การสร้างตัวตนของคนๆ หนึ่ง ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กจนเติบใหญ่แก่เฒ่าและจากโลกไปในที่สุดนั้น… พัฒนาการ และ ประสบการณ์ในแต่ละช่วงวัยตลอดเวลาที่ผ่านไป ล้วนถักทอตัวตนของคนๆ นั้น… พอกพูนไปพร้อมๆ กันทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งสั่งสมพอกพูนด้วยประสบการณ์ทั้งยอดเยี่ยมและยอดแย่… เป็นตัวตนให้เป็นอย่างที่เป็นมา
กล่าวสำหรับตัวตนของคนที่ได้ชื่อว่า “ประสบความสำเร็จ” ไม่ว่าจะถูกนิยามผ่านมุมมอง หรือ นิยามในมุมใดก็ตามแต่… ย่อมมีสิ่งหนึ่งที่เชื่อได้ว่า “เป็นประสบการณ์ที่ดี ถูกสั่งสมพอกพูน” ให้คนๆ นั้นได้รู้สึกถึงการมีช่วงเวลาดีๆ ของตัวเอง… ได้อิ่มเอมปลาบปลื้มภาคภูมิ บนนิยามที่เรียกว่า “ประสบความสำเร็จ” ในบางสิ่ง หรือ หลายสิ่ง หรือ แม้แต่ทุกสิ่งเท่าที่ตัวเองรู้สึกได้เต็มเปลี่ยมตามนิยามนั้น
แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีแบบนั้น… หลายคนที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จให้อิ่มเอมปลาบปลื้ม หรือ ถึงขั้นถูกแซ่ซ้องยกยอจากคนอื่นรวมด้วย ก็มักจะ “ประสบความสำเร็จเพียงบางสิ่ง หรือ บางด้าน ในบางช่วงเวลาเท่านั้น”
นั่นแปลว่า… ยังมีอีกหลายสิ่งในประสบการณ์ชีวิตของคนๆ นั้น “ที่ยังไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดี ถูกสั่งสมพอกพูนไว้” ให้อิ่มเอมปลาบปลื้มกับอีกหลายสิ่งในชีวิต
การค้นคว้าของ Brené Brown ในระหว่างเป็นนักศึกษาปริญญาเอกผู้เติบโตมากับอาชีพนักสังคมสงเคราะห์ และเลือกพัฒนาดุษฎีนิพนธ์เพื่อให้เข้าใจ “ปัญหาทางสังคม” ที่เธอพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทารุณกรรมและการทอดทิ้งกันของคนในครอบครัว กระทั่งกลายเป็นปัญหาซับซ้อน ตั้งแต่คนเร่ร่อนไร้บ้าน ไปจนถึงการสร้างปัญหาระหว่างกันทั้งร่างกายและจิตใจ จนปรากฏเป็นบาดแผลจากสายสัมพันธ์แบบต่างๆ ทั้งความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก สามีภรรยา เพื่อน ญาติและคนรู้จัก… ซึ่งเป็นประสบการณ์ยอดแย่สั่งสมพอกพูนใส่ชีวิตจิตใจให้คนๆ หนึ่งรู้สึก “ล้มเหลว” จนเข้าขั้นขมขื่นอับอายชิงชังตัวเองและผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวก็มี
พูดถึงความรู้สึกอับอาย หรือ Shame… Professor Dr.Brené Brown ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตรจารย์ประจำ University of Houston และ University of Texas at Austin… และยังเป็นนักเขียน นักวิจัยด้านสังคมวิทยา และ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาสังคมซึ่งค้นพบ… ความเปราะบางในจิตใจอันส่งผลต่อความสัมพันธ์ ซึ่งสั่งสมพอกพูนเป็นประสบการณ์ยอดแย่ให้ทุกคนที่มี “ความอับอาย หรือ Shame” สะสมไว้เป็นประสบการณ์เก่า… ซึ่งเก่าได้ถึงขั้นย้อนกลับไปถึงวัยเด็ก 3 ขวบปีแรกทีเดียว
ข้อเท็จจริงที่ค้นพบมีว่า… จิตวิทยาเด็กเล็กในวัย 2–3 ขวบจะเป็นช่วงวัยที่เริ่มแสดงความสามารถ แลกกับการยอมรับ การสนับสนุน และ การให้คุณค่าจากคนรอบตัว ครอบครัว และ สังคม… ซึ่งถ้าเด็กได้รับประสบการณ์อันย่ำแย่ในทางตรงกันข้ามกับการยอมรับ… ทั้งการด่าว่า ติเตียน ล้อเลียน และ ลงโทษ… รวมทั้งประสบการณ์การถูกทอดทิ้ง หมางเมิน หรือ ถูกกระทำใดๆ จนสับสนขั้นไม่เข้าใจคุณค่าในสิ่งที่ตนทำ ไม่เข้าใจหรือสับสนต่อสิ่งที่ตนมี และ ไม่เข้าใจหรือสับสนต่อสิ่งที่ตนเป็น… ซึ่งท้ายที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่า ไม่มั่นใจในตนเอง สับสนในความสามารถ และ คุณค่าในตนเอง และ “รู้สึกอับอาย” บนปมที่สร้างประสบการณ์ยอดแย่นั้นพอกพูนสะสมไว้… จนกลายเป็น “ปม และ ปัญหากับความสัมพันธ์” เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ประเด็นก็คือ… เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเหตุการณ์ “ย้ำปม” บนทุกสายสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับปมอับอายต่ำต้อย หรือ ไร้ค่า… ร่องรอยความเจ็บปวดก็จะปรากฏเป็นพฤติกรรมเชิงลบหลายรูปแบบ ให้เห็น “ความอับอายอันเปราะบาง” ต่อความสัมพันธ์… ซึ่งความสัมพันธ์มีความสำคัญกับ “การรับรู้คุณค่าในตัวตน” ของทุกคน… ความรู้สึกอับอายที่ถูกตอกย้ำขั้นก่อความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ อยากหลีกเลี่ยง หรือ อยากทำลายต้นเหตุความอับอายนั้น… ล้วนกระทบกลับไปที่สายสัมพันธ์เสมอ
Professor Dr.Brené Brown อธิบายว่า… ความเปราะบางในจิตใจที่เรียกว่า Shame หรือ ความอับอาย ถือเป็น Fear หรือ ความกลัวรูปแบบหนึ่ง… โดยเฉพาะความกลัวต่อการถูกตัดขาดเมื่อรู้สึกถึงการถูก “บางคน” รับรู้ความความอับอายอันเปราะบางของตน โดยเฉพาะสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตน หรือ สิ่งที่ตนเคยทำลงไป… และสร้างร่อยรอยอับอายพอกพูนเป็นประสบการณ์ย่ำแย่มาก่อน
แต่ในงานค้นคว้าของ Brené Brown สมัยทำดุษฎีนิพนธ์ไม่ได้ค้นพบแต่ความอับอายที่สร้างความกลัวเท่านั้น… เพราะเธอได้ค้นพบความเปราะบางจากอับอายซึ่งกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยกลุ่มหนึ่งสามารถใช้เป็นพลังในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้… โดยพวกเขามีมุมมองต่อสิ่งที่ทำให้พวกเขาอ่อนไหวเปราะบางทุกประการ โดยเฉพาะ “ความอับอาย” ทั้งหลาย ทำให้พวกเขางดงามมากกว่าจะทำให้อ่อนแอ… แม้จะอับอายจนหวั่นไหว แต่ก็รักตัวเองพอและรักผู้อื่นเป็น… กล้าที่จะมองตัวเองตามที่เป็นจริง และ เห็นตัวเองอย่างที่เป็นจริง รวมถึงกล้าที่จะบกพร่อง และ ยอมรับความบกพร่องของตน…
นั่นหมายความว่า… ความอับอาย หรือ Shame แม้จะเกิดบนปมด้านลบจากความสัมพันธ์อันเปราะบางจนกระทบจิตใจ ซึ่งหลายกรณีกระทบจนถึงขั้นหวั่นไหวและหวาดกลัวก็ได้นั้น… สิ่งที่ชดเชยหรือเยียวยาได้ก็ยังเป็น “ความสัมพันธ์” อีกเหมือนกัน… เพียงแต่ต้องเริ่มต้นเยียวยาด้วยความสัมพันธ์ที่สร้างประสบการณ์ด้านบวกต่อตัวเอง และ ต้องเริ่มต้นที่ “ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเอง กับ ตนเองก่อน” และ เท่านั้น!!!
References…