งานวิจัยด้านจิตวิทยาความสัมพันธ์ ซึ่งตีพิมพ์ใน Current Opinion In Psychology ฉบับเดือนเมษายน 2022 ในหัวข้อ Sacrifices: Costly Prosocial Behaviors In Romantic Relationships โดย Francesca Righetti ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การเสียสละ หรือ Sacrifices” ที่ Assoc. Prof. Francesca Righetti ยืนยันว่า… การเสียสละในหลายบริบทจะทำลายความสัมพันธ์มากกว่าจะส่งเสริม โดยเฉพาะในความสัมพันธ์โรแมนติกแบบคู่รัก
กรณีการเสียสละให้กันของคู่รัก ซึ่งจะมีสถานการณ์ “ความต้องการซ้อนทับ” ในแบบที่ “คนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งจะไม่ได้” ในเกือบทุกเรื่องในชิวิตประจำวันถึงขั้นที่ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด “ต้องละวางความต้องการของตัวเอง” หรือก็คือการที่คนหนึ่ง “ต้องเสียสละ” ให้กับอีกคนหนึ่ง ซึ่งในค่านิยมด้านศีลธรรมของศาสนา และ จารีตโบราณส่วนใหญ่ “ชื่นชมยกย่องคนที่ไม่ได้อะไรอย่างที่ตัวเองต้องการ” โดยไม่มีความชัดเจนว่ามันดีกับความสัมพันธ์ หรือ มันบ่อนทำลายความผูกพันกันแน่
การศึกษาพฤติกรรมเสียสละต่อกันของคู่รักในงานวิจัยทางจิตวิทยาของ Assoc. Prof. Francesca Righetti ซึ่งในทางจารีตให้ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับคนที่ยอมละทิ้งผลประโยชน์ หรือ ความต้องการของตนเอง อันเนื่องมาจากฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงตามความต้องการของตน มักจะรู้สึกขอบคุณ หรือ ภาคภูมิใจต่อคนที่ช่วยให้ตนเองได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ… แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับผลที่ตามมาในภายหลัง ซึ่งผู้เสียสละล้วนมีความสุขลดลง ในขณะที่คนได้รับประโยชน์ก็มีความรู้สึกปนเปกันระหว่างรักและขอบคุณ กับ รู้สึกผิดและติดค้างผู้ให้… โดยไม่มีส่วนไหนเป็นบวกอย่างแท้จริงในความสัมพันธ์เลย
Assoc. Prof. Francesca Righetti อธิบายเพิ่มเติมว่า… การเสียสละเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการละวางความชอบ หรือ เป้าหมายของตนเองเพื่อผู้อื่น… ซึ่งก็เป็นคนละเรื่องกับพฤติกรรมการทำตามกฏเกณฑ์เพื่อให้ตนเองได้ทำในสิ่งที่ชอบ หรือ ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ หรือ สังคม ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการเสียสละ แม้จะต้องแลกเปลี่ยนด้วยอะไรขนาดไหน หรือ ให้อะไรไปถึงขั้น “เจ้าบุญทุ่ม” ก็ตาม… เพราะนั่นเป็นเพียงการยอมสละเพื่อให้ได้สิ่งที่ชอบ หรือ สิ่งที่ต้องการ… แต่การยอมสละความชอบ หรือ ความต้องการ หรือ เป้าหมายของตัวเอง “จนด้อยกว่า” ของคู่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด หรือ คนอื่นๆ ในสายสัมพันธ์ทุกแบบ โดยเฉพาะการได้เงื่อนไข “ด้อยกว่าผู้รับ” จะถือเป็นการเสียสละที่แท้ และ การศึกษาของ Assoc. Prof. Francesca Righetti ถือเป็นพฤติกรรมที่มีผลกระทบด้านบวกน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม… ผลการวิเคราะห์จากงานวิจัย Sacrifices: Costly Prosocial Behaviors In Romantic Relationships โดย Francesca Righetti ได้พบแง่มุมการเกิดพลังความคิดเชิงบวกจากการเสียสละที่เกิดกับผู้เสียสละที่ใช้มุมมอง “สิ่งที่ตนได้รับ” ซึ่งจะเปลี่ยนความคิดจาก “สิ่งที่เสียไป” ให้กลายเป็นความชอบ และหรือ ความพึงพอใจในสิ่งที่ได้รับ แม้จะเป็นเพียงคำขอบคุณ หรือ ไม่มีอะไรเลยก็ตาม… ซึ่งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการเสียสละ “ต้องไม่ละลืม” ที่จะชื่นชม และ ให้ค่ากับการเสียสละที่รับรู้ได้อย่างจริงใจ
เอาเป็นว่า… ถ้าคนใกล้ตัวท่านยกรีโมททีวีเครื่องเดียวที่มีในบ้านให้เราได้ดูรายการที่ชอบ หรือ เราได้เข้าร้านอาหารที่เราชอบทุกอย่างแต่อีกฝ่ายแทบจะหาอะไรหย่อนเข้าปากไม่ได้ หรือ คนใกล้ตัวต้องทนพฤติกรรม “กูก็เป็นของกูแบบนี้แหละ” อยู่เรื่อย… ก็อย่าลืมเห็นแก่ตัวให้น้อยลงหน่อย เพราะถ้าอีกฝ่ายทำแบบเดียวกันขึ้นมาเมื่อไหร่… อะไรๆ แทบทุกเรื่องก็มักจะไม่ง่ายอีกต่อไป
References…
- https://www.sciencedirect.com
- https://psychology.fandom.com
- https://us.calmerry.com
- https://www.psychologytoday.com