Hate

The Philosophy of Hatred… ศาสตร์แห่งความเกลียดชัง #SelfInsight

อารมณ์และความรู้สึกเกลียดชังที่ใครคนหนึ่งมีต่อคนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง… โดยเนื้อแท้ถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และถือว่ามีไว้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพตัวเองเป็นพื้น… นั่นแปลว่า โดยอารมณ์ความรู้สึกขั้นเกลียดชังที่ประกอบด้วยความโกรธ หรือ Angry และความไม่พึงใจ หรือ Resentful เป็นปฐมเหตุนั้น… ถ้าตัดตอนพิจารณาเฉพาะส่วนที่เรียกว่าเกลียดชังล้วนๆ ก็ไม่เห็นผลเสียอะไรที่จะเกิดกับวงกว้างเกินกว่า “ใจตน และ ปัญญาตน” เพียงลำพัง

แต่ด้วยเหตุที่ความเกลียดชังส่วนใหญ่ หรือ ทั้งหมด… ล้วนถูกกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอกจนเกิดความไม่พึงพอใจ กลายเป็นโกรธ และ ก่อเป็นเกลียดชังปัจจัยภายนอกเหล่านั้นตามลำดับ ซึ่งปฏิกิริยาที่คนถูกกระตุ้นจนอยู่ในอารมณ์ไม่พึงพอใจไปจนถึงโกรธและเกลียดได้… จึงมักจะถูกจู่โจมจากปัจจัยภายนอกในแบบที่ไม่พอใจซ้ำหลายครั้งจนโกรธ และถูกจู่โจมจากปัจจัยภายนอกในแบบที่ทำให้โกรธซ้ำอีกหลายครั้ง… จนเกลียดชัง

ความเกลียดชังจึงมักจะตอบโต้ปัจจัยภายนอกทั้งหมดเหล่านั้นด้วยปฏิกิริยาการปกป้องสวัสดิภาพตัวเอง เพื่อสร้างสมดุลย์อารมณ์ ให้กลับไป หรือ หวังจะให้กลับไปในทางตรงกันข้ามกับความเกลียดชัง… ซึ่งก็คือความชอบ ความรักและความเมตตา… ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไปไม่ถึงความชอบด้วยซ้ำ แต่ความเกลียดชังก็ได้ลดลงไปมากเมื่อได้ “สะท้อนความเกลียดชัง เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ หรือ ต่อต้านออกไป”

ความเกลียดชังที่สัมพันธ์กับสัญชาตญาณในระดับสวัสดิภาพของมนุษย์ จึงมักจะแสดงปฏิกิริยา “ต่อต้านออกไปได้เกินคาด” ให้เห็นเสมอ จนกลายเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันเป็นสัตว์สังคมของมนุษยชาติ

Sigmund Freud อธิบายประเด็นเกลียดชังไว้ว่า… ความเกลียดชังเป็นสถานะของอัตตา หรือ Ego State ที่ต้องการตอบโต้ หรือ ทำลายสาเหตุแห่งความไม่สุข ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับ Self-preservation Psychology หรือ พฤติกรรมเพื่อปกป้องความอยู่รอดปลอดภัยให้ตนเอง

ส่วนในแนวคิด Object Relations Theory ของ Donald Winnicott จะมองความเกลียดชังผ่านความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นความเกลียดชัง ซึ่งการทำจิตบำบัดในประเด็นเกลียดชังของ  Donald Winnicott จึงทำผ่านการร่วมวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก เทียบกับการทำลายล้าง หรือ ตอบโต้ หรือให้เปลี่ยนไปตอบโต้ด้วยคุณค่าเชิงบวก เพื่อให้ความเกลียดชังที่ยังมีอยู่เสมอ กลายเป็นสัญลักษณ์เชิงอารยธรรมแทน

เหตุการณ์คุกเข่าเขย่าอเมริกาของ Colin Kaepernick ครั้งแรก

ปี 2016… Colin Kaepernick นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลทีม San Francisco 49ers คุกเข่าลงในขณะที่คนอื่นๆ ทั้งสนามยืนขึ้นร้องเพลง The Star Spangled Banner หรือ เพลงชาติอเมริกันอย่างพร้อมเพรียงก่อนการแข่งขันตามธรรมเนียม… ซึ่ง Colin Kaepernick อธิบายในภายหลังว่า เขาทำเหมือนไม่เคารพอเมริกาที่รักของเขาแบบนั้น ก็เพื่อต่อต้านความเกลียดชังที่มีต่อคนผิวสีในอเมริกา… ซึ่งโดยส่วนตัวมองกรณีนี้เป็นแนวทางสันติอหิงสา ในแบบที่ มหาตมะ คานธี ทำ Salt March หรือ Salt Satyagraha หรือ เดินสัตยาเคราะห์เกลือ ด้วยการเดินเท้าเป็นระยะทาง 390 กิโลเมตร ตอบโต้ความเกลียดชังและเอารัดเอาเปรียบเสมอทาสของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษในสมัยนั้น… ที่รีดนาทาเร้นเก็บภาษีแม้แต่เกลือในธรรมชาติที่จำเป็นกับชีวิต

ประเด็นก็คือ… ความเกลียดชังมีอยู่ทุกที่ที่มีคน และเป็นส่วนหนึ่งของคนทุกคนไม่ต่างจากกลิ่นตัวที่มีอยู่เสมอ จนต้องอาบน้ำชำระล้างเป็นประจำ และ ยังต้องรู้จักใช้เครื่องสำอางค์หรือของหอมมาปรุงแต่งเพิ่ม… โดยส่วนตัวจึงมองอารมณ์เกลียดชังเหมือนกลิ่นตัวที่ต้อง “หมั่นชำระล้าง” เพื่อไม่ให้ “ความไม่พึงพอใจ” พอกพูนกลายเป็นความเกลียดชังเหมือนคนไม่ได้อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า จนกลิ่นกายกลายเป็นเหตุให้ถูกเกลียดชังรังเกียจจากคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมด

ส่วนประเด็นการใช้ความเกลียดชังเป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ เพื่อทำลายอุปสรรคที่ขัดขวางเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะต้องแลกด้วยความวุ่นวาย หรือ เลยเถิดไปถึงขั้นกลายเป็นสงครามนั้น… ดูเหมือนจะยังเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ “ปั่นหัว” คนส่วนหนึ่ง ที่มีความไม่พึงพอใจเป็นเชื้ออยู่เดิม ให้คิดและให้รู้สึกถึงขั้นเกิดอารมณ์เกลียดชังจนกลายเป็นเครื่องมือของ “นักกลยุทธ์” ที่ใช้ศาสตร์มืด หรือ ด้านมืดในจิตใจคนมาเป็นเครื่องมือ

คำถามคือ… ท่านเคยกลายเป็นเครื่องมือของใคร เพราะถูกเขากระตุ้นความไม่พอใจในตัวท่านได้ จนกลายเป็นความเกลียด และ ทำหลายอย่างรับใช้ความเกลียดเหล่านั้นโดยไม่ไตร่ตรองหรือไม่?

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *