ ถือเป็นสถานะปกติขององค์กรและทีมที่ต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนเป้าหมายจากหลายๆ คนพร้อมกัน

ผู้นำองค์กรหรือ Team Leader จึงต้องรู้จักและเรียนรู้การใช้เครื่องมือหลักๆ ในการจัดการภาวะมากคนมากความให้เป็น อันหมายถึงประสิทธิภาพในการผลักดันเป้าหมายของทีม จะถูกรีดออกมาได้สูงสุด จนสามารถวัดได้ชัดเจนผ่านผลลัพธ์ในการบรรลุเป้าหมาย ที่ระดับความราบรื่นที่น่าพึงพอใจ

เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทีม ให้เกิดภาวะ “มากคนแต่ไม่มากความ” ที่นิมยมใช้กันอย่างมากมานานก็คือ การสร้างทีมสัมพันธ์ หรือ Team Building ซึ่งจะทำให้คนในทีม หรือสมาชิกทีมเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระดับความสัมพันธ์ส่วนรวม จนเกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันเป้าหมายเดียวกัน ด้วยวิธีการทำงานและประสานงานแบบเดียวกัน จนเป้าหมายลุล่วงด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

ส่วนขั้นตอนและกระบวนการสร้างทีมสัมพันธ์ หรือการทำ Team Building ที่นิยมใช้กันก็จะมีเทคนิคและวิธีการหลากหลายตามวัตถุประสงค์… ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับภาระกิจและเป้าหมาย ซึ่งผู้นำหรือ Team Lead จะเป็นผู้ออกแบบ “เงื่อนไขและกลไกการทำงานร่วมกัน” เป็นแกนในการออกแบบกิจกรรมและขั้นตอนการขับเคลื่อนเป้าหมาย

โดยประสบการณ์ส่วนตัว หากต้องรับผิดชอบทำ Team Building จะเลือกใช้ตามหลักง่ายๆ อย่าง การฝึกซ้อมทำภาระกิจร่วมกัน เพื่อให้รู้จังหวะและรูปแบบการประสานงานกันโดยตรง… เหมือนจะเตรียมตัวไปแข่งฟุตบอล ก็นัดซ้อมสนามจริงกันให้ได้มากที่สุดก่อนการแข่ง… เท่านั้นเอง

ส่วนพิธีกรรมต่างๆ และหลักวิชาด้าน HRM หรือ Human Resources Management ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมขอข้ามการวิจารณ์รูปแบบแนวทางหรือหลักวิชา ที่มีการปรับใช้เพื่อทำ Team Building แบบอื่นๆ ที่มีการออกแบบกิจกรรมฝึกซ้อมและสร้างทีม หรือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันในทีม ทั้งแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และแบบที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์ จนต้องอธิบายรูปแบบหลักการที่ซับซ้อน เพื่อให้การออกแบบขั้นตอนการทำ Team Building ดูมีประเด็น… ซึ่งหลายกรณีที่ผมเคยเจออาจถึงขั้นซับซ้อนวุ่นวายเข้าขั้นไร้สาระและสิ้นเปลืองก็เยอะ… และเคยเจอหลายกรณีก็ดูราวกับซ้อมหน่วยรบพิเศษเตรียมทำสงครามโลกก็มี

โดยส่วนตัวมอง Team Building เป็นเหมือนการเตรียมทีมกีฬา ที่สมาชิกทีมจะเป็นเหมือน “ผู้เล่นตำแหน่งต่างๆ” ซึ่งกิจกรรมหลักที่ทำให้คนหลายๆ คนมารวมตัวกันเป็นทีม ก็เพื่อซักซ้อมหรือฝึกซ้อมร่วมกัน ที่สมาชิกทีมต่าง “ต้องเข้าใจ” วัตถุประสงค์ของการมาทำงานร่วมกันก่อนอื่น… นั่นแปลว่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือการประสานงาน ที่สมาชิกทีมจะต้องประสานกันให้ราบรื่นที่สุดในทุกบริบท… และแน่นอนว่า การมารวมตัวกันของคนหลายคน แม้จะมารวมกันด้วยความเข้าใจวัตถุประสงค์อย่างดี ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้การประสานงานเกิดความราบรื่นขึ้นได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ธรรมชาติเรื่อง “มากคนมากความ” ยังติดอยู่กับคนกลุ่มนี้เหมือนเดิม

สูตรการจัดการเพื่อเข้าสู่การทำ Team Building จึงเริ่มต้นที่ “การละลายพฤติกรรม” ก่อนเสมอเมื่อต้องทำภาระกิจร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมละลายพฤติกรรมส่วนใหญ่จะทำให้สมาชิกในทีมเกิดอารมณ์ร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งในเชิงบวก ซึ่งมีเทคนิคมากมายที่นักกิจกรรมกลุ่ม สามารถออกแบบให้ได้ตั้งแต่หัวเราะร้องไห้ร่วมกัน ไปจนถึงอยากขนระเบิดใส่เครื่องบินไปถล่มใส่ศัตรูเดี๋ยวนั้นก็มี

แต่หลายครั้งกิจกรรมละลายพฤติกรรมก็เป็นเรื่องน่าขันและสูญเปล่า จนทำหลายทีมและหลายองค์กรละเลยการทำ Team Building เพราะดูวุ่นวายไร้สาระและสิ้นเปลือง… แถมยังต้องพึ่งการเรียกประชุมมอบหมายงานอยู่ดีจึงจะทำให้ธุระและเป้าหมายถูกจัดการให้ลุล่วงไปได้

ประเด็นก็คือ การประชุม “มอบหมายสั่งการ” ส่วนใหญ่เป็นการบริหารงานแบบรวมศูนย์ และใช้ทรัพยากรหลายอย่างสิ้นเปลืองในระยะยาว โดยเฉพาะเวลา… ในขณะที่การสร้างทีมที่สมาชิกในหน้าที่ต่างๆ รู้บทบาทอำนาจและกลไกการตัดสินใจเพื่อบรรลุเป้าหมายสอดคล้องประสานกันได้ดีแล้ว จะเกิดการร่วมงานแบบกระจายศูนย์ที่สมาชิกทีมในหน้าที่ต่างๆ จะสามารถรุมช่วยกันสะสางกิจธุระเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้เอง… 

ท่านลองนึกภาพโค๊ชหรือผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ตะโกนสั่งผู้เล่นอยู่ข้างสนามในขณะที่กำลังแข่งขัน กับโค๊ชที่นั่งดูเกมส์และปล่อยให้นักฟุตบอลทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ โดยไม่ต้องเสียเวลาหันมามองโค๊ชที่คอยกำกับอยู่ข้างสนามอีก… หลายท่านคงตอบได้ไม่ยากว่าทีมไหนคือทีมที่เล่นได้เข้าขาและฝึกซ้อมร่วมกันมาเป็นอย่างดี จนทุกคนรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมรวมทั้งโค๊ชด้วย

ความจริงผมเตรียมข้อมูลเรื่อง Team Building ที่มีหลักการและเทคนิคต่างๆ จะนำเสนอในบทความตอนนี้พอสมควร… แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การออกแบบกิจกรรม Team Building เป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องออกแบบจาก “มากคนมากความ” หรือออกแบบจากต้นทุนของสมาชิกทีม แล้วค่อยสร้างเส้นทางกิจกรรมเพื่อตอบวัตถุประสงค์ของภาระกิจให้ลุล่วง… การหาเฟรมเวิร์คหรือกรอบการทำงานมาตรฐานมาระบุขั้นตอน เหมือนต้องการกำหนดว่าจะใช้แมวพันธ์ไหนสีอะไรไปจับหนู… โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นเรื่องทำลายความคิดสร้างสรรค์ในทีมและองค์กรไปหมดแล้วตั้งแต่ต้น… ผมจึงขอข้ามที่จะพูดถึงเฟรมเวิร์คต่างๆ ที่มีคนแนะนำใช้อยู่มากมายหลากหลาย ซึ่งท่านที่สนใจคงต้อง Google ข้อมูลเพิ่มเติมกันเองเพื่อหากรณีศึกษาที่ท่านสนใจ

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts