Marguerite Duras เป็นนามปากกาของ Marguerite Donnadieu ผู้เป็นทั้งนักเขียน คนทำบทละคร และผู้กำกับภาพยนตร์ ที่โด่งดังและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส… งานของเธอเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะงานเขียนถือเป็นวรรณกรรมที่เผยแพร่ในหลายสิบภาษาทั่วโลกมายาวนาน
คำว่าวรรณกรรมในทัศนของผมคิดว่า ทั้งหมดเป็นงานเขียนที่สารหลักถูกดัดแปลงและซ่อนเป็นเรื่องเล่าผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ในวรรณกรรม ทั้งตัวละคร ฉากและธีมของเรื่องที่การเล่าเรื่องตรงๆ อาจจะทำได้ยาก หรือทำให้ชวนติดตามและจดจำได้ยาก
วรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดของ มาร์กูริต ดูราส อย่าง L’Amant หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Lover ถือเป็นนวนิยายที่ผู้เขียนอย่าง มาร์กูริต ดูราส ดัดแปลงสารหรือ Message หลายมิติใส่ลงไปในงานชิ้นสำคัญของเธอ… ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 1984 และได้รับการแปลอีก 43 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยใช้ชื่อว่า แรกรัก แปลโดยอินทิรา
The Lover เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กสาวชาวฝรั่งเศษ กับลูกชายคหบดีเชื้อสายจีนในไซง่อน ในบรรยากาศยุคที่เวียดนามยังเป็นอาณานิคมฝรั่งเศษช่วงปี 1929… การเดินเรื่องในนิยายเล่าผ่านมุมมองของเด็กสาววัย 15 กับช่วงเวลาที่เธอมีความสัมพันธ์กับหนุ่มวัย 29 ที่ให้คนขับรถรับส่งเธอระหว่างบ้านไปโรงเรียนและแวะรังรักในตรอกส่วนตัวทุกวี่วัน
สาร หรือ Message อย่างอำนาจทางเพศของสตรีในสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ถูกแฝงไว้ในหลายบทตอนของวรรณกรรมวาบหวามเรื่องนี้… ไล่ไปถึงประเพณีคลุมถุงชนของชาวจีนที่เป็นเหตุให้คู่รักต้องจบความสัมพันธ์ และที่ขาดไม่ได้คือการเมืองการปกครอง อาณานิคมและการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนเพราะอำนาจอีกแบบหนึ่งเช่นกัน
The Lover ถูกดัดแปลงเป็นบทภาพยนต์ออกฉายในปี 1992… กำกับการแสดงโดย Jean-Jacques Annaud นำแสดงโดย Jane March และ Tony Leung หรือ เหลียง เจียฮุย
เนื้อหาในหนังถ่ายทอดแบบเดียวกับที่ มาร์กูริต ดูราส สร้างธีมการเล่าเรื่องไว้ในบทประพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีเล่าเรื่องแบบกระแสสำนึก หรือ Stream of Consciousness บรรยายเรื่องราวในความคิดและจิตใจของตัวละครอย่างเด็กสาวฝรั่งเศส และความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่เธอหวนคิดถึงช่วงเวลาหนึ่งของเธอเมื่อนานมาแล้ว…
บทหนังและการคัดตัวนักแสดง สร้างเด็กสาวฝรั่งเศสให้เป็นตัวแทนของผู้หญิง ที่ยืนหยัดอยู่ภายใต้สังคมปิตาธิปไตยที่เพศชายถูกมองว่าชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำและผู้กำหนด… แต่คำว่า ‘ฉัน’ ในหนังที่มีบทสนทนาไม่มากนัก… กดให้ตัวละครชายในเรื่อง ล้วนอยู่ในสถานะด้อยกว่าเด็กสาวฝรั่งเศสอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นน้องชายแท้ๆ ที่เด็กสาวมองว่าใจเสาะและขี้แย… ตัวบิดาที่ตายจาก ทิ้งครอบครัวชาวฝรั่งเศษในอาณานิคมอย่างเวียดนามไว้ข้างหลัง จนครอบครัวของเธอต้องตกต่ำย่ำแย่และยากจน ต้องอาศัยอยู่ในย่านเสื่อมโทรมในไซง่อน ที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศษ ทั้งที่ชาวฝรั่งเศษเป็นเจ้าอาณานิคม… หรือแม้แต่ชายหนุ่มชาวจีนคู่รักในมุมคิดและการรับรู้ของเด็กสาวเอง ก็มองเขาในฐานะเบี้ยล่างที่ติดกับดักเสน่หาของเด็กสาววัยแค่ 15 นอกจากนั้น หนุ่มชาวจีนของเธอยังเป็นคนอารมณ์อ่อนไหว และอ่อนแอจากรูปกายผ่ายผอม แถมยังอยู่ในอำนาจของครอบครัวที่ยึดถือการคลุมถุงชนโดยไม่ดิ้นรนคัดค้านหรือต่อต้านอำนาจของบิดาที่ติดฝิ่นจนไม่ลุกไปไหน แม้จะหลงไหลเพศสัมผัสกับเด็กสาวฝรั่งเศษแค่ไหนก็ตาม
นักวิจารณ์จำนวนมากยกย่องสารหรือ Message ตอนท้ายของ The Lover จาก มาร์กูริต ดูราส ผู้แต่งเรื่องที่ส่งผ่านเด็กสาวฝรั่งเศษเมื่อต้องย้ายกลับแผ่นดินแม่ในยุโรป ซึ่งการหวนคืนบ้านเกิดในครั้งนี้ ส่งผลลัพธ์อันน่าเศร้าต่อตัวเด็กสาวฝรั่งเศษเอง ซึ่งการย้ายออกจากอาณานิคมของเธอ เท่ากับอิสระทางเพศซึ่งเป็นอำนาจแฝงในตัวของสตรีชาวยุโรปที่เธอเป็นตัวแทน ต้องกลับไปเป็นหญิงสาวในสังคมปิตาธิปไตย ที่ชายผิวขาวเป็นใหญ่เช่นเดิม… ผิดกับเมื่อครั้งที่เธอ สามารถครอบงำชายชาวจีนในอาณานิคม ที่ความเหลื่อมล้ำของเชื้อชาติเจ้าอาณานิคมกับชนชั้นคนท้องถิ่นในอาณานิคม ที่แม้จะเป็นชาย… ก็ไม่มีอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ มากดทับเสรีภาพใดๆ ของเด็กสาวฝรั่งเศษได้
ตัวหนังดำเนินเรื่องอย่างช้าๆ และเสนอภาพซีดๆ ขมุกขมัวที่ถ่ายทอดความรู้สึกคลุมเครืออีหลักอีเหลื่ออย่างน่าอึดอัด แต่ก็ยวนใจให้อยากดูไปทั้งเรื่อง… The Lover เป็นหนังที่ได้รับการยกย่องว่ามีเลิฟซีนที่สวยงามมากเรื่องหนึ่ง…
อ้างอิง