หลักการพาเรโต หรือ Pareto Principal หรือกฏ 80/20 ที่รู้จักกันทั่วไปในแวดวงนักบริหาร Pareto Principal พูดถึงการตีความเรื่องสำคัญที่มีอยู่เพียง 20% ในขณะที่เรื่องไม่สำคัญจะมีมากถึง 80%… เหมือนสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยธรรมชาติก็มีเพียง 20% เช่นกัน และสัดส่วนสิ่งด้อยประโยชน์ก็มีมากถึง 80% เช่นกัน

…เราใช้เสื้อผ้าเพียง 20% ของเสื้อผ้าที่มีอยู่ อีก 80% แขวน/พับ/เก็บ
…คน 20% ขับเคลื่อนผลักดันองค์กร ในขณะที่อีก 80% เป็นเพียงลูกหาบ
…คน 20% ผลิต GDP ได้ 80% ของ GDP ทั้งประเทศ ในขณะที่คน 80% ต้องพึ่งพาภาษีอากรที่คน 20% จ่ายภาษี
หลักการพาเรโตมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เพื่อมองหา “สิ่งสำคัญ” กับ “สิ่งไม่สำคัญ” ซึ่งหลายครั้งเราวนเวียนอยู่กับทุกๆ ประเด็นในชีวิตประจำวันจนไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญที่แท้จริงได้… สุดท้าย การไม่เข้าใจว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญ ทำให้มีเพียงคนส่วนน้อยแค่ 20% ที่กลายเป็นคนสำคัญได้
การเข้าใจกฏ 80/20 ของตัวเองจึงสัมพันธ์กับความสำเร็จและความล้มเหลวในชีวิตคนๆ หนึ่งทีเดียว…
เพื่อนผมคนหนึ่งใช้เวลาวันละ 3 ชั่วโมงหลังเลิกงานไปเรียน MBA สองปีต่อมาเพื่อนผมท่านนี้ได้ตำแหน่งใหม่และเงินเดือนสูงขึ้นเท่าตัว… เพื่อนผมท่านเดิมนี้ ออมเงิน 20% ทุกสัปดาห์ตลอด 2 ปี… อีกสิบปีต่อมาพอร์ตหุ้นจากเงินออมสองปีเพียงแสนบาทมีมูลค่าเป็นตัวเลขแปดหลัก…
ประเด็นก็คือว่า… คนส่วนใหญ่มองเรื่อง 80/20 หรือ 20/80 ในชีวิตตัวเองไม่ออก… ยกตัวอย่าง นักศึกษาคนหนึ่งเรียนจบได้งานทำ หลายคนเอาเงินเดือนๆ แรกใส่ซองไปกราบพ่อแม่เพื่อเป็นสิริมงคลหรืออะไรก็แล้วแต่… ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรผิด แถมดีงามน่ายกย่อง… แต่ถ้ามองจากมุมการจัดลำดับความสำคัญ… เงินยอดนั้นดูเหมือนจะถูกล๊อคตัวเลือกความสำคัญอื่นๆ หมดในนาทีนั้น ซึ่งลึกลงไปกว่านั้นผมมองว่าเป็นเรื่อง “ค่านิยมคนดี” ที่อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่ทำลายโอกาสใหญ่ๆ กว่านั้นได้… สมมุติว่า เงินเดือนๆ แรกถูกแบ่งไว้ 20% เป็นเงินออมเพื่อการลงทุน อีก 20% ใส่ซองไปกราบพ่อแม่เพื่อประกาศความสำเร็จ… และอีก 60% ใช้ดูแลตัวเอง… กรณีนี้จะเห็นว่า คนๆ นี้แสดงความกตัญญูด้วยการไม่เป็นภาระพ่อแม่แล้วหลังเรียนจบและมีรายได้ก้อนแรก และกันไว้ดูแลตัวเองให้พอ แถมยังวางแผน “ออมเพื่อการลงทุน” ยาวต่อเนื่องแบบคน “คิดเป็น” ที่เข้าใจดีว่า… แท้จริงแล้วพ่อแม่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าต่างหากที่ต้องการการดูแลจากเรา… การให้เงินเดือนๆ แรกทั้งเดือนจากมุมมองนี้จะเป็นเพียงคนหน้าใหญ่ใจโตโชว์ใจถึง… แล้วก็ให้พ่อแม่ดูแลรับผิดชอบตัวเองต่อไปอีกเดือนหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งกรอบคิดทำนองนี้จะเปลี่ยนยากมากเป็นค่านิยมความเชื่อ… ที่ท้ายที่สุดจะจัดลำดับความสำคัญและวางแผนอะไรไม่ได้เลย… แต่ก็เป็นคนส่วนใหญ่หล่ะครับ ไม่แปลกอะไร
ในทางธุรกิจ… นักบริหารเข้าใจดีว่า ลูกค้า 20% มักจะเป็นรายได้หลักของธุรกิจ… หรือแม้แต่โฆษณาที่ว่านออกไปทั้งหมด ก็มีเพียง 20% หรือน้อยกว่านั้นที่คนเห็นโฆษณาแล้วเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าได้… พนักงานในทีมก็มีเพียง 20% ที่ขับเคลื่อนบริษัท ในขณะที่อีก 80% อยู่ในฐานะผู้ช่วยที่หาทดแทนได้หรือแม้แต่ไม่มีก็ได้
ในทางเทคนิค… Pareto Principal หรือกฏ 80/20 หรือกฏทำน้อยได้มาก ถือว่าเป็นปรัชญาในการเพิ่มประสิทธิภาพให้ทุกอย่างที่เราต้องการได้… การมองหา 20% ที่สำคัญและโฟกัส… มักจะส่งผลที่คาดไม่ถึงและกระทบอีก 80% ในเชิงบวกได้ค่อนข้างชัดเจน
กรณีรายได้ 20% เพื่อออมและลงทุนจะชัดเจนที่สุดในการเทียบเคียง… ถ้าท่านเขียนตัวเลข 1000 บาทไป 24 แถว แทนการเก็บเงินเดือนละ 1000 บาท 24 เดือน… ท่านจะได้ผลบวกเท่ากับ 24,000 บาท ซึ่งโลกความจริงหากเงินทั้งหมดสะสมในบัญชีธนาคาร จะมีตัวเลขเกิน 24,000 บาทมาเล็กน้อยจากดอกเบี้ย… ถ้าสมมุติว่าเดือนที่ห้าของการเก็บเงิน ที่รวมตัวเลขได้ 5,000 บาท ซึ่งพอสำหรับการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นขั้นต่ำ และเด็กจบใหม่ทำงานมาห้าเดือนเอาเงินก้อนแรกไปซื้อหุ้น แน่นอนว่าเขาไม่มีแผนจะขาดทุนเพราะวางแผนและศึกษามาอย่างดี… พอถึงเดือนที่สิบ เขายังเพิ่มเงินลงทุนได้อีก 100% จากห้าพันบาทเป็นหนึ่งหมื่นบาท
ประเด็นก็คือ… เด็กจบใหม่อายุงานสิบเดือน มีศักยภาพในการเพิ่มสินทรัพย์ให้ตัวเองมากกว่า 100% ในสิบเดือน แถมด้วยความรู้เรื่องการลงทุนในหุ้นที่กลายเป็นเซียนหุ้นในอีกสามปีต่อมาได้สบายๆ
หลักการทำน้อยได้มากหรือกฏ 80/20 จะคล้ายๆ แบบนี้… มองหา 20% ที่สำคัญและโฟกัส… กับดักความสำเร็จและล้มเหลวที่คนส่วนใหญ่หาไม่เจอ อยู่ตรงนี้… และอุปสรรคสำคัญของการโฟกัสเรื่อง 20% เพื่อรับ 80% คือความเชื่อ ที่มักจะใหญ่กว่าเหตุผลหรือไม่ก็ “ดูเหมือนเป็นเหตุผลใหญ่” จนต้องทิ้ง 20% ที่สำคัญไว้ก่อน
โดยเฉพาะ… ความเชื่อที่ใหญ่กว่าเหตุผลของคนรอบๆ ตัวที่ลากเราเข้ากับดัก 80% ที่สำคัญน้อย… ถึงตรงนี้ขอให้เข้าใจว่า มีเพียง 20% ที่สำคัญ และที่เหลือจะเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญอีก 80%… แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าสัดส่วนว่าจำเป็นจะต้อง 80/20 เสมอไป อาจแตกต่างได้ แต่ให้สนใจสิ่งสำคัญเป็นหลัก
ความจริง Pareto Principle มีรายละเอียดลึกซึ้งระดับปรัชญา พร้อมตรรกะชั้นสูงต้องทำความเข้าใจกว่านี้มาก… ซึ่งหลักการพาเรโตถูกคิดค้นขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศษสัญชาติอิตาเลียนนาม Vilfredo Pareto… การประยุกต์ใช้จริงๆ จึงลึกซึ้งและยืดยุ่นมาก ที่หลายกรณีอาจได้เห็นมิติที่น่าตื่นตาตื่นใจที่คาดไม่ถึงก็มี… ท่านที่สนใจลองค้นดูเพิ่มเติมได้…
คำถามคือ… ท่านหา 20% ที่สำคัญและถูกต้องเจอหรือยังครับ?
อ้างอิง