ถามก่อนว่า… ท่านเป็นคนมีเสื้อผ้าเต็มตู้จนบางวันไม่รู้จะใส่อะไรหรือไม่?… สมมุติว่าท่านลังเลและใช้เวลาเลือกเสื้อผ้าวันละครึ่งชั่วโมง… ผ่านไป 30 วันท่านคงเสียเวลา 15 ชั่วโมงไปกับการเลือกเสื้อผ้าที่มีอยู่มากมาย ซึ่งถ้าพฤติกรรมใครก็ตามที่เสียไปกับการลังเลแค่เรื่องเสื้อผ้า ว่าจะใส่อะไรดีวันละครึ่งชั่วโมงสม่ำเสมอ… ปีหนึ่งๆ คงเสียเวลาเปล่าไปกว่า 160 ชั่วโมง หรือเสียเวลาเปล่าๆ ราวหนึ่งสัปดาห์ต่อปีทีเดียว
และถ้าใครก็ตามที่ลังเลเลือกยากเรื่องเสื้อผ้า ก็คงลังเลเลือกยากเรื่องอาหาร เรื่องเลือกของใช้และอะไรอีกมาก… ผมมีเพื่อนหลายคนที่เลือกซื้อรถโดยการตะเวนไปตามโชว์รูมรถยี่ห้อเดียวกันเพื่อซื้อรถรุ่นที่ตัดสินใจเลือกแล้วนั่นแหละ แต่ตามสืบเอาของแถมว่าที่ไหนให้คุ้มกว่า… ซึ่งความลังเลกับตัวเลือกหรือทางเลือกทำนองนี้ หลายกรณีทำให้คนดีๆ กลายเป็นคนน่าเบื่อไปเลยก็มี ในขณะที่หลายกรณีกลายเป็นอุปนิสัยที่ทำลายโอกาสอื่นมากมายที่เจ้าตัวเอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพลาดอะไรไปเพราะบกพร่องการตัดสินใจจนเสียเวลาที่ไม่ควรเสีย… ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็มักจะตัดสินใจไม่ต่างจากการตัดสินใจแรกอยู่ดี
ในทางทฤษฎี… การเลือกคือการกำหนดตัวเอง หรือ Self Determination อันเป็นความเชื่อมั่นทางใจที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองในด้านต่างๆ รวมทั้งแสดงตัวตน หรือแม้แต่การกำหนดรูปลักษณ์ของตัวเอง…
การเลือกยึดโยงอยู่กับปัญหาหลายแบบ ตั้งแต่ปัญหาทางจิตวิทยาซึ่งอธิบายพฤติกรรมการตัดสินใจเลือก… ในทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ก็พยายามทำความเข้าใจการเลือกของมนุษย์ ผ่านการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลของปัจเจก… นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองก็พยายามศึกษากระบวนการตัดสินใจเลือก… รวมทั้งนักปรัชญายังตั้งคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกด้วยว่า มนุษย์มีเจตจำนงเสรี หรือ Free Will แค่ไหนอย่างไรในการเลือก?
กรณีความหิวของคนยากจนกับความหิวของคนที่พยายามลดน้ำหนักที่มีต่อการเลือกอาหาร… ซึ่งคนยากจนขั้นหาน้ำสะอาดดื่มยังไม่มี ไม่ได้มีเสรีภาพในการเลือกอาหารหรือน้ำดื่มหรอก… แต่ทางเลือกที่มีอยู่จำกัดหรือแทบไม่มีเลยทำให้การตัดสินใจเรื่องอาหารไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ในขณะที่คนอยากลดน้ำหนัก ที่มีตัวเลือกอาหารมากมายให้ตัดสินใจ หลายกรณี “ลังเลเลือกไม่ได้” จากตัวเลือกมากมายเกินไปที่มีไว้ให้เลือก หรือเกิด Paradox Of Choice หรือเกิดย้อนแย้งขั้น “มีตัวเลือกให้เลือกมากมาย แต่ไม่มีที่อยากจะเลือก” ขึ้นมา
ผลงานตีพิมพ์เผยแพร่จากงานวิจัยอันลือลั่นของ Sheena Iyengar และ Mark Lepper หัวข้อ When choice is demotivating: Can one desire too much of a good thing? Journal of Personality and Social Psychology ซึ่งศึกษาวิธีตัดสินใจเลือกของคน ผ่านการทดลอง “ชิมเพื่อซื้อ” แยมทาขนมปังในซูเปอร์มาเก็ต… โดยการทดลองครั้งนี้ นักวิจัยได้ตั้งโต๊ะชิมแยมฟรีในซูเปอร์มาร์เก็ต… รอบแรกนักวิจัยวางแยมไว้เพียง 6 รสชาติให้กลุ่มตัวอย่างชิมและเลือกซื้อกลับบ้าน… อีกรอบวางแยมไว้ 24 รสชาติ หรือเพิ่มตัวเลือกเข้าไป 4 เท่า แล้วศึกษาเปรียบเทียบดูจำนวนคนที่หยุดมาลองชิมแยม หนึ่งประเด็น… และ ศึกษาเปรียบเทียบจำนวนคนที่ชิมแล้วตัดสินใจซื้อแยมชนิดใดชนิดหนึ่งกลับบ้านอีกหนึ่งประเด็น… สถิติเป็นแบบนี้ครับ
- โต๊ะแยม 6 รสชาติมีคนเดินผ่าน 242 คน… หยุดชิมแยม 40% หรือ N=104
- โต๊ะแยม 24 รสชาติมีคนเดินผ่าน 260 คน… หยุดชิมแยม 60% หรือ N=145
ที่น่าแปลกใจก็คือ… คนชิมแยมจากโต๊ะชิมเพียง 6 รสชาติ ซื้อแยมบางรสชาติกลับบ้าน 30% หรือ N=31… ในขณะที่คนชิมแยมที่โต๊ะ 24 รสชาติ ตัดสินใจซื้อแยมบางรสชาติกับบ้านเพียง 3% หรือ N=4 เท่านั้น
นักวิจัยอธิบายกรณีนี้ว่า… การมีตัวเลือกมากทำให้เกิดความลังเลแบบเลือกอันหนึ่งก็เสียดายอีกอันหนึ่ง… สิ่งที่เกิดขึ้นบนความลังเลนี้สามารถอธิบายผ่านโมเดลชื่อ Opportunity Cost หรือ การชั่งราคาของโอกาสที่เสียไปกับตัวเลือกที่ไม่ได้เลือก กับ ตัวเลือกที่อยากเลือก… ทำให้การมีตัวเลือกมาก ทำให้เกิดรู้สึกเสียดายมากเพิ่มขึ้นตามจำนวนตัวเลือก
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… เมื่อเราใช้เวลาพินิจตัวเลือกด้วย Opportunity Cost ด้วยความลังเลว่า… อันนี้ก็ดี อันนี้ก็เข้าท่าอยู่นั้น เราได้ใช้ต้นทุนเวลาซึ่งเป็นต้นทุนของโอกาสอื่นๆ จนเหตุการรักพี่เสียดายน้องจบลง… ถ้าเหตุลังเลไม่เกิดขึ้นเป็นประจำเหมือนซื้อรถเลือกของแถม แต่เกิดกับการเลือกเสื้อผ้าใส่แทบทุกวัน หรืออยากกินอาหารทุกเมนูเวลาหิวก็คงไม่ดีกับใครเท่าไหร่
หลายคนไม่ได้มองว่าความลังเลชักช้า โดยยังสามารถสะสางธุระตามตารางได้ไม่ผิดพลาดจะเป็นปัญหาใหญ่โตอะไร… ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหรอกถ้าท่านไม่ได้ให้คุณค่ากับเศษเวลาที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง ใช้ทำประโยชน์ได้คราวละ 5-15 นาทีต่อวันและทำได้วันละหลายรอบ… ซึ่งเศษเวลาเหล่านั้นให้ผลลัพธ์อะไรดีๆ มากโขเติมใส่ชีวิตพวกเขาได้ไม่น้อยต่อปี… ผมรู้จักคนที่ใช้เศษเวลาอ่านหนังสือจบเป็นหลายเล่มต่อปี เขียนกลอน วางโครงร่างแผนวันรุ่งขึ้น หรือแม้แต่ Reskill กับคลิปติวสารพัดที่หาได้ในมือถือ… และที่สำคัญกว่านั้นคือ สามารถตัดนิสัยจุกจิกร่ำไรออกจากตัวได้เยอะทีเดียวครับ!
References…