ปาท่องโก๋การบินไทย กับ ชาไข่มุกแอร์เอเชีย

วิกฤตโควิดยังคงเป็นประเด็นสรุปปลายปี 2020 ที่ผมต้องขออภัยที่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้ไปอีกซักพัก… แต่ประเด็นวันนี้จะพาไปมองผ่านประสบการณ์ ที่ได้เห็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานเกินสองพันคนทำธุรกิจมายาวนาน… ต้องหันมาใช้โมเดล SMEs ฝ่าวิกฤตอย่างน่าสนใจ

ผมสนใจกรณีของ “ปาท๋องโก๋การบินไทย และ ชาไข่มุกแอร์เอเชีย” ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเข้าขั้นล้มทั้งยืนกันทั้งคู่

ปาท่องโก๋การบินไทย… แต่เดิมจะมีบริการเสิร์ฟเฉพาะบนเครื่องบินเท่านั้น แต่พอเกิดวิกฤตโควิดจนธุรกิจการบินพังพินาศ และการบินไทยเองก็ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้ครัวการบินไทยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยการสร้างโมเดลอาหารประคองตัวฝ่าวิกฤต ขนานไปกับแผนฟื้นฟู… และปาท่องโก๋การบินไทย ซึ่งน่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาดระลอกแรกจากครัวการบินไทย ก็กลายเป็นขวัญกำลังใจให้คนการบินไทยและคนไทย ที่ผมเชื่อว่าทุกคนเอาใจช่วยให้การบินไทยยืนหยัดต่อไปให้ได้

ส่วนชานมไข่มุกแอร์เอเชีย… เดิมก็ขายให้ผู้โดยสารบนเครื่องบินแอร์เอเชีย ราคาแก้วละ 75 บาทมาตั้งแต่กลางปี 2019 ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าแอร์เอเชีย จนกลายเป็นเมนูที่มีผู้คนแชร์ต่อจำนวนมาก… ทำให้แฟนคลับชานมไข่มุกภาคพื้นดินอยากลองรสชาติชานมไข่มุกบนฟ้าบ้าง… ช่วงที่เกิดวิกฤตจนต้องหยุดบินโดยปริยาย แอร์เอเชียจึงรับออเดอร์ชานมไข่มุกผ่าน Grab Food พร้อมเมนูอื่นๆ จากแอร์เอเชีย

ข้อมูลจาก thaismescenter.com ระบุว่า… แอร์เอเชียสามารถขายชานมไข่มุกได้ราว 1,200-1,500 แก้วต่อสาขาต่อวัน และแอร์เอเชียยังเอาพนักงานโหลดของมาเป็นพนักงานส่งชานมไข่มุกอีกด้วย เพื่อให้พนักงานมีรายได้เสริม โดยเริ่มที่สาขาดอนเมืองและมักกะสัน และว่ากันว่า… แอร์เอเชียกำลังเพิ่มสินค้าอาหารบนโมเดลธุรกิจพยุงชีพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจอย่างมากไม่แพ้เคสปาท๋องโก๋การบินไทย

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ… สินค้าอาหารพื้นๆ ที่ใส่ความพยายามของคนทำงาน ไม่ว่าจะถูกผลักดันด้วยแรงกดแบบไหน แต่เมื่อสามารถเปลี่ยนแรงกดดันเป็นแรงขับเคลื่อนเชิงบวก จนทำให้สินค้าอาหารพื้นๆ ที่มีคนทำอยู่ดาษดื่นจนชินตา กลายเป็นแรงขับองค์กรให้ปรับตัวจนขยับออกจาก “ภาวะไร้ความหวัง” และพิสูจน์พลังของความพยายามที่คนกลุ่มหนึ่งร่วมแรงกันสร้างขึ้น และผมเชื่อว่า “การร่วมแรง” ของคนการบินไทย และ คนแอร์เอเชียเกิดจากความรัก… ที่พวกเขามีต่อองค์กร ซึ่งในวิกฤตขั้นล้มทั้งยืนที่พวกเขาเจอ จนต้องทิ้ง “อัตตา” ที่ภาคภูมิว่าเคยเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับมาใช้หนทางของ SME ขับเคลื่อนธุรกิจออกจากจุดเป็นจุดตายจนมีความหวัง 

ผมเชื่อว่าหลายท่านเจอวิกฤตไม่ต่างจากธุรกิจการบิน แต่ก็คงเจอทางตรงน้อยกว่าและเจอทางอ้อมน้อยกว่าการบินไทยและแอร์เอเชียมาก… 

หาทางไปต่อด้วยกันครับ!!!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *