The Climate for Adult Learning

The Climate for Adult Learning… บรรยากาศการเรียนรู้ในผู้ใหญ่

การมาถึงของยุคข้อมูลข่าวสาร ทำให้พัฒนาการด้านต่างๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และทำให้มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาไปจนตลอดอายุไข หรือที่หลายๆ ท่านคุ้นเคยกับคำว่า Lifelong Learning นั่นเอง… แต่คำว่า การเรียนและการเรียนรู้ สำหรับคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายังทำใจให้ชินไม่ได้หรอกว่า “การเรียนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน”

กรณีการเรียนของเด็ก… ภาพจำที่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนแบบเต็มเวลา ถือเป็นอารยธรรมโลกที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน

กรณีการเรียนของผู้ใหญ่… ภาพจำที่หมายถึงคนวัยทำงานต้อง “หยุดทำงานหรือลางานไปเรียน” ก็ถือเป็นอารยธรรมโลกที่องค์กรนายจ้างทุกรูปแบบทั้งรัฐและเอกชน ล้วนมีแนวปฏิบัติเรื่องแรงงานในองค์กรต้องหยุด ลาหรือขาดงานเพื่อไปเรียน… 

แม้หลายกรณีจะเป็นการเรียนที่องค์กรจัดขึ้นเพื่อเพิ่มความรู้ทักษะกันภายใน หลายครั้งก็ยังใช้แนวปฏิบัติ “ลาเรียน” มาใช้อยู่ดี ทำให้องค์กรนายจ้างส่วนใหญ่ ไม่ปลื้มที่จะใส่นโยบายพัฒนาทักษะและสติปัญญาของแรงงานในองค์กรนัก เพราะเกือบทุกกรณีคือ “โอกาสที่เสียหลายต่อ ตั้งแต่งบประมาณส่งเสริมไปจนถึงขาดคนทำงานเพราะลาเรียน” หลายองค์กรจึงเลือกคนมีความรู้ถึงและประสบการณ์พร้อม มาทำงานดีกว่า… ใครอยากเรียนก็เชิญลาออกได้เลยถ้าเลือกจะเรียน!!!

หลายคนชีวิตและอนาคตจึงสิ้นสุดที่ “ความรู้ชุดเดียวที่เคยเรียน” ซึ่งก็นานมาแล้วที่เคยเรียน ยาวไกลจากปัจจุบันเรื่อยๆ พร้อมๆ กับโอกาสใหม่ๆ ที่ล่องลอยอยู่เบื้องหน้า ก็หมดปัญญา… จนหลายคนได้แต่นั่งมอง “คนที่ได้เรียนมากกว่า” คว้าโอกาสไปต่อหน้าต่อตาครั้งแล้วครั้งเล่า

ประเด็นก็คือ… ผู้ใหญ่มีภาระหน้าที่และปัญหามากมายที่มีทั้ง “จำเป็นเร่งด่วนและสำคัญ” จนหาโอกาสทำเรื่อง “จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วนและสำคัญ” อย่างการพัฒนาตัวเองผ่านการศึกษาเรียนรู้ ที่หลายคนเลือกจะ “เอาไว้ก่อน” วันแล้ววันเล่าจนหมดโอกาสไปหลายอย่างในท้ายที่สุด

โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาชาติหรือพัฒนาคนในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร จึงตรงไปที่ Lifelong Learning ให้คนในชาติเข้าถึงการพัฒนาความรู้ ทักษะและสติปัญญาอย่างเสรี ไปพร้อมๆ กับการเติบโตรับผิดชอบภาระหน้าที่แบบผู้ใหญ่… เพื่อไม่ให้ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ “หมดคุณค่า” เพราะอยู่กับความรู้และทักษะเก่าที่เคยเรียนเมื่อสามปีห้าปีที่แล้ว… โดยเฉพาะคนที่เป็นครูบาอาจารย์และนักการศึกษา ก็ยิ่งต้อง Lifelong Daily Learning กว่าคนสายอื่น เพราะความรู้ยุคปัจจุบันมาพร้อมกับข้อมูลที่ Update รายชั่วโมงไปแล้ว… ความรู้สมัยอาจารย์ยังหนุ่มสาว ถ้าพิจารณาดีๆ จะทราบว่าที่ใช้ได้จริงในปัจจุบันมีน้อยมาก และอย่าเผลอให้ความรู้ที่เป็นปัจจุบันน้อยมากตามไปด้วยเลยครับ

การเรียนที่เป็นมิตรกับ Lifelong Learning จึงไม่สามารถ “พาคนมาหาบทเรียน” ได้อีกเหมือนในอดีต… แต่จำเป็นต้อง “พาบทเรียนไปให้ทุกคน” ซึ่งชุดความคิดการทำบทเรียนเพื่อให้คนหยุดทุกอย่าง “มาเรียนพร้อมกัน สอบพร้อมกันและจบการเรียนพร้อมกัน” จะไม่มีความจำเป็นอะไรอีก… เพราะบริบท Lifelong Learning ไม่มีส่วนไหนเหมือนการไปโรงเรียนเลยแม้แต่น้อย

เมื่อบริบทต่าง… บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมระหว่างการเรียนรู้จึงแตกต่างด้วย… ซึ่งบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้เป็น Lifelong Learning จึงจำเป็นต้องอ้างอิงบริบท “การจัดการศึกษาแบบผู้ใหญ่ หรือ Adult Learning หรือ Andragogy” ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับและปรับใช้ในปัจจุบัน และสามารถพิสูจน์ชัดจากแก่นแนวทางแล้วว่า Andragogy หรือการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ ล้วนเป็นปฏิสัมพันธ์กับสมองของผู้เรียน ที่แลกเปลี่ยนสื่อสารข้อมูลความรู้กับภายนอก และ Process หรือดำเนินการอยู่ภายในสมอง

บทความเรื่อง Neuroscience and Andragogy Principles… ประสาทวิทยากับหลักการพื้นฐานการศึกษาผู้ใหญ่ ที่เผยแพร่บน Reder.red ไปก่อนหน้านี้ ได้พูดถึงสมองมนุษย์พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อสภาพแวดล้อมเป็น “Adultness หรือบรรยากาศแบบโตๆ กันแล้ว” จนอารมณ์ความรู้สึกเป็นบวกอันทรงพลัง และเกิด “Good Stress หรือ ความคร่ำเคร่งในทางที่ดี” ทำให้สมองหลั่ง Dopamine และ Adrenaline ที่เป็นสารสื่อประประสาท หรือ Neurotransmitter… กระตุ้นให้สมองเกิดการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ เปรียบเทียบข้อมูลเก่าหรือประสบการณ์เดิม จนเกิดการพอกพูนของข้อมูลเป็นความรู้ในสมอง

ในหนังสือ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… จะมีคำแนะนำเรื่องบรรยากาสและสิ่งแวดล้อม หรือ Climate แทรกอยู่ทุกบทเป็นแนวคิดตัวอย่าง เมื่อต้องนำทฤษฎีบทต่างๆ ไปปรับใช้

คำแนะนำเรื่องออกแบบการเรียนรู้โดยใช้ทฤษฎี Andragogy หรือ การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จะออกแบบผ่านกลไก “การแลกเปลี่ยนสื่อสารข้อมูลความรู้กับภายนอก” และ “การแลกเปลี่ยนสื่อสารข้อมูลภายในเซลล์สมอง” อ้างอิง Andragogy Process Model ซึ่ง Reder.red เผยแพร่เบื้องต้นไปแล้วกับบทความตอนที่ชื่อ The Andragogical Process Model for Learning… 8 ขั้นตอนเตรียมสอนผู้ใหญ่ 

“การออกแบบบทเรียนและการออกแบบบรรยากาศการเรียน” ต้องเชื่อมโยงกับข้อควรคำนึงอย่างยิ่งคือ Honors and Respects the “Adultness” of The Learner หรือ ให้เกียรติและเคารพนับถือ “ความเป็น ผู้ใหญ่” ของผู้เรียน

Tracey Tokuhama-Espinosa เจ้าของแนวคิด Mind Brain Education Science หรือ MBE อธิบายว่า… แนวทางทั่วไปเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีได้แก่ การเตรียมให้มี… ความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจ การยอมรับนับถือ เสรีภาพทางทัศนคติและความคิดเห็น จัดการได้ด้วยตนเอง ท้าทาย  รับฟังและไม่เฉื่อยชาน่าเบื่อ

ทั้งหมดออกแบบสร้างและอ้างอิงหลักที่ได้จาก “แก่นข้อเท็จจริงที่ค้นพบอันเป็นที่ประจักษ์ หรือ Meta Finding” ที่ว่า… “Emotions หรือ อารมณ์” คือผู้เล่นหลักตัวสำคัญในการประมวลผลของสมอง สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ไม่สุภาพ สร้างความวิตกกังวล หรือแม้แต่กระตุ้นใช้งาน Limbic System หรือ ระบบสมองส่วนกลาง อันเป็นฐานบัญชาการด้านอารมณ์ความรู้สึกและความจำ “ในด้านลบ…”  การตอบสนองทางอารมณ์โดยตรงของ Limbic System จะขัดขวางการเรียนรู้จากอารมณ์เชิงลบทั้งหมด… ทำให้การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง!

ในทางตรงกันข้าม… หากสภาพแวดล้อมสนองอารมณ์เชิงบวกเกิดขึ้น การตอบสนองทางประสาทวิทยาจะยิ่งส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ เพิ่มความสนใจ และขับดันการเรียนรู้โดย อารมณ์เชิงบวกจะกระตุ้นให้สมองหลั่ง Dopamine และ Adrenaline ที่เป็นสารสื่อประประสาท หรือ Neurotransmitter ออกมาต่อเนื่องอย่างเพียงพอต่อการเรียนรู้

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts