The Strategies of High Performing Learning Organizations… ยุทธศาสตร์องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูง #SaturdayStrategy

วารสาร The Journal of Business Strategy ยกย่อง  Professor Dr.Peter M. Senge ให้เป็นนักยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษ หรือ Strategist of the Century และ เป็น 1 ใน 24 บุคคลของโลกที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อการทำธุรกิจในโลกปัจจุบัน… โดยการยกย่องนี้มาจากผลงานที่ Peter Senge ใช้เวลาหลายปีใน MIT Sloan School of Management ศึกษาค้นคว้าแนวทางการยกระดับองค์กรธุรกิจให้มีความสามารถในปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20… ซึ่ง Peter Senge ได้รวบรวมผลงานออกมาเป็นหนังสือ The Fifth Discipline: The art and practice of the learning organization ในปี 1990 ซึ่งทำให้โลกธุรกิจได้รู้จักแนวคิด “องค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization” โดยได้รับความสนใจ และ นำหลักการไปประยุกต์ใช้ในองค์กรทุกรูปแบบอย่างรวดเร็ว… หนังสือ The Fifth Discipline ของ Peter Senge ได้กลายเป็นมหาคำภีร์ที่นักบริหารทั่วโลกต้องหาอ่าน และ วารสาร Harvard Business Review ยกย่องหนังสือ The Fifth Discipline ให้เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ดีมากเล่มหนึ่งในรอบ 75 ปี

องค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization จะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่คนทำงานในองค์กรมีการปรับเพิ่มศักยภาพของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างผลงานอันพึงประสงค์ผ่านรูปแบบการคิด หรือ Patterns of Thinking กล้าคิด และ ยอมรับสิ่งใหม่อย่างอิสระภายใต้การเรียนรู้ร่วมกันของคนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง… ทำให้องค์กรตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม ทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น หรือ Flexible… ปรับตัว หรือ Adaptive และ มีผลิตภาพ หรือ Productivity ที่ดีพอต่อการอยู่รอด และ เติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง…

ประเด็นก็คือ การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization นั้นไม่ง่าย… เพราะการจะเกิดการเรียนรู้ในองค์กรจะหมายถึง “คนในองค์กรต้องเกิดการเรียนรู้” ซึ่งอะไรก็ตามที่จำเป็นต้องเรียนรู้จะหมายถึง… สิ่งใหม่ หรือ ความรู้ใหม่ หรือแม้แต่ทักษะใหม่ที่คนในองค์กรต้อง “พยายามครั้งใหม่” ซึ่งไม่ใช่ทุกคนในองค์กรที่อยากจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อไปทำอะไรนอกเหนือ หรือ เกินกว่าที่เคยทำมาแบบที่เรียกว่า ต้องออกจากโซนสุขสบาย หรือ Comfort Zone ของตน… 

ข่าวร้ายก็คือ… การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization ด้วยการฝึกอบรมกระจุ๋มกระจิ๋ม หรือ แม้แต่การประชุมใหญ่นั่นนี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นไม่พอ… โดยคำยืนยันจาก David Mallon หัวหน้าฝ่ายวิจัยของสำนักงานที่ปรึกษา Bersin by Deloitte ระบุว่า… วิธีการเรียนรู้ และ การฝึกอบรมแบบเดิมๆ ในองค์กรไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะงาน และ การเรียนรู้สำหรับคนในองค์กรไม่สามารถแยกออกจากกันได้… ซึ่งการวิจัยเชิงลึกของ Bersin by Deloitte พบว่าคนในองค์กรไม่ต้องการเรียนรู้นอกบริบท… นั่นหมายความว่า การจะสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ต้องเข้าใจ และ ออกแบบวัฒนธรรมองค์กรให้ไกลกว่าเป้าหมายขององค์กร และ ขอบเขตความรับผิดชอบของคนในองค์กร โดย David Mallon ยืนยันด้วยข้อมูลจากการศึกษาเชิงลึกว่า… ต้องไปให้ถึงวิธีที่พนักงานเรียนรู้ และ ความต้องการการสนับสนุนในการเรียนรู้ของพวกเขา… และ ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ให้บรรลุไปถึงขั้น “การตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อองค์ความรู้ใหม่ที่ส่งผลต่อการจัดการเป้าหมาย และ วิสัยทัศน์องค์กร รวมทั้งการจัดการเป้าหมาย และ ปัญหาความต้องการในหน้าที่การงาน และ ความสำเร็จของตน” ซึ่งจะทำให้องค์กรถูกยกระดับจากองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั่วไป กลายเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูง หรือ High Performing Learning Organizations” ซึ่ง David Mallon แนะนำยุทธ์ศาสตร์เพื่อการบรรลุเป้าหมายของการเป็น High Performing Learning Organizations เอาไว้ 4 แนวทางสำหรับการออกแบบ และ ประเมินการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูง ได้แก่

  1. Designed For Growth หรือ ออกแบบเส้นทางการเติบโต … องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูงจะแบ่งเวลา และ ทรัพยากรออกเป็นสองส่วน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในบทบาทปัจจุบันผ่านการเรียนรู้แบบทันทีทันใดหนึ่ง และ นำเสนอเส้นทางการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้พนักงานในระยะยาว
  2. Support Engineered Exploration หรือ มีกลไก เส้นทางและการสนับสนุนการค้นหา… องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูงจะสร้างเงื่อนไขที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถควบคุมชะตาตนในที่ทำงานได้ และ มีทางเลือกสำหรับอนาคตของพวกเขาด้วยกระบวนการ และ ความชัดเจนในการตัดสินใจภายใต้สมดุลความเสี่ยง กับ ความท้าทาย
  3. Offer Guided Adaptation หรือ เสนอแนวปฏิบัติเพื่อการปรับตัวอย่างรวดเร็ว … องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูงจะเตรียมไกด์ไลน์ และ สภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับบุคคล และ ระดับองค์กร เพื่อให้พวกพนักงานใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อเร่งประสิทธิภาพโดยเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น และ ปรับตัวดีขึ้น
  4. Engage In Accelerated Evolution หรือ การมีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตร่วมกัน … องค์กรแห่งการเรียนรู้สมรรถนะสูงจะปรากฎวิวัฒนาการอันเป็นผลมาจากการเรียนรู้อย่างชัดเจน ซึ่งในขั้นการการทำงานและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกันยังจะเห็นการปรับเปลี่ยน Mindset และ Framwork อย่างรวดเร็วโดยข้ามผ่านการถกเถียงใดๆ จนกว่าจะเกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ ซึ่งหัวข้อถกเถียงหลังจากนั้นจะสร้างสรรค์ และ เต็มไปด้วยคุณค่าอย่างแท้จริง

รายละเอียดคร่าวๆ พอเป็นแนวทางจะประมาณนี้… ซึ่งท่านที่สนใจแง่มุมทางเทคนิคเพื่อพัฒนา Learning Organization ธรรมดาไปสู่ High Performing Learning Organizations จริงๆ ยังคงต้องประยุกต์ และ ศึกษาบริบทขององค์กรเป็นรายกรณี… 

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts