TEP Forum… ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต

ข่าวการจัดงาน TEP Forum 2022 โดย ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย หรือ Thailand Education Partnership หรือ TEP ปีนี้มีเวทีสัมนาที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม 2022… โดยได้มีการนำเสนอสรุปผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยของภาคีเครือข่าย ต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ… คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 

โดยก่อนหน้านั้นได้มีการสำรวจแบบออนไลน์ผ่านเวบไซต์ TepForum.org ในหัวข้อ “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” โดย รศ.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ จากคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 200 คน โดยเฉพาะกลุ่มครู นักเรียนนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักวิชาการ ภาคเอกชน ศึกษานิเทศก์ และ ประชาชนทั่วไป และ นำข้อมูลมาเสนอในเวทีนี้ด้วย

สวนความเห็นจากเวทีสัมนา โดยเฉพาะตัวแทนครูและโรงเรียนอย่างอาจารย์วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน จังหวัดระยองให้ความเห็นว่า… ในส่วนของความหวังการปฏิรูปการศึกษาจากพื้นที่นั้น ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศล้วนแต่พบเจอกับปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น… ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และ ปัญหาระหว่างชายแดน เป็นต้น… ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งก็ไม่ได้มีความย่อท้อ แต่ช่วยเหลือกันในการจัดการศึกษาในตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนพลังบวกได้มีการระดมความคิด เพื่อที่จะเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการว่า… กระทรวงศึกษาธิการควรเน้นให้สถานศึกษาเป็นหน่วยงานหลักอย่างเป็นรูปธรรม และ มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมที่ชัดเจนและจริงจัง  กระทรวงศึกษาธิการควรจะเปิดโอกาสให้สถานศึกษา และ จังหวัดมีอิสรภาพในการบริหารการศึกษาด้วยตนเองทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร และ บริหารงานทั่วไป สร้างความร่วมมือกับชุมชน ภาคเอกชนตามความจำเป็น และ สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน รวมถึงการให้อิสระสถานศึกษาในการบริหารหลักสูตร และ การจัดการเรียนการสอน เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ในท้องถิ่นเชื่อมโยงกับการเรียน และ ยังต้องสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการจัดการศึกษาที่ตอบสนองการปฏิรูป การวัดผลประเมินผลก็ต้องสอดคล้อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดต่อตัวนักเรียน และ ให้หน่วยงานต่างๆ มีบทบาทในเชิงบวกสนับสนุนสถานศึกษาให้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษาด้วยตนเอง

ด้านคุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ให้ความเห็นในเวทีสัมมนาว่า… สำหรับเรื่องการพัฒนาครูนั้น การสร้างครูเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ควรจะมีการสร้างความร่วมมือมากขึ้นระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย อย่างการฝึกสอน และ การคัดเลือกครูก็ควรที่จะให้โรงเรียนมีโอกาสคัดเลือกมากขึ้น สำหรับการพัฒนาครู ควรที่จะลดภาระงานครู และ พัฒนาครูตามความต้องการของโรงเรียน… ส่วนกรณีวิทยฐานะ ทางสำนักงานเขตพื้นที่ควรเข้ามาช่วยสนับสนุนมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการสั่งการจากบนลงล่างเหมือนที่ผ่านมา

คุณวรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้ก่อตั้งเพจ Deschooling Game ให้ความเห็นว่า สำหรับการเรียนรู้แบบใหม่ การเรียนรู้นอกระบบจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อทดแทนการเรียนรู้ทักษะที่การศึกษาในระบบไม่สามารถทำได้ ดังนั้นการที่จะทำให้การเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบสามารถสนับสนุนส่งเสริมกันได้ จะต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการสร้างการรับรู้ หรือ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะหาจุดร่วมในการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งอาจจะสามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และ หากเป็นไปได้… การเรียนรู้นอกระบบต้องการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ ออกแบบการสนับสนุนร่วมกัน

คุณนรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริมบุตร ในฐานะ CEO ของ Starfish Education ก็ได้ร่วมให้ความเห็นว่า สำหรับเรื่องการจัดการศึกษาหลังโควิด-19 นั้น ควรจะต้องให้ความสำคัญกับช่วงการเรียนรู้ที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการ ทักษะ การใช้ชีวิตในสังคม ฟื้นฟูการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ผู้ปกครองมีความเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายการศึกษาการเรียนรู้ร่วมกันของทุกหน่วยงาน และ ปรับหลักสูตรเพื่อลดสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ เน้นการบูรณาการ การลงมือทำมากขึ้น

ส่วนคุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส จาก TDRI กล่าวว่า… สำหรับเรื่องกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติในระบบการศึกษานั้น… หากมีการกระจายอำนาจให้ทุกระดับสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจการจัดการศึกษาจะทำให้รูปแบบของโรงเรียนมีความเปลี่ยนแปลงไป และ การออกแบบกติกาทางการศึกษาที่ต้องมุ่งเน้นไปในเรื่องการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และ รับรองสิทธิสวัสดิภาพของครูมากขึ้น… กระทรวงศึกษาธิการควรทำหน้าที่เพียงผู้สนับสนุน ควรจะอนุญาตให้มีการทดลองเชิงนโยบายเกิดขึ้น สร้างความไว้วางใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติกล้าปฏิบัติตามกฎและระเบียบใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบไฮบริด และ การออกแบบกติกาที่ดีควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

ส่วนความคิดเห็นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ… คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชได้กล่าวภายหลังการรับมอบข้อเสนอแนะว่า… เราจะได้ยิน และ รับทราบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาตลอดเวลา และการรับฟังในครั้งนี้เรียกว่าครอบคลุมครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ครู การจัดการศึกษา และ กฎหมายการศึกษา ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น โดยตนจะรับไปทั้งหมด และ จะนำไปศึกษาเพื่อไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้ตนไม่สามารถพูดได้ว่าจะทำเรื่องไหนอย่างไร เพราะจะต้องมีการนำไปตกผลึกอีกครั้ง แต่จะพยายามที่จะปฏิบัติให้ได้มากที่สุด และ ทุกเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและจะไม่ใช้ระยะเวลาที่นานจนเกิดไป ทั้งนี้เมื่อเราสามารถนับหนึ่งได้ ก็จะมีการสานต่อเพื่อขับเคลื่อนต่อไป ในส่วนของตนเองก็จะอาศัยข้อเสนอเหล่านี้ในการขับเคลื่อนงาน

อย่างไรก็ตาม… ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือถึงปัญหาด้านการศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะแก้ไขให้เกิดการปฏิรูปขึ้นอย่างแท้จริง หรือ แม้ว่าจะมีที่ไหนสามารถปฏิรูปได้อย่างเห็นผล แต่ก็ยังคงไม่มีที่ใดที่สามารถทำได้อย่างเสร็จสิ้น จึงจะต้องมีการขับเคลื่อนไปกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ถึงแสงสว่างทางการศึกษาว่าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนมากขึ้น… อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตกผลึกแล้ว หากพบว่าเรื่องไหนที่เป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว หรือแก้ไขแล้วแต่ไม่ตรงจุดอย่างไรก็จะแจ้งให้ผู้เสนอรับทราบต่อไป

เป็นก้าวเล็กๆ ที่น่าสนใจ และ ติดตามกันต่อไป!… ส่วนสถิติจากอาจารย์พร้อมพิไล… รศ.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้นำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นคนไทยต่อการศึกษาไทยในปัจจุบันที่ร่วมสำรวจกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ซึ่งได้นำในงาน TEP Forum 2022… ไว้ผมมีข้อมูลฉบับเต็ม และ มีโอกาสเหมาะสมค่อยมาพูดถึงกันอีกทีครับ

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts