ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจดทะเบียนคุ้มครอง หรือ อยู่ภายใต้กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง ถือเป็น Competitive Advantage หรือ ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญและสามารถรักษาโอกาสจากความได้เปรียบที่มีเอาไว้ได้ต่อไป
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย นอกจากจะมีการคุ้มครองสิทธิ์แบบลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรแบบต่างๆ แล้ว… ปัจจุบันยังมีการคุ้มครองด้วย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indication หรือ GI อีกแบบหนึ่ง
แต่การถือครองและอ้างสิทธิ์ด้วย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จะแตกต่างจากการถือครองและอ้างสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาแบบอื่น… เพราะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นคุณลักษณะเฉพาะที่มาจาก แหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ผู้เป็นเจ้าของจึงไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใด… แต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่อ้างสิทธิ์ใช้เป็นกลุ่มโดยอ้างอิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ… เช่น ส้มโอนครชัยศรี หรือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งคนนครชัยศรี หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายส้มโอจากนครชัยศรี สามารถถือสิทธิ์ใช้คำว่านครชัยศรีในการโฆษณาและขายส้มโอ เหมือนข้าวสารบรรจุถุงที่ผลิตจากข้าวที่ปลูกและเก็บเกี่ยวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ก็สามารถใช้คำว่าทุ่งกุลาร้องไห้ในผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งหมดจากแหล่งนี้ได้
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็น ชื่อ สัญลักษณ์ หรือ สิ่งอื่นใดที่บอกแหล่งผลิตของสินค้า โดยสามารถสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่า สินค้านั้นมีคุณภาพ หรือ มีคุณลักษณะพิเศษ แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตอื่น… โดยมีองค์ประกอบหรือปัจจัยเฉพาะสำคัญ 2 ประการที่ชัดเจนคือ ธรรมชาติ กับ มนุษย์ในท้องถิ่น… โดยธรรมชาติทำหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมหรือวัตถุดิบให้แก่การผลิต ส่วนมนุษย์ใช้ทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาในการผลิต… ซึ่งทั้งสองปัจจัยก่อให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ สิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นสิทธิระดับชุมชน หรือ สิทธิของกลุ่มคนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ผลิตสินค้านั่นเอง

ปัจจุบัน… กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีกฏหมายและระเบียบคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยมีตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รับรองให้แก่ผู้ผลิตสินค้าอ้างอิงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว หรือ ผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แม้จะเป็นการคุ้มครองและรับรองให้ผู้ประกอบการและสินค้าที่ขอใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แต่ในทางเทคนิคยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้สับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า เช่น ลองกองตันหยงมัส กับ ลองกองอุตรดิตถ์
สินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และขอรับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ ประกอบด้วย สินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม หรือ สินค้าเกษตรแปรรูป… โดยผู้ที่มีความประสงค์จะจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. จัดประชุมศึกษาความเป็นไปได้
ส่วนราชการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิต รวมกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีความสนใจยื่นจดทะเบียน GI จัดประชุม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมข้อมูลขอรับความคุ้มครอง… ครอบคลุมชื่อเสียงของสินค้า คุณภาพ ลักษณะพิเศษ วิธีการผลิต ความเชื่อมโยงสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ และขอบเขตพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์… โดยผู้ยื่นคำขอที่มีคุณสมบัติแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ส่วนราชการ คือ หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น
- บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือ นิติบุคคล ต้องประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และอยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์นั้น
- กลุ่มผู้บริโภค หรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยสามารถยื่นคำขอร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ และ/หรือ เอกชน ก็ได้
2. ยื่นคำขอ
หลังจากร่างคำขอ สรุปเนื้อหาและจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน ผู้ที่มีความประสงค์จดทะเบียนให้กรอกแบบ สช.01 ให้ครบถ้วน นำมายื่น ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จังหวัดนนทบุรี หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยเสียค่าธรรมเนียม 500 บาท
3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอและประกาศรับรอง
นายทะเบียนทำการตรวจสอบคำขอโดยใช้เวลา 120 วัน หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน จะทำการประกาศโฆษณาอีก 90 วัน ซึ่งหากไม่มีการคัดค้าน จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อไป
เมื่อสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI และ มีการจัดทำระบบควบคุมแล้ว… ชุมชนจะทำการรวบรวมผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย และ สมัครขอเข้าร่วมการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ตรวจประเมินขั้นตอนการผลิตของผู้ประกอบการว่าเป็นไปตามทะเบียน คู่มือปฏิบัติงานและแผนควบคุมหรือไม่ หากเป็นไปตามที่ระบุ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย มีอายุ 2 ปีให้
ผู้ประกอบการสินค้าในแหล่งผลิตโดดเด่นและมีชื่อเสียงผูกพันธ์กับแหล่งผลิตโดยตรง… อย่าละเลยกับเรื่องนี้น๊ะครับ
References…