VR Education

Tech-Enabled Immersive Learning และ Extended Reality #ReDucation

พูดถึงเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทย ที่แม้แต่คนสนใจทำ EdTech มากมายก็ยังงงงวยอยู่กับ eLearning และแพลตฟอร์มด้านการศึกษา และวนไปวนมาก็ยังวกกลับมาหากินกับครู ติวเตอร์ และ คนที่เปลี่ยนความเชี่ยวชาญมาเป็นโค้ชสอนสารพัดความรู้และทักษะ… โดยการหาทางเอาครูและองค์ความรู้ที่ต้องสอน มาทำสื่อประกอบบทเรียนและหลักสูตรให้เข้ากับแพลตฟอร์มที่ออกแบบไว้ หรือไม่ก็สอนกันผ่านช่องทาง Live บน Social Media ไปจนถึงแพลตฟอร์ม Video Conference กันตรงๆ ก็มี

ก็ดีงามตามท้องเรื่องครับ… สำหรับองค์ความรู้แบบบรรยายถ่ายทอดและสอนสั่ง ในขณะที่ทักษะและความรู้ในระดับพัฒนาประสบการณ์ ซึ่งการฟังบรรยายโดยไม่ได้ลองจับทำอาจจะให้ได้เพียง “เคยได้ยินมาว่า” มากกว่าจะพูดได้ว่า “เคยแตะมาบ้าง” เป็นส่วนใหญ่

ท่านที่เคยคุยกับผมเรื่อง eLearning และ EdTech คงได้ยินผมพูดถึงโปรแกรมฝึกด้วยเครื่องบินจำลองจนเบื่อ แต่ก็เป็นกรณีตัวอย่างสุดคลาสิค ในการจำลองสถานการณ์มาให้นักบินฝึกหัดได้ฝึกประสบการณ์ และ ถือเป็นกรณีตัวอย่างระดับ Tech-Enabled Learning หรือ Tech-Enabled Immersive Learning ที่ประสานเทคโนโลยีเข้ากับผู้เรียน หรือ ผู้รับการฝึก จนโลกความจริงและสถานการณ์สมมุติเพื่อใช้ฝึก สามารถบ่มเพาะประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้มากพอ จนกล้ามอบทรัพย์สินมูลค่าไม่น้อยอย่างเครื่องบินจริง กับชีวิตและอนาคตของตัวเขาเอง ให้ไปลองโลดแล่นอยู่กลางท้องฟ้า

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… eLearning ที่ทำเงินทำทองและกำลังเติบโตอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาและใช้กันมามากกว่าสิบปีแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะ Contents และ Technology ที่ใครก็ตามคิดจะทำ eLearning แบบ EdX หรือ LinkedIn Learning หรือ Udemy หรือ Coursera อยู่… ผมว่าน่าจะสายไปแล้ว ซึ่งแม้แต่แพลตฟอร์มโซเซี่ยลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง LinkedIn ที่คิดจะทำ EdTech ยังยอมซื้อกิจการที่มีลูกค้าและ Contents ติดมาด้วยอย่าง Lynda ที่อยู่มาตั้งแต่ปี 1995 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น LinkedIn Learning…

กรณี LinkedIn Learning ไม่ใช่การ Acquire หรือ ซื้อควบรวมเพื่อเอาแพลตฟอร์มหรือแม้แต่ Contents ที่ LinkedIn สามารถเสกได้ในไม่กี่สัปดาห์… แต่นั่นเป็นการ Acquire เอาลูกค้าที่กระตือรือร้นสนใจเรียนและพัฒนาตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในระบบที่มีมาก่อนในเปอร์เซนต์ที่สูงมากๆ แล้ว

การพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีการศึกษาที่ควรทำในปัจจุบัน จึงควรคิดซับซ้อนกว่า eLearning พิมพ์นิยมที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน… โดยแนวคิดเพียงแค่จะเอาองค์ความรู้ที่อยู่ในรูปของสื่อการเรียนมากมาย แล้วหาทางจำลองโมเดลการเรียนการสอนดั้งเดิมไปใส่จอเท่านั้น ก็จะเรียกว่า eLearning และเชื่อว่าใครๆ ก็จะอยากเรียนหล่ะก็… คิดเยอะๆ ตอนนี้ก็ไม่สายหรอกครับ

ความจริงในอีกยี่สิบปีถัดจากนี้ไป คงไม่มีใครบอกเราได้ว่าอนาคตไกลขนาดนั้น มนุษย์โลกจะมีวิธีพัฒนาทักษะและสติปัญญากี่แบบและอย่างไรบ้าง?

เอาเป็นว่า… ปี 2021 ที่ผ่านหนึ่งไตรมาสมาแล้วนั้น มี Keyword ที่นักเทคโนโลยีการศึกษา “พูดถึงกันมากจนมั่นใจว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนา Education Contents เพื่อใช้อย่างกว้างขวางในทศวรรษนี้” อยู่คำหนึ่ง… Extended Reality ครับ!

Extended Reality หรือ ER ไม่ใช่ของใหม่… เพราะจริงๆ แล้วเป็นคำเรียกรวมการผลิตและใช้ AR Contents หรือ Augmented Reality Content กับ VR Contents หรือ  Virtual Reality Contents ที่คนส่วนใหญ่ต้องเรียกแยกกัน เพราะคุณสมบัติของสื่อ และ การนำไปใช้แตกต่างกันหลายแง่มุม… ซึ่งในบทความนี้ผมขอข้ามการอธิบายแจกแจงรายละเอียดไปก่อน

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… Extended Reality จะเน้นการเห็นภาพและได้เคลื่อนไหวร่างกายประสานกับคอมพิวเตอร์ หรือ จักรกลอื่นๆ ที่ออกแบบบูรณาการกันไว้เพื่อสร้างประสบการณ์เหมือนจริง แบบเดียวกับชุดฝึกบินจำลอง ที่สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ไปที่สมองส่วนหน้าโดยตรง เหมือนได้สัมผัสประสบการณ์จริงทุกอย่าง จนสร้าง “ประสบการณ์” ผ่านกลไกทางประสาทวิทยาด้านการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะอธิบายด้วยแนวคิด Pedagogy หรือ Andragogy… ยกเว้นความเสียหายเมื่อพลาดพลั้งที่สามารถกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ และ ฝึกซ้ำๆ จนไม่พลาดได้

นอกจากโปรแกรมฝึกบินที่พัฒนาแบบ Tech-Enabled Immersive Learning มาแต่ต้นจนถึงปัจจุบันแล้ว… ข้อมูลจาก DARPA หรือ Defense Advanced Research Projects Agency หรือหน่วยวิจัยทางกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เจ้าของเทคโนโลยีมากมายที่เราใช้กันอยู่ รวมทั้ง World Wide Web หรือเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เราใช้ก็ด้วย… ซึ่งได้พัฒนา “โปรแกรมฝึกหน่วยรบพิเศษ” ที่ใช้เพียงแว่นตา VR พร้อม Contents ตามโปรแกรมฝึกทั้งแบบเดี่ยวและทีม ก็สามารถเตรียมหน่วยรบสำหรับหลายๆ ภารกิจได้ง่ายกว่าเดิมมาก

หลายท่านอาจจะแย้งว่า… คงเอาสุดยอดงานวิจัยค้นคว้าระดับ Technology and Contents ของ DARPA มาเทียบความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาในประเทศที่นักวิจัยต้อง “ออกตังค์ก่อนค่อยเอาบิลไปเบิก” ไม่ได้… แต่การผลิต Education Video ที่พร้อมจะไปต่อกับ Extended Reality ที่สามารถ Re-Production เพื่อ Upgrade แบบไปต่อกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อีกหลายยุคสมัย… ไม่ใช่ทำพอให้รู้ว่าได้ทำ ไม่เวิร์คก็ทิ้ง เหมือนที่นักการศึกษา ครูบาอาจารย์บ้านเราส่วนใหญ่ ที่ทำงาน Digital Contents เพื่อขอผลงานให้ได้เลื่อนเงินเดือนกับตำแหน่ง โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกิดก่อนมือถือหลายรอบมาตรวจรับรองผลงาน แล้วก็ผ่านๆ กันกลับไปเหมือนเดิม โดยไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร

ผมอยากให้หลายๆ ท่านได้ศึกษางานและแนวคิดของ Byju Raveendran อดีตครูธรรมดาจากอินเดียผู้ไม่พอใจกับสื่อการศึกษาที่ล้าหลัง จนชวนภรรยาอย่าง Divya Gokulnath ลุกขึ้นมาสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาชื่อดังอย่าง Byju’s เพื่อให้เห็นว่า… Contents ด้านการศึกษายังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกเยอะมาก แม้ยังไปไม่ถึง Extended Reality ก็ตามที… เสียดายที่เวบไซต์ Byjus.com ไม่สามารถเปิดดูผ่าน IP Address จากประเทศไทยได้ แต่ผมมีคลิปโปรโมทมาฝากครับ

ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือ… ABI Research ได้วิเคราะห์และประเมินไว้ว่า Augmented and Virtual Reality Tools ในมิติเพื่อการศึกษาจะมีมูลค่าแตะ 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023… นอกจากนั้น บริษัทซอฟท์แวร์ด้านกราฟฟิกยักษ์ใหญ่อย่าง Adobe ก็ได้ออกซอฟท์แวร์ทำ VR Content ชื่อ Adobe Aero และตลาดตอบรับอย่างมาก… แพลตฟอร์ม VR จากเดนมาร์กชื่อ Labster ก็เปิดบริการให้เช่า VR Laboratories ที่จะทำให้ชั่วโมง STEM ไม่จำเป็นต้องแบ่งกลุ่มทำการทดลองพอเป็นพิธีอย่างที่เคยเป็นมาอีก… หรือจะเรียนภูมิศาสตร์กับ Google Expeditions ให้เหมือนได้ไปเดินสำรวจภูเขาจริงๆ ก็ทำได้… 

ส่วนประเด็นแว่น VR ที่หลายฝ่ายถกกันเรื่องการจัดหาและใช้งานนั้น ผมอยากให้ดูคลิปของ Google Expeditions เอาเองครับว่า มันสามารถทำด้วยกระดาษและเลนส์ราคาไม่แพงกับโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องก็ใช้ได้แล้ว… และยังใช้แล้วทิ้งได้ด้วยในกรณีที่กังวลเรื่องติดเชื้อในการใช้ต่อกัน และบน YouTube มีคลิปสอนทำแว่น VR จากกระดาษมากมาย โดยไม่ต้องพึ่งนักการเมืองให้มาวุ่นวายหางบเหมือนคราวซื้อ Tablet มาให้เด็กเปิด PDF เรียนเลย

คำถามคือ…ตลาด Augmented and Virtual Reality Tools มูลค่ากว่าห้าพันล้านบาท กับยอดขายซอฟท์แวร์ด้านพัฒนา ER Contents มโหฬารขนาดนั้น… มีใครที่เมืองไทยจ่ายเงินซื้อบ้างกรุณาทักมาบอกให้ผมฉลาดขึ้นหน่อยเถอะครับ!!!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts