มนุษย์รู้จักใช้พิษมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีการใช้เพื่อกิจกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่เพาะปลูก ถนอมอาหารไปจนถึงฆ่ามนุษย์อีกคนก็มีการใช้พิษกันอย่างกว้างขวาง… มีบันทึกมากมายทั้งในอียิปต์ กรีกและอินเดียโบราณที่ ชนชั้นสูงยุคนั้นมีการใช้พิษเพื่อกำจัดเป้าหมายในหลายกรรมหลายวาระ

ประเด็นก็คือ… ร่างกายและลมหายใจของคนเรา หรือ แม้แต่สิ่งมีชีวิตพืชสัตว์อื่นๆ ล้วนอ่อนไหวต่อพิษบางชนิดที่สามารถทำลายล้างหรือฆ่าสิ่งมีชีวิตจนตายได้
ในคัมภีร์สมัยอียิปต์โบราณมีการกล่าวถึงพิษชนิดต่างๆ ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เป็นเอกสารทางด้านพิษวิทยาที่เก่าแก่ที่สุด… ส่วนศาสตร์ด้านพิษวิทยาได้รับการยอมรับว่าเริ่มต้นขึ้นอย่างจิงจังในยุคของ พาราเซลซัส หรือ Paracelcus หรือชื่อเต็ม Philippus Aureolus Theophrastus Bombastus von Hoehenheim ราว ค.ศ. 1493 – 1541
Paracelcus เป็นแพทย์และนักเคมีชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาพิษวิทยา และเป็นผู้เสนอแนวคิดสองเรื่องเกี่ยวกับพิษคือ ต้องมีการทดลองและให้ความสำคัญกับการทดลอง… และให้ความสำคัญกับ “ขนาด” เพราะถ้าเราได้รับขนาดของพิษในระดับที่ต่างกันพิษทีเกิดขึ้นก็จะส่งผลที่แตกต่างกัน
คำกล่าวอมตะของบิดาแห่งพิษที่บอกว่า… “All substances are poisons, There is none which is not a poison. The right dose differentiates poison from a remedy หรือแปลเป็นไทยว่า… สารเคมีทุกชนิดล้วนเป็นพิษ ไม่มีสารเคมีชนิดใดที่ไม่มีพิษ ขนาดเท่านั้นที่จะเป็นตัวแยกระหว่างความเป็นพิษกับความเป็นยา…” ซึ่งหลักของ Paracelcus ยังคงได้รับความเชื่อถือเป็นหลักการที่สำคัญของพิษวิทยามาจนถึงทุกวันนี้
ผมย้อนไปอุ้มบิดาแห่งพิษวิทยามายกอ้างก็เพื่อจะบอกทุกท่านว่า… สารเคมีทุกชนิดล้วนเป็นพิษ แต่จะเป็นพิษจริงๆ ก็ต่อเมื่อขนาด หรือ ปริมาณเพียงพอที่จะเป็นพิษ และ อีกด้านหนึ่งของพิษ ก็สามารถใช้ทำยาได้เช่นกัน
ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอุตสาหกรรม หรือ Industrial Revolution หรือ ยุคอุตสาหกรรม 1.0 ราวช่วงปี 1760 – 1840… สารเคมีหลายชนิดถูกพัฒนาสังเคราะห์ขึ้นในปริมาณมาก เช่น กรดซัลฟูริก กรดเกลือ โซดาแอช หรือ Sodium Carbonate และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรม
หลังจากนั้น… สารเคมีอินทรีย์ก็ถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงปี 1914 – 1918… มีการนำสารเคมีอินทรีย์เหล่านี้มาใช้เป็นอาวุธเคมี ได้แก่ แก๊สฟอสจีน หรือ Phosgene และ แก๊สมัสตาร์ด… นอกจากนั้น สารเคมีอินทรีย์อื่นๆ เช่น คลอโรฟอร์ม… คาร์บอนเตตราคลอไรด์ หรือ Carbon Tetrachloride… ก็ถูกค้นพบและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น
เหตุการณ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1939 – 1945… สงครามกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการสังเคราะห์สารเคมีชนิดใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งเพื่อใช้เป็นอาวุธสงคราม เช่น กลุ่มแก๊สพิษต่อระบบประสาท หรือ Nerve Gas และเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมต่างๆ การสังเคราะห์สารเคมีใหม่ ๆ ยังคงพัฒนาต่อไปแม้สิ้นสุดสงครามแล้ว และถูกพัฒนาจนมีจำนวนมากมายตามการพัฒนาของอุตสาหกรรม… ถึงปัจจุบันนี้ พิษของสารเคมีต่างๆ ต่อคน สัตว์ พืช รวมถึงการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมก็ถูกค้นพบมากขึ้นทบทวี
นักพิษวิทยาที่มีเชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือ… ออสวาลด์ ชไมเดอเบิร์ก หรือ Oswald Schmiedeberg เภสัชกรชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของวิชาเภสัชศาสตร์สมัยใหม่… ได้ศึกษาและวางรากฐานเรื่องพิษจลนศาสตร์ โดยเป็นอาจารย์สอนเภสัชกรและเป็นนักพิษวิทยาอีกด้วย
นักระบาดวิทยาและสถิติชาวอังกฤษ ชื่อ แบรดฟอร์ด ฮิลล์ หรือ Austin Bradford Hill เป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาความรู้ทางด้านพิษวิทยา โดยการเสนอแนวคิดเรื่อง หลักการหาความเป็นสาเหตุ หรือ Causal Relationship ทางระบาดวิทยา และใช้หลักการนี้พิสูจน์ความสัมพันธ์ของมะเร็งปอดกับการสูบบุหรี่ได้ หลักการนี้ช่วยให้นักพิษวิทยาสมัยใหม่นำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงของสารเคมีชนิดต่างๆ
ปี 1962 ราเชล คาร์สัน หรือ Rachel Carson นักชีววิทยาชาวสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Silent Spring ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้สารปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะ DDT ที่ส่งผลกระทบต่อนกและสัตว์ชนิดต่างๆ หนังสือเล่มนี้ได้รับการชื่นชมตอบรับอย่างแพร่หลาย และทำให้เกิดความตื่นตัวในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในสังคมตามมา เกิดการจัดตั้ง หน่วยงาน Environmental Protection Agency หรือ EPA โดยประธานาธิบดี Richard Nixon ในปี 1970 และมีการยกเลิกการใช้ DDT ในสหรัฐอเมริกา จนเธอถูกยกย่องให้เป็นผู้ริเริ่มด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม
Rachel Louise Carson เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1907… เป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางทะเล… เกิดที่เมือง Springdale, Pennsylvania สหรัฐอเมริกา จบการศึกษาจาก Johns Hopkins University และทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในหน่วยงานสัตว์น้ำและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ
Rachel Carson มีผลงานตีพิมพ์ออกมากมาย โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อความเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล
หนังสือชื่อ The Silent Spring ได้รับการจัดเป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่ดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของโลก… สภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแปลหนังสือเล่มนี้… โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า “เงามฤตยู”
ประเด็นเรื่องสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม “เป็นเรื่องใหญ่ถึงชีวิตมาแต่ไหนแต่ไร” เพราะประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพิษล้วนมีกลิ่นไอของความตายแทรกปนอย่างเข้มข้นมาตลอด…
#FridaysForFuture ครับ!
อ้างอิง