ความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการศึกษา ต่อวิกฤตไวรัสโคโรน่า ล้วนสอดประสานไปในแนวทางเดียวกันทั่วโลกคือ ปรับเพิ่มสัดส่วนการจัดการเรียนการสอนด้วย eLearning อย่างชัดเจน ซึ่งความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นและเห็นชัดดูเหมือนจะเป็นการทำ Synchronous eLearning หรือสอนสดออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากไปก่อน
ประเด็นก็คือ ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนบน New Normal ในยุคที่ทุกอย่างย้ายขึ้น Platform กันหมด โดยมีช่องทางและรูปแบบการสื่อสารมากมาย เป็นเครื่องมือหลักแทนการพบปะเจอตัวและเดินทางไปพบกัน
นานมาแล้วที่การพัฒนาการศึกษา มุ่งไปที่การพัฒนาเสาฝาหลังคาพื้นและป้ายหินแกรนิต จนได้ชื่อว่า Brick and Mortar หรือพัฒนาแบบก่ออิฐกับฉาบปูน ในขณะที่เวบไซต์ของโรงเรียนและทรัพยากรทางดิจิตอลทุกกรณี… ช่างไม่เป็นชิ้นเป็นอันจนไม่เห็นระบบนิเวศน์เฉพาะทางที่เป็นรูปเป็นร่างหรือเงาแม้แต่น้อย
เวบไซต์ของ U.S. Department of Education ได้เผยแพร่ข้อมูลการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก เพื่อรองรับการเข้าถึงจากทุกที่ทุกเวลา หรือ Everywhere and All Time Learning ซึ่งถือเป็นแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่จำเป็นเร่งด่วนของนโยบายทางการศึกษาอย่างมาก
สาระสำคัญหลักๆ 4 ประเด็นที่จำเป็นอย่างมากได้แก่
- Ubiquitous Connectivity หรือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุม ประเด็นนี้หลายฝ่ายที่ถกเถียงกันอยู่ มักจะพูดคุยกันเฉพาะรายละเอียดทางเทคนิคที่พูดถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ ADSL ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่อีกมาก… แท้จริงประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะจัดการ ซึ่งทำได้ตั้งแต่แจกซิมการ์ดทางการศึกษา ไปจนถึงติดตั้ง School WIFI ในโรงเรียนได้ทั้งแบบเชื่อมเครือข่าย ADSL และเครือข่าย 4G/5G ได้แทบทั้งสิ้น
- Powerful Learning Devices หรือ อุปกรณ์ลูกข่ายเพื่อการศึกษา อย่างคอมพิวเตอร์หรือแท็ปเล็ต ที่เป็นประเด็นดราม่าเรื่องความเลื่อมล้ำ… ถ้าทุกอย่างพร้อม การจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้เพียงพอและมีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการ เพราะที่เป็นปัญหาจริงๆ คือการจัดหาคอมพิวเตอร์หรือแท็ปเล็ต แล้วได้อุปกรณ์คุณภาพต่ำราคาสูงมาโดยไม่มีระบบนิเวศน์ส่วนอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยให้ใช้งานได้จริง… เหมือนเรื่องเล่ากรณีส่งคอมพิวเตอร์ไปให้โรงเรียนที่ไม่มีไฟฟ้าในอดีต… ที่สำคัญคือทักษะครูอาจารย์ที่ยังล้าหลังถึงขั้นใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งานเหมือนใช้เครื่องพิมพ์ดีด… ก็ยังมีอยู่มาก
- High-quality Digital Learning Content หรือแบบเรียนดิจิตอลคุณภาพสูงอย่างเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันนี้เนื้อหาแบบเรียนที่สถาบันการศึกษาใช้ ส่วนใหญ่เป็นลิขสิทธิ์ของเอกชนที่ซื้อใช้เป็นเล่มหนังสือ… และไม่เคยมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบเรียนดิจิตอล ทั้งที่เคยพูดคุยกันระหว่างทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันเรามีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ไปแล้ว… การปัดฝุ่นเรื่องแบบเรียนดิจิตอลก็ยังเงียบและวังเวง… เรียนตรงนี้เลยครับว่า การสร้างแบบเรียนและบทเรียนดิจิตอลโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ยาก และเอกชนไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ได้ทุกรูปแบบขอเพียงนโยบายชัดเจนและมีงบประมาณเหมาะสม เหมือนงบจัดหาหนังสือตำราหรือทำป้ายโรงเรียนก็พอ… และผมยินดีแลกเปลี่ยนพูดคุยประเด็นนี้ทุกมิติตลอดเวลาครับ
- RUPs หรือ Responsible Use Policies หรือ นโยบายที่เชื่อถือได้ โดยขับเคลื่อนแนวทางจัดการศึกษาแบบ Technology Based Education… ต้องขับเคลื่อนระดับนโยบายชาติระยะยาวที่เชื่อถือได้ โดยไม่ถูกการเมืองหรือปัญหาบางกรณีเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือแนวทางทีหลัง
ความจริง 4 ประเด็นนี้จะมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ก็ไม่ผิด… หรือจะมองว่าเป็นประเด็นรอการตัดสินใจก็ได้ และความจริงก็คือ มีประเด็น High-quality Digital Learning Content หรือแบบเรียนดิจิตอลคุณภาพสูงเท่านั้นที่ “มีเงินอย่างเดียวแก้ไม่ได้”… แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีทางแก้หรอกน๊ะครับ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… ทั้งหมดต้องเริ่มด้วยการ “ลบ” คำว่า “เป็นไปไม่ได้” ออกจากหลักคิดของผู้นำองค์กรและคนที่เกี่ยวข้องก่อน และตัดใจทิ้งกลุ่มคนที่สมัครใจอยู่กับ “เป็นไปไม่ได้” เอาไว้ด้วยกันโดยไม่รอให้กลุ่มนี้หยุดฟังหรือเห็นด้วย… แม้ต้องสร้างโรงเรียนใหม่หรือกระทรวงใหม่ก็รีบทำ
ผมกำลังพูดถึงผู้นำและพลังการตัดสินใจตามความเห็นของผู้นำซึ่งหลายกรณีเราเรียกว่า Highest Paid Person’s Opinion หรือ Hippo หรือความเห็นของคนที่ได้ค่าตอบแทนประจำตำแหน่งแพงที่สุดในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในท้ายที่สุด… ขอเพียง “อย่าเจอ Hippo บ้าข้อมูล” แบบขอแต่ข้อมูลเพิ่มเรื่อยๆ แต่ไม่คิดตัดสินใจจริงจัง
สุดท้ายผมมี Infographic จาก U.S. Department of Education เกี่ยวกับ Infrastructure to Support Everywhere, All Time Learning ที่วาดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มี… การเรียน การสอน การสอบและผู้นำสถาบันการศึกษา… ล้อมอยู่ชั้นกลาง และให้ทรัพยากรที่จำเป็นอื่นๆ ที่แบ่งย่อยออกมาจากแนวทาง 4 ด้านที่พูดถึงตอนต้น… ล้อมอยู่ชั้นนอกสุดอีกที
ความจริงเอกสารที่ผมใช้อ้างอิงมีเครื่องมือช่วยประเมินความพร้อมและตัวอย่างทรัพยากร ไปจนถึงแนวทางการดำเนินการค่อนข้างละเอียด ตามประสาคู่มือแบบตะวันตกที่เป็นคู่มือจริงๆ… ท่านที่สนใจเอกสารมีลิงค์อยู่ใต้อ้างอิงเช่นเดิมครับ… ส่วนท่านที่อยากแลกเปลี่ยนพูดคุย Line @reder ทักเข้ามาได้เหมือนเดิมเช่นกัน
อ้างอิง