degree certificate online

The Andragogical Process Model for Learning… 8 ขั้นตอนเตรียมสอนผู้ใหญ่

โดยประสบการณ์การทำงานวางแผนระบบ eLearning เพื่อปฏิรูประบบการเรียนการสอนระดับสถาบันการศึกษา จำเป็นต้องสร้างและวางแผนบนโมเดลการศึกษาอ้างอิงทฤษฎีหลัก ที่ใช้สร้างมาตรฐานการออกแบบหลักสูตรส่วนใหญ่ โดยมีทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีการศึกษาอื่นๆ ที่ส่งเสริมกัน ช่วยต่อเติมจุดอ่อนที่พบแต่ต้น หรือพบระหว่างนำปฏิบัติตามแผนและกรอบแนวทาง

กรณีของกรอบทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ หรือ The Adult Learner Theory หรือ Andragogy Theory ถือเป็นหนึ่งใน 3 ทฤษฎีหลัก ที่นักเทคโนโลยีการศึกษาใช้เป็นคำภีร์หลักในการนำองค์ความรู้ถ่ายทอดผ่านกระบวนวิธี หรือ Methods แบบ eLearning

ในหนังสือ The Adult Learner ที่แต่งโดย Dr.Malcolm Knowles และคณะ ได้ทำ Andragogical Process Model เอาไว้ในบทที่ 4 ของเนื้อหาส่วนที่หนึ่งที่ว่าด้วย Adult Learner ซึ่งอธิบายขั้นตอนการนำ Andragogy ไปใช้กับผู้เรียนในขั้นต่างๆ ของการพัฒนาความรู้ และเทียบเคียงให้เห็นความต่างระหว่าง Andragogy กับ Pedagogy หรือที่ Dr.Malcolm Knowles จงใจเรียก Pedagogy ว่า Traditional Education ที่แปลว่าการศึกษาแบบดั้งเดิม

ซึ่งหลักสำคัญในขั้นตอนการนำใช้ทฤษฎี Andragogy ที่แตกต่างชัดเจนคือ Andragogical Instructors หรือครูอาจารย์แบบการศึกษาผู้ใหญ่ ต้อง “Prepares in advance a set of procedures for involving the learners and other relevant parties in a process involving these elements หรือ ต้องจัดเตรียม “ชุดขั้นตอน” ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนล่วงหน้า และจัดเตรียมองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับชุดขั้นตอนที่ถูกเตรียมให้พร้อม”

หลักก็คือ การจัดเตรียม “ชุดขั้นตอน หรือ Set of Procedures” ก็คือการออกแบบการเรียนการสอน ที่มีทั้งข้อมูล ความรู้และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมแผนปฏิบัติ หรือ Action Plan… ซึ่งทั้งหมดจะให้ภาพรวมที่ครบถ้วนเหมือนได้แบบแปลนบ้านทั้งหลังมาให้ช่าง… ซึ่งช่างที่ปลูกบ้านตามแบบย่อมผิดพลาดขัดแย้งกับเจ้าของบ้านน้อยกว่า การสร้างบ้านไม่มีแบบแปลนฉันใด การพัฒนาหลักสูตรตาม Set of Procedures ก็ผิดพลาดบกพร่องน้อยกว่าวิธีอื่นมาก… ยิ่งการทำงานร่วมกันทั้งของ โปรแกรมเมอร์และนักเทคโนโลยีทางการศึกษา ร่วมกับครูอาจารย์ นักการศึกษาหรือแม้แต่ที่ปรึกษาทั้งหลาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายคนหลายฝ่าย… การยึด Set of Procedures ที่ออกแบบโดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง… จึงสำคัญอย่างมาก

การจัดเตรียมชุดขั้นตอน หรือ Set of Procedures และแนวทางการใช้ประกอบด้วย 8 ขั้นดังนี้ครับ…

1.  Preparing the Learner หรือ เตรียมผู้เรียน

จุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งของ Andragogy ก็คือการเตรียมผู้เรียน ในขณะที่การสอนแบบ Pedagogy จะเตรียมเฉพาะฝั่งผู้สอน ซึ่งการเตรียมฝั่งผู้เรียนแบบ Pedagogy มีแต่กดออดเรียกนักเรียนเข้าห้องเรียน… ซึ่งการเตรียมผู้เรียนเป็นแนวทางการเรียนรู้เชิงรุกซึ่งทำได้ตั้งแต่ การให้คำอธิบายสั้นๆ หรือคำโปรย หรือการใช้ Trailer หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์สั้นๆ หรือใช้โครงงานหรือการบ้านเล็กๆ น้อยๆ มุ่งกระตุ้น Realistic Expectations and Begin Think About Contents หรือ ความมุ่งหวังอย่างแท้จริงของผู้เรียน และ แนวคิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่จะได้เรียนรู้… ขั้นตอนนี้สำคัญมากสำหรับ Andragogy โดยเฉพาะบน eLearning ที่ต้องดึงความสนใจของผู้เรียนให้ได้ เหมือน Trailer หนังดังๆ หรือคำนิยมที่โปรยใส่ปกหลังหนังสือ ที่มุ่งดึงความสนใจมากกว่ารายละเอียด

2. Establishing a Climate Conducive to Learning หรือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

บรรยากาศและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ คือแนวทางการสร้างความสัมพันธ์ของทุกสิ่งในอาณาจักรการเรียนรู้นั้น ซึ่ง Andragogy มุ่งเน้นบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เชื่อมั่น ไม่พิธีรีตองต่อกัน ร่วมแรงร่วมใจอย่างอบอุ่น แบ่งปันช่วยเหลือและดีต่อกัน… หัวใจสำคัญของประเด็นนี้เคยมีคนเจาะจงตีความเลยว่า หมายถึงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนและคนกับสิ่งแวดล้อมระหว่างเรียนรู้… รายละเอียดประเด็นนี้ในบริบทการเรียนการสอนผู้ใหญ่แบบต่างๆ เช่น ค้นคว้าอิสระ ดูงานหรือผ่าน eLearning หรือแม้แต่ฟังบรรยาย จะมีแนวทางเชิงลึกหลากหลายจนเกิดศาสตร์ว่าด้วย Climate Conducive Design ที่ถูกปรับใช้มากมาย รวมทั้งการศึกษา… โอกาสหน้าคงได้เจาะลึกมาแบ่งปันทุกท่าน

3. Creating a Mechanism for Mutual Planning หรือ การสร้างกลไกส่งเสริมการวางแผนร่วมกัน

ขั้นนี้เป็นการออกแบบร่วมกันเพื่อหาทางปลูกฝังอุปนิสัยและพฤติกรรมอันพึงประสงค์ เพื่อพาตัวตนของผู้เรียนไปถึงความต้องการและเป้าประสงค์ของการเรียน… ด้วยความร่วมมือตั้งแต่การเริ่มเรียน… นักวิชาการด้านพัฒนาหลักสูตรและการสอนบางท่านตีความว่า Mutual Planning ของ Andragogy ขั้นนี้เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านจิตวิทยาสังคม หรือ Social Psychology ที่ลึกซึ้งและประยุกต์ใช้ได้น่าตื่นตาอย่างมาก… โอกาสนี้ขอติดค้างรายละเอียดกับ Reder Fan เอาไว้ก่อนเหมือนเดิม

4. Diagnosing the Needs for Learning หรือการพิเคราะห์ความต้องการเรียนรู้ 

ขั้นนี้เป็นขั้นการหา Insights หลากหลายมิติจากผู้เรียน ซึ่งในทางปฏิบัติ สามารถใช้กระบวนวิธี หรือ Methodology ทางการวิจัยต่างๆ ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงวิทยาการข้อมูล… การตีความนี้ถูกพิจารณาในแนวทางวิทยาการข้อมูล หรือ Data Science มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน… แต่ส่วนตัวผมมองว่า Data Science และ Result จะแม่นยำก็ต่อเมื่อมีกรอบแนวคิด หรือ Concept ที่เชื่อถือได้ก่อน และโดยส่วนตัวผมใช้ Empathy Map ครับ… อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยเรื่อง Needs for Learning เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนง่ายและซับซ้อนมากมาตลอด ในทางปฏิบัติจึงต้องยืดยุ่นต่อการวิเคราะห์ตัวแปรชี้นำ Needs แบบต่างๆ ประกอบตัวแปรและข้อมูลที่สัมพันธ์กับบริบท หรือ Contextual ด้วย… ซึ่งตำราของ Dr.Malcolm Knowles ก็ให้น้ำหนักเรื่องความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัย หรือ Diagnosis เช่นกัน

5. Formulating Program Objectives หรือ กำหนดวัตถุประสงค์โดยละเอียด  

เรื่องกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ สำหรับนักการศึกษาและนักทฤษฎีการศึกษา ต่างก็ยอมรับว่า มีประเด็นถกเถียงมากมายที่คล้ายๆ แต่ไม่เหมือนของทฤษฎีการเรียนรู้มากมายที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน บางคู่เปรียบเทียบถึงขั้นย้อนแย้งและขัดแย้งกันก็มี… ในหนังสือของ Dr.Malcolm Knowles เองก็ยกแนวคิดจากนักทฤษฎีท่านอื่นมากมายขึ้นมาถกโต้แย้งและปกป้องแนวทาง Andragogy ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน โดยอ้างอิง Needs for Learning จากขั้นที่ 4 หรือ Needs for Learning ที่มุ่งสร้าง “ความพึงพอใจต่อความต้องการ หรือ Satisfy The Needs” เป็นสำคัญ

6. Designing a Pattern of Learning Experiences หรือ การออกแบบรูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้ 

ประเด็น Pattern of Learning และ Learning Experiences เป็นการออกแบบการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงหน่วยความรู้เพื่อพัฒนาทักษะและประสบการณ์ ซึ่ง Pattern หรือรูปแบบควรมีการเรียงร้อยจนเกิดประสบการณ์ที่ดีในการเข้าถึงบทเรียนหรือหน่วยความรู้ทุกชิ้นที่เตรียมไว้… ข้อควรระวังคือ ตัวรูปแบบการเรียนต้องไม่สร้างความสับสน จนผู้เรียนต้องเสียเวลาเรียนรู้ “รูปแบบแปลกๆ ใหม่ๆ หรือประหลาดๆ” ก่อนจะได้ความรู้ที่ต้องการก่อนทุกครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้าง “ความรำคาญโดยไม่จำเป็น” ให้ผู้เรียน… กรณีการทำ eLearning Pattern โดยส่วนตัวจะอ้างอิงแนวทางการออกแบบ UX หรือ Users Experience ที่คิดถึงการใช้งานด้วยทักษะพื้นฐานของผู้ใช้หรือผู้เรียนเป็นหลัก

7. Conducting with Suitable Techniques and Materials หรือ ดำเนินการด้วยเทคนิคและทรัพยากรที่เหมาะควร

ขั้นนี้เป็นขั้นดำเนินการ ซึ่งในวงการการจัดการศึกษาทุกรูปแบบ ล้วนมองว่าเป็นขั้นตอนที่เกิดข้อถกเถียง ย้อนแย้ง ลักลั่น เหลื่อมล้ำและมีคำถามจากประเด็นหยุมหยิมยิบย่อยที่สุด… เพราะขั้นนี้เป็นพื้นที่การส่งมอบองค์ความรู้ที่เตรียมมาทั้งหมด ซึ่งเทคนิคการเอาความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดต่อ หลายครั้งถ่ายทอดอ้างอิงการส่งเสริมพัฒนาการ หลายกรณีอ้างอิงทฤษฎีและหลักการเรียนรู้ ในขณะที่บ่อยครั้งปรับใช้เทคนิคและเครื่องมือทางการสื่อสาร… ประเด็นมีอยู่ว่า “วิธีการถ่ายทอด” เป็นรายละเอียดทางเทคนิคซึ่งหลายกรณีมีเรื่อง “ความลงตัว” กับ “ความสมบูรณ์แบบ” ของวิธีและแนวทางการถ่ายทอดส่งมอบองค์ความรู้ ที่มักจะมีเรื่องงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานให้ต้องพิจารณา… คำแนะนำเรื่องความเหมาะควรหรือลงตัวจึงไม่มีมาตรฐานกลางใดๆ ให้อ้างอิง… นั่นแปลว่า ต้องดำเนินการตามเป้าประสงค์ที่กำหนดขึ้นเฉพาะกรณีเป็นสำคัญ ขอเพียงอย่าให้ “ความไม่พร้อม” กลายเป็นอุปสรรคก็พอ

แต่คำแนะนำของ Dr.Malcolm Knowles จากประสบการณ์กว่าครึ่งศตวรรษที่คลุกคลีอยู่กับการจัดการศึกษาในผู้ใหญ่คือ การใช้ Contract Learning ซึ่ง Dr.Malcolm Knowles อธิบายว่า Contract Learning หรือ พันธกิจการเรียนรู้ สามารถแก้ปัญหาภูมิหลังที่หลากหลายของผู้เรียน รวมทั้งประสบการณ์ ความสนใจ แรงจูงใจและความสามารถที่เป็นลักษณะของกลุ่มผู้ใหญ่ส่วนใหญ่… โดยจัดหา “วิธีการสำหรับบุคคลหรือกลุ่มย่อย” จัดทำแผนการเรียนรู้เฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาการทำให้ผู้เรียนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของวัตถุประสงค์การเรียน… ซึ่งทุกกรณีสามารถแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะควร… หลายท่านที่เคยได้ยินคำว่า Personalized Learning มาแล้วคงร้องอ๋อ… แม้ Dr.Malcolm Knowles ไม่ได้เรียกแนวทางของเขาว่า Personalized Learning เลยก็ตาม

8. Evaluating the Learning Outcomes and Re-diagnosing Learning Needs หรือ ประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้และการเรียนรู้ที่ต้องปรับปรุงใหม่

การประเมินความรู้ตามอย่าง Andragogy จะกำหนดรูปแบบมาตรฐานการประเมินหลักๆ ไว้ 2 ส่วนคือ การประเมิน Needs ซ้ำตามรูปแบบที่พบในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งการค้นพบและกำหนดตัวแปร Needs จะมีการออกแบบเครื่องมือประเมินและเกณฑ์การประเมินคู่กันไว้ เพื่อใช้ Re-diagnosis of Needs เมื่อถึงคราวต้องประเมินผลการเรียนด้วย… ส่วนรูปแบบการประเมินแบบที่สอง เครื่องมือและเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ในขั้นตอนที่ 5 และเครื่องมือพร้อมเกณฑ์การประเมิน Learning Experience ตามรูปแบบย่อยตามโปรแกรมการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้ทั้งหมด

ทั้งหมด 8 ขั้นตอนพอเป็นแนวทาง จากการตีความแบบ Reder อ้างอิงหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development Eighth Edition ซึ่งชำระใหม่ปี 2015 หลังการจากไปของ Professor Dr. Malcolm Shepherd Knowles 18 ปี… 

ที่จะบอกก็คือ กรอบทฤษฎี Andragogy กับการตีความและประยุกต์ใช้งานยังอยู่ในยุคเริ่มวิวัฒน์เท่านั้นครับ หากขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ติชมผมได้เช่นเดิม… ตัวหนังสือที่ผมใช้อ้างอิงก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ให้น้ำหนักเนื้อหาช่วงท้ายๆ ไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร… ซึ่งทัศนะส่วนตัวมองว่า ท้ายที่สุดแล้วการศึกษาจะเกิดขึ้นเพื่อคนทำงานและวัยผู้ใหญ่มากที่สุด และเชื่อว่า ตลาดวิชาการสายผู้ใหญ่จะมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าตลาดทางการศึกษาจากปฐมวัยถึงอุดมศึกรวมกันหลายเท่าในอนาคตอันใกล้นี้

ตอนหน้าผมจะข้ามไปประเด็น New Perspectives on Andragogy อ้างอิง The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development… ครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts