Rolls Royce Spirit of Ecstacy

The Spirit of Ecstasy

Rolls Royce แบรนด์รถยนต์สุดหรู และเจ้าของสิทธิบัตรชิ้นส่วนเครื่องยนต์เจ็ตที่ใช้กับเครื่องบินมากมาย กับตำนานเกินร้อยปีที่แบรนด์ผ่านร้อนผ่านหนาว อยู่คู่พัฒนาการของการเดินทางทั้งบนดินและในอากาศ จึงมีเรื่องเล่าบันทึกไว้เป็นมรดกตกทอดเยอะมากๆ

เรื่องเทคโนโลยีกับนาม Roll Royce มีแง่มุมเต็มไปหมดให้หยิบยกมาพูดถึง ในฐานะคนที่มีแรงบันดาลใจ หรือ Passion อย่างสูงกับเทคโนโลยี ผมเป็นคนหนึ่งที่แอบศึกษาข้อมูลสิทธิบัตรที่ Roll Royce ถืออยู่ เพื่อหาจุดเริ่มต้นจากความว่างเปล่า เมื่อต้องทำงานกับโจทย์ยากๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีชั้นสูง…

ที่จริงงานที่ผลักผมเข้าไปหาข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นงานระดับศึกษาเอกสาร และหาข้อมูลอ้างอิงเท่านั้นแหละครับ โอกาสที่จะได้เจอทฤษฎีพลิกโลก หรือพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมอมตะ

…คงต้องเกิดใหม่อีกหลายรอบอยู่!!!

คีย์เวิร์ดที่ผมจั่วหัวเรื่องไว้คือคำว่า “อมตะ” นี่แหละครับ… The Spirit of Ecstasy

มาสคอตรูปหญิงสาวโบยบินเหนือกระจังหน้ารถยนต์ Rolls Royce อันเป็นอัตลักษณ์ของรถยนต์ที่ได้ชื่อว่าหรูหราที่สุดนั่นแหละครับมีชื่อว่า The Spirit of Ecstasy

Charles Robinson Sykes เป็นผู้ออกแบบมาสคอตชิ้นนี้เอาไว้ตั้งแต่ปี 1909 สำหรับรถยนต์ Rolls Royce Silver Ghost มาสคอตสุดโรแมนติกในทัศนของผมชิ้นนี้ Sykes เลือกหญิงสาวชื่อ  Eleanor Velasco Thornton เป็นแบบ ซึ่งโมเดลแรกยังไม่ได้มีชื่อเรียกว่า The Spirit of Ecstasy อย่างในปัจจุบัน แต่ Sykes ตั้งชื่อว่า The Whisper 

Eleanor Velasco Thornton

รูปปั้น The Whisper ไม่ได้มีหน้าตาอย่าง The Spirit of Ecstasy โฉมปัจจุบันหรอกครับ… แต่เป็นรูปปั้นหญิงสาวยืนเอียงข้างเล็กน้อย และยกนิ้วชี้ซ้ายมาแตะริมฝีปาก ซึ่งเริ่มแรก… ผมเข้าใจว่า Lord Montagu เป็นคนจ้างชีคส์ โรบินสัน ทำขึ้นแต่งรถของท่านลอร์ดเอง โดยแฝงนัยยะสุดโรแมนติกฝากไว้เป็นตำนาน ก่อนที่ Claude Johnson ผู้เป็น MD ของ Rolls-Royce Motor Cars ช่วงนั้นจะเลือกรูปปั้นเอเลนอร์ ธอร์นตันมาใช้อย่างเป็นทางการ และมาสคอตบนกระจังหน้ารถยนต์ Rolls Royce ก็มีรูปทรงหลายแบบ พร้อมชื่อเรียกอย่างเป็นทางการก็มีการเปลี่ยนไปหลายชื่อ… ก่อนจะมาจบที่ชื่อ The Spirit of Ecstasy และเอเลนอร์ย่อตัวโน้มไปข้างหน้า กางแขนโบยบินจนอาภรณ์ปลิวลู่ลมอย่างในปัจจุบัน

แต่ผมจะเล่าหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องรูปปั้น แต่เป็นเรื่องราวของ Eleanor Velasco Thornton หญิงสาวยุคก่อนสงครามโลกจาก Cottage Grove ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ… ซึ่งผมเข้าใจว่า ในยุคนั้นแถบ Cottage Grove คงเป็นชานเมืองอยู่

เอเลนอร์ ธอร์นตันเป็นบุตรีของ Frederick Thornton และ Sarah Ann Thornton ครับ ตามประวัติที่บันทึกลง Wikipedia ระบุว่า บิดาของเอเลนอร์เป็นวิศวกรโทรเลขเชื้อสายออสเตรเลียและมารดาเป็นชาวสแปนิช… ถ้าเป็นปัจจุบันก็ถือว่าเป็นลูกต่างด้าวที่เกิดในลอนดอน… น่าจะประมาณนั้น

ปฐมบทของเรื่องราวและชื่ออันเป็นนิรันดร์ของเอเลนอร์ ธอร์นตัน เริ่มขึ้นเมื่อเธอเรียนจบและเข้าทำงานกับนิตยสารรถยนต์ชื่อ Car Illustrated ในตำแหน่งเลขานุการของ John Walter Edward Douglas-Scott-Montagu หรือ Lord Montagu of Beaulieu ซึ่งทั้งคู่ก็ตกหลุมรักและสร้างความสัมพันธ์จนมีบุตรีด้วยกันหนึ่งคน ชื่อ Joan Eleanor Thornton

แต่ด้วยเหตุผลทางสังคม ชนชั้นและบรรดาศักดิ์ ท่านลอร์ดมอนตากูที่สองจึงต้องสมรสกับ Lady Cecil Kerr และทำให้รักแท้ของท่านลอร์ดและ Eleanor Thornton กลายเป็นความสัมพันธ์นอกสมรสที่แม้แต่ Joan บุตรสาวของทั้งสองเอง ก็เป็นได้เพียงเด็กในอุปถัมภ์ของท่านลอร์ดผู้เป็นบิดาโดยสายเลือด

ข้อมูลหลายชิ้นที่ผมค้นคว้าเพิ่มเติมชี้ว่า เป็นท่านลอร์ดมอนตากูเองที่ให้ Eleanor หญิงสาวอันเป็นที่รัก เป็นแบบให้ชาร์ล โรบินสัน ชีคส์ (Charles Robinson Sykes) ปั้นมาสคอตจากเอเลนอร์ประดับไว้กระจังหน้ารถ Rolls Royce ของตัวเอง เพื่อจะมีเอเลนอร์ไปกับท่านลอร์ดด้วยทุกหนแห่ง… ก่อนที่โรงงาน Rolls Royce จะคิดมีมาสคอตประดับกระจังหน้ารถเสียอีก

แน่นอนว่า กระจังหน้าที่โรงงานเลือก สุดท้ายจึงเป็น The Whisper เพราะมีรถยนต์ Rolls Royce อยู่หนึ่งคันที่ประดับอยู่ก่อนแล้ว

อุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคเริ่มต้น ที่รถยนต์แต่ละคัน เป็นงานฝีมือหรือ Crafted ขึ้นเป็นคันๆ วิ่งปะปนกับรถม้าในยุคที่ การมีรถยนต์ต้องมีวิศวกรนั่งควบคุมรถไปด้วย พร้อมๆ กับคนโบกธงแดงเตือนชาวบ้านว่า Dead Machine กำลังมา… หลายท่านคงนึกไม่ออกว่าขับรถต้องมีคนโบกธงกั้นทางมันเป็นยังไง ก็ให้ไปดูรถไฟไทยที่ยังมีนายธงบริการความปลอดภัยอยู่ทุกสถานีน๊ะครับ… เพราะอีกหน่อยอาชีพนี้คงหายไปเช่นกัน

เรื่องกฏหมายธงแดงในอังกฤษ กับประเด็นกฏหมายที่ล้าหลังกว่านวัตกรรม เป็นกรณีตัวอย่างที่พูดถึงกันมากแวดวงสตาร์ทอัพที่ผมคลุกคลีอยู่… ไว้วันหลังจะเอาเรื่องนี้มาเล่าแบ่งปันครับ

กลับมาที่เอเลนอร์ ธอร์นตัน และท่านลอร์ดที่เดินทางด้วยกันครั้งสุดท้ายบนเรือ SS Persia เพื่อไปอินเดีย วันที่ 30 ธันวาคม ปี 1915 เรืออูหรือเรือดำน้ำเยอรมัน ก็จมเรือ SS Persia ที่มีผู้โดยสารนับร้อยจมไปกับเรือ รวมทั้งเอเลนอร์ ธอร์นตันด้วย

แม้ท่านลอร์ดมอร์นตากูจะรอดชีวิตจากเหตุเรือจมคราวนั้น… แต่สำหรับเอเลนอร์ ธอร์นตันกลับหายไปกลับท้องทะเลตั้งแต่วันนั้น ทิ้งไว้เพียงตำนานและชื่อ ที่สร้างไว้ด้วยความรักของชายหญิงคู่หนึ่ง ที่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เรื่องราวของพวกเขา ถูกเล่าขานมาจนบัดนี้… และอีกนาน

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts