คำว่า Silo หรือ ไซโลในทางธุรกิจและการจัดการจะหมายถึงการแยกส่วน แยกฝ่าย แยกแผนกทำงานโดยไม่แบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรระหว่างกัน ซึ่งจะถือว่าเป็นองค์กรที่แตกแยกภายในโดยวัฒนธรรมองค์กรก็ไม่ผิดนัก และ ยังถือเป็นวัฒนธรรมเพื่อรอวันล่มสลายได้ด้วย
ประเด็นก็คือ… วัฒนธรรมไซโลไม่เพียงแต่จะต่างคนต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างก็หวงทรัพยากรส่วนของตัวเองจนไม่แบ่งปันระหว่างกันเท่านั้น แต่ละพวกแต่ละฝ่ายยังแก่งแย่งทรัพยากรส่วนกลางที่อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหาร จนเกิดบรรยากาศฆ่าพวกพ้อง ร้องเรียนนาย และ ขายทุกคนที่จะทำให้ตัวเอง หรือ พวกตัวเองได้โอกาสเหนือพวกอื่น…
ข้อเท็จจริงก็คือ… วัฒนธรรมไซโลไม่ได้เกิดขึ้นแบบบังเอิญ ซึ่งข้อมูลมากมายจากการสำรวจและวิจัยทางการจัดการพบปัญหาหลักของการแบ่งแยกหรือแตกแยกในองค์กรทั้งหมด… มาจากความขัดแย้งระหว่าง “ผู้บริหาร หรือ ผู้ใหญ่” ที่ดูแลแต่ละส่วนงานนั่นเองที่เป็นสาเหตุหลัก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ความแตกแยกขัดแย้งในองค์กรเกิดขึ้นได้บ่อย ง่ายและรุนแรงเสมอเมื่อเกิดในองค์กรที่เป็นไซโลอยู่เดิม โดยเฉพาะการกล่าวโทษข้ามไซโลเพื่อโยนความผิดให้กัน และ เพื่อให้พวกตนไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาและรับผิดชอบการแก้ปัญหา… ซึ่งองค์กรที่โยนปัญหาออกจากความรับผิดชอบของตัวเองทั้งหมด… จึงเต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่มีเจ้าภาพ
แต่ส่วนที่น่าตกใจที่สุดก็คือ… ความแตกแยกขัดแย้งในองค์กรที่เป็นไซโลนั้นแก้ยากจนถึงขั้นแก้ไม่ได้เลยก็มี โดยเฉพาะความพยายามที่จะแก้โดยที่ “ตัวการ หรือ Key Person” ผู้ยังอยู่ในที่ๆ สร้างความขัดแย้งแตกแยกได้เหมือนเดิม ซึ่งถ้าต้องการแก้ไขโครงสร้างไซโลและความขัดแย้งภายใน โดยตัวการยังคงมีอิทธิพลอยู่ไม่ต่างจากเดิม… ส่วนใหญ่ก็ต้องเลิกคิดเพราะเสียเวลาเปล่า!
รายงานการสัมภาษณ์เชิงลึกของนักจิตวิทยาองค์กรและอุตสาหกรรมในหัวข้อ The Impact Of Silo Mentality On Team Identity: An Organisational Case Study โดย Frans Cilliers และ Henk Greyvenstein ยังพบประเด็นสำคัญจากการวิเคราะห์ข้อมูลว่า… ไซโลในองค์กรส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมเชิงโครงสร้างทางกายภาพขององค์กรเอง… นอกจากนั้นยังมีเรื่องความสัมพันธ์ภายในกลุ่มก้อนของคนในองค์กร และ ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม รวมทั้งประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรของผู้บริหารเป็นปัจจัยทำให้เกิด Silo ขึ้น
ข้อเสนอแนะจากรายงานของ Frans Cilliers และ Henk Greyvenstein ชี้ว่า… พฤติกรรมองค์กรที่สร้างบนหลักคิดแบบไซโล หรือ Silo Mentality ไม่สามารถจัดการได้ด้วยเทคนิคการจัดการทางกายภาพแบบ ยุบแผนก ย้ายคน จัดกีฬาสี หรือ จัดปาร์ตี้กิจกรรมทีมแบบฉาบฉวย… เพราะไซโลในองค์กรเมื่อเกิดไปแล้วจะเหมือนภูเขาน้ำแข็งคือ จะเห็นแต่ส่วนที่ขัดแย้งติดขัดฉากหน้าให้เห็น โดยรากเหง้าต้นตอที่ทำให้เกิดการโยนปัญหาออกจากตัว และ ความไม่ร่วมมือกันทั้งหมด… จะมองเห็นยากและจัดการได้ไม่ง่าย อันเนื่องมาจากลักษณะ “รากเหง้า” ของปัญหาทั้งหมด ซับซ้อนและเข้าถึงยาก… แต่ก็ต้องหาทาง หรือ หากลยุทธ์เข้าไปจัดการก่อนอื่น
เพราะการรวมไซโลในองค์กรคุ้มค่าที่จะลงทุนลงแรงจัดการอย่างที่สุดเสมอ
References…