คนส่วนใหญ่ล้วนมีความยุ่งยากซับซ้อนส่วนตัวเป็นประเด็น “ไม่สุขสบายทางอารมณ์” ซึ่งมีแต่คนใกล้ชิดที่ใส่ใจเท่านั้นจึงจะเข้าใจว่า มีประเด็นไหนอย่างไรที่ทำให้คนใกล้ตัวเกิดอาการ “ไม่สบอารมณ์” ขึ้นมาได้บ้าง และ การอยู่เป็นคนใกล้ชิดกันโดย “ยอมเว้น” เรื่องไม่สบอารมณ์ต่อกันให้ได้มากที่สุด จะถือว่าต่างก็ได้มอบ “ความสุขสบายทางอารมณ์” ให้กันผ่านการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน
แต่คนส่วนใหญ่ต่างก็เคยมีประสบการณ์ จากพฤติกรรมคนใกล้ชิดหรือคนรู้จักที่ “ทำเรื่องไม่สบอารมณ์” ใส่ช่วงเวลาดีๆ ในชีวิตให้บูดเน่าเพราะวาจาและพฤติกรรมที่ขาดความใส่ใจ ซึ่งถ้าโชคร้ายไปเจอคนทำเรื่องไม่สบอารมณ์ใส่ในช่วงเวลาที่อะไรๆ ก็เลวร้ายย่ำแย่อยู่เดิม… เจ้ามนุษย์ร้ายกาจขาดสามัญจรรยาและกาลเทศะคนนั้นย่อมต้องเจอดีบางอย่าง “เอาคืน” จนได้สักครั้ง!
ประเด็นก็คือ… มีมนุษย์น่ารำคาญสำหรับมนุษย์อีกคนหนึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ส่วนใหญ่เสมอ… โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีพฤติกรรม “เป็นพิษ หรือ Toxic” กับคนใกล้ตัว 108 จำพวก ซึ่งมีพฤติกรรมก่อความรำคาญต่อผู้อื่นโดยที่เจ้าตัวยังเชื่อว่า… ตนเองคือที่สุดของคนประเภทที่โลกใบนี้ควรมีไว้มากๆ
นักวิจัยทางจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Nicole Hauke และ Andrea Abele จาก University of Erlangen-Nϋrnberg ได้พูดถึง “ประเด็นนินทา หรือ Gossip” ซึ่งเป็นมูลเหตุของความไม่สุขสบายทางอารมณ์ของคนส่วนใหญ่… โดยเฉพาะการนินทาโดยคนที่มีพฤติกรรม “เจ้ากี้เจ้าการ หรือ Meddling” ซึ่งมักจะเป็นประเด็น “Negative Gossip หรือ นินทาว่าร้าย” แก่คนที่ไม่ยอมเป็นเหยื่อความเจ้ากี้เจ้าการจนไม่เป็นที่สบอารมณ์
Nicole Hauke และ Andrea Abele ระบุว่า… การนินทาว่าร้าย หรือ Negative Gossip เป็นภัยคุกคามสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็นสำหรับ “เหยื่อ” คือ… อัตลักษณ์ หรือ Identity และ ชื่อเสียง หรือ Reputation
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… Nicole Hauke และ Andrea Abele พบนิสัยเจ้ากี้เจ้าการในพฤติกรรมนินทาว่าร้ายเสมอ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการแทรกแซงผู้อื่นด้วยคำถามเชิงกล่าวโทษ โดยเฉพาะการตั้งคำถามอ้างอิงหลักการทางคุณธรรมจริยธรรม และ ศีลธรรม รวมทั้งคำถามถึงทักษะทางสังคมและสติปัญญา ซึ่งนักนินทาว่าร้าย หรือ คนเจ้ากี้เจ้าการจะมีมาตรฐานบนความเชื่อของตัวเองอยู่ในแบบของตน… และใช้ความเชื่อ หรือ หลักการส่วนของตนมาจัดการ หรือ จัดระเบียบ หรือ พยายามจัดการผู้อื่นโดยไม่ใส่ใจว่าได้สร้างความรำคราญขึ้นในสายสัมพันธ์
ข่าวร้ายก็คือ… คนเจ้ากี้เจ้าการ และ คนชั่งนินทาว่าร้าย และ คนที่เป็นประเด็นให้ต้องเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ.. ล้วนไม่สบอารมณ์กับพฤติกรรมของอีกฝ่ายอย่างมากเสมอ… ซึ่งในทางเทคนิคถือว่าได้เกิดความขัดแย้งไปแล้ว
Nicole Hauke และ Andrea Abele มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่กลายเป็นประเด็นนินทาว่าร้าย จากคนเจ้ากี้เจ้าการทั้งทางตรงและทางอ้อมผู้ไม่สบอารมณ์กับเราว่า… ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจกับมุมมองกับทัศนคติของตนให้มาก และ ทำความเข้าใจกับ “ปมขัดแย้ง” ระหว่างมุมมองและทัศนคติของตน กับ ความพยายามชี้แนะมุมมองและทัศนคติของคนอื่น จากนั้นจึงเทียบดูกับความกังวลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ตัวตน และหรือ ชื่อเสียงที่เกี่ยวกับปมขัดแย้งที่พบ… และอย่าลืมทำความเข้าใจ “สาเหตุ หรือ เหตุผล” ของการถูกแทรกแซงมุมมองและทัศนคติส่วนตัวโดยบุคคลอื่น
ซึ่งถ้าพบ “ไม่สุขสบายทางอารมณ์” ของคนอื่นโดยจากมุมมอง หรือ ทัศนคติ หรือ พฤติกรรมใดๆ ของตนก่อน… ก็ควรจะเปิดใจกว้างๆ เพื่อเข้าใจปฏิกิริยาจากบุคคลอื่นที่ถูกทำให้ “ไม่สบอารมณ์” จนแทรกแซงเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ… แต่ถ้าเหตุผลที่ถูกแทรกแซงให้ “ไม่สบอารมณ์” ทั้งหมดนั้นขาดเหตุผล หรือ ทำไปโดยนิสัยดั้งเดิมติดแน่นของคนช่างเจ้ากี้เจ้าการ และ ชอบนินทาว่าร้ายเป็นปกติ หรือ ซ้ำซาก… ก็จัดคืนกลับบ้างก็ได้!
References…