วันก่อนผมเห็นข่าวตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2020 ซึ่งทั่วโลกวุ่นวายกับวิกฤต COVID19 จนชาชินกับข่าวรายวันไปแล้ว… และแน่นอนว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ตามหาข่าวดีจากแหล่งต่างๆ ตามประสาคนที่เชื่อเรื่องโอกาสกับวิกฤตมาด้วยกันไปด้วยกันมาแต่ไหนแต่ไร
แล้วผมก็เจอข่าวที่คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ ผอ.สนค. แถลงข้อมูล การส่งออกปี 2020 นี้ ที่เราเผชิญปัจจัยเสี่ยงสาหัสหลายอย่าง ทั้งภัยแล้ง สงครามการค้า ค่าเงินบาท โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักจากมาตรการต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบต่อรายได้ธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป การรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาด และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สินค้าส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกใน 9 เดือนแรกปีนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยสามปีที่ผ่านมา หรือ ระหว่างปี 2560–2562 สะท้อนให้เห็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยพบว่าสินค้าส่งออกที่มีการเติบโตสวนกระแสโลก แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม… ได้แก่
กลุ่มที่ 1 อาหาร และอาหารแปรรูป
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารสด อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำผลไม้… โดย
- อาหารสด ได้แก่ ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 21.68% โดยขยายตัวในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์… หมูสดแช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 642.90% โดยขยายตัวในฮ่องกง และเมียนมา
- อาหารกระป๋อง ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ขยายตัว 9.11% โดยขยายตัวในสหรัฐอเมริกา เปรู อียิปต์ แคนาดา ซาอุดีอาระเบีย… กุ้งกระป๋อง ขยายตัว 10.20% โดยขยายตัวในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโก สหราชอาณาจักร… ปลาหมึกกระป๋อง ขยายตัว 88.24% โดยขยายตัวในญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ไต้หวัน… ข้าวโพดหวานกระป๋อง ขยายตัว 13.25% โดยขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา… หน่อไม้กระป๋อง ขยายตัว 37.76% โดยขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย
- น้ำผลไม้ผสม ขยายตัว 25.13% โดยขยายตัวในไต้หวัน กัมพูชา สหรัฐอเมริกา จีน… เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 4.02% โดยขยายตัวในจีน สิงคโปร์ ลาว เมียนมา กัมพูชา
กลุ่มที่ 2 สินค้าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด
- ถุงมือยาง ขยายตัว 61.34% โดยขยายตัวสูงต่อเนื่องเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน
- สบู่ ขยายตัว 27.74% โดยขยายตัวในออสเตรเลีย กลุ่มประเทศ CLMV และสหราชอาณาจักร
กลุ่มที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสำหรับการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ประกอบด้วย
- เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว ได้แก่ ตู้เย็น ขยายตัว 2.6% ในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย… เตาอบไมโครเวฟ ขยายตัว 32.06% ในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา
- เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ได้แก่ ลำโพง ขยายตัว 81.53% ขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์… พัดลม ขยายตัว 1.26% ขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน แคนาดา… คอมพิวเตอร์ ขยายตัว 3.33% ขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน
- เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัว11.83% ขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา เวียดนาม เกาหลีใต้
กลุ่มที่ 4 ยานพาหนะ
- รถจักรยานยนต์ ขยายตัว 17.85% ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และเบลเยียม
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้สรุปภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาว่า… ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีทิศทางดีขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส COVID19 ที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ดีในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยหดตัวน้อยลงตามลำดับ แสดงถึงศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจทั้งฝั่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค การส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัวไม่เกิน -7.0% และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2564 ต่อไป
ตามนั้นครับ!
อ้างอิง