Net Zero Emission

Thailand Net Zero Emissions… ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ #GreenVision

แนวทางการพัฒนาประเทศ และ การพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกๆ ประเทศ ต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ก่อผลกระทบเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ครอบคลุมทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และ กระทบต่อเนื่อง 

หลายประเทศได้แสดงเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอ้างอิงปี 2030 เป็นปีฐาน โดยมีความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement กับเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เป็นนโยบายกลาง… โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25 % ในปี 2030 หรือ ปีพุทธศักราช 2573

ในขณะที่หลายประเทศในหลายภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่หลวง รุนแรง และ เกิดซ้ำบ่อยครั้งจนเห็นเป็นความสูญเสีย… ได้มีการพิจารณาปรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การพัฒนาเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนในระดับ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission กันอย่างชัดเจนแล้ว… และ ประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065–2070… หรือในอีก 45 ปีข้างหน้า

กรณีศึกษาจากสหภาพยุโรปยุทธศาสตร์อียูกรีนดีล หรือ EU Green Deal ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีเขียวในเขตเศรษญกิจยุโรป ซึ่งผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎระเบียบ และ มาตรการต่างๆ ครอบคลุมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมนำ… EU Green Deal มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และ มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน หรือ คาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Carbon Emission ในปี 2050 ตามแนวทางการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่เพิ่มการใช้ทรัพยากรให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ใช้พลังงานทดแทน และ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม 

มาตรการต่างๆ ที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการเพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์อียูกรีนดีลมีหลายกรณีที่น่าสนใจเช่น กฎหมายบรรจุภัณฑ์ หรือ EU Packaging and Packaging Waste Directive… กฎหมายและโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ทนทาน ใช้ซ้ำได้ ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และ ใช้พลังงานน้อย… นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ให้ได้มากกว่า 75% ภายในปี 2030 ส่งผลให้สินค้าในตลาดอียูที่แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ สามารถรีไซเคิลได้ โดยใช้แนวทางให้ผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบ หรือ Extended Producer Responsibility หรือ EPR เช่น การเรียกคืนขวด เป็นต้น

ด้านสหรัฐอเมริกา… หลังจาก Presiden Joe Biden เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งได้พาสหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปผูกกับ นโยบายต่างประเทศ กลยุทธ์ด้านความมั่นคงของชาติ และ ด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าให้สหรัฐอเมริกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission และ ตั้งเป้าให้สหรัฐอเมริกาเป็นเขตเศรษฐกิจพลังงานสะอาด 100% หรือ Clean Energy Economy ภายในปี ค.ศ. 2050

ในประเทศญี่ปุ่น… ญี่ปุนได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว หรือ Green Growth Strategy ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ในปี 2050 และยังตั้งเป้าหมายในการยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลทั้งหมดภายใน 2035… ในขณะที่ประเทศจีน ก็ได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ในปี 2060 เช่นกัน

ในประเทศไทย… ข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉาย ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยืนยันว่า… เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน… ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงานของประเทศ  โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission… หรือ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายใน 2065-2070

โดยรัฐบาลมีแผนที่จะปรับในเรื่องแหล่งพลังงานของประเทศ ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลก็ต้องได้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ เรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จะดำเนินการให้ครบวงจร ทั้งเรื่องรถและสถานีชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลกที่ต้องเตรียมการให้พร้อม

สำหรับ Policy Direction หรือ แนวนโยบายแผนพลังงานชาติ เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ จะมีการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน ประกอบด้วย… 

  • การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50%
  • การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle หรือ EV เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM2.5
  • การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30% โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่
  • การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition ตามแนวทาง 4D1E ซึ่งประกอบด้วย… Decarbonization หรือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน… Digitalization หรือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน… Decentralization หรือ การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน… Deregulation หรือ การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification หรือ การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า… 

ทั้งนี้ เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Carbon Emission ในช่วง ค.ศ. 2065-2070 จะขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน

การพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการ ภายใต้กรอบการพัฒนาเศษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model อันเป็นวาระแห่งชาติ… ซึ่งได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ และ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ใช้ได้ยั่งยืน รีไซเคิลได้ รวมทั้งการลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ดร.วิจารย์ สิมาฉาย ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า… ประเทศไทยซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ปี พ.ศ. 2566–2570 โดยกำหนดหมุดหมายที่ 10 ประเทศไทยให้มีเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจไทย ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs โดยคำนึงถึงกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสินค้า และ บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts