กระแสการเปลี่ยนแปลง และ การปฏิรูปองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับอุบัติการณ์ด้านการค้าการลงทุน และ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังเดินเข้าหา Deep Crisis ปี 2023 ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ The Fourth Industrial Revolution ซึ่งทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่า Digital Transformation กันมามากจนเบื่อจะฟัง ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ตามกรอบ Digital Transformation จะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น… โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ริเริ่มขึ้นจริงสำหรับหลายๆ ท่านก็คงจะทราบแล้วว่า… หลายอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเกือบทุกอย่างในรายละเอียดของการเปลี่ยนผ่านที่ต้องดำเนินการทั้งหมดนั้น… ล้วนแต่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ “เกินขีดจำกัด” เดิมขององค์กร ทีม และ ตัวผู้นำเองให้ได้มากที่สุด
การเตรียมแผนที่ท้าทายขีดจำกัดของทีม จึงเป็นงานยากสำหรับผู้นำที่จำเป็นต้องงัดตำราภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformational Leadership ออกมาปรับแต่งให้กลายเป็นกลยุทธ์สำหรับขับเคลื่อนผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้อง… ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนผ่านไปตามขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงหลายขั้นตอน และ บ่อยครั้งสร้างความสับสนระหว่าง “การเปลี่ยนผ่าน กับ การเปลี่ยนแปลง” ต่อทีมและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้ง่าย… ภาวะผู้นำในระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงถูกท้าทายจากหลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Bernard M. Bass และ Ronald E. Riggio ได้นิยามถึงภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformational Leadership เอาไว้ในหนังสือของพวกเขาว่า… ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ… ผู้ที่กระตุ้น และ สร้างแรงบันดาลใจให้ทีม และหรือ ผู้ติดตามให้ใช้ศักยภาพสูงสุดในการผลิตผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดา… โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้ทีมเติบโต และ พัฒนาไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ซึ่งการนำจะดำเนินการผ่านรูปแบบการตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตนของสมาชิกทีม และ ผู้ติดตาม รวมทั้งการจัดเตรียมเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อมอบหมายให้แก่สมาชิกทีมไปรับผิดชอบ ทั้งที่เป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล และ ความรับผิดชอบต่อเป้าหมายขององค์กรที่สอดคล้องกัน… โดยองค์ประกอบ และ ทักษะของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ Bernard M. Bass และ Ronald E. Riggio แนะนำเอาไว้ภายใต้โมเดล 4 I’s จะประกอบไปด้วย…
- Idealized Influence หรือ เป็นผู้ทรงอิทธิพลเชิงอุดมคติ… โดยผู้ที่จะสามารถแสดงบทบาทนำการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยจะต้องมีอิทธิพลต่อความคิด และ การตัดสินใจของทีม และ ผู้ตาม โดยเฉพาะอิทธิพลในเชิงสร้างสรรค์ผ่านการสร้างเสริมแรงจูงใจอันท้าทาย
- Inspirational Motivation หรือ สามารถสร้างแรงจูงใจได้ด้วยแรงบันดาลใจ… ซึ่งผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรมีความสามารถ และ ทักษะในการโน้มน้าวเป้าหมายให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะ “ผลิตผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดา” ด้วยความท้าทาย และ รับผิดชอบอย่างเต็มใจ
- Intellectual Stimulation หรือ สามารถปลุกเร้าเชาว์ปัญญาได้… โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรมีเชาว์ในการตั้งคำถามหา “ไอเดียสร้างสรรค์ และ แนวคิดนอกกรอบ” จากผู้อื่นได้ และ ยังต้องมีความสามารถในการแสวงหาองค์ประกอบในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แนวคิด และหรือ ไอเดียนวัตกรรมที่รวบรวมและสังเคราะห์จากไอเดียหลากหลายได้โดยไม่สร้างความแตกแยก
- Individual Consideration หรือ เคารพตัวตนของสมาชิกทีม… ด้วยการเอาใจใส่เพื่อร่วมงานที่เป็นผู้ตาม ซึ่งจะลดปัญหาเรื่องการยอมรับ และ ความร่วมมือที่ไม่สร้างสรรค์ได้มาก
อย่างไรก็ตาม… การเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบล้วนต้องการปัจจัยเสริมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะต้องตระเตรียมองค์ประกอบทั่วไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างดีแล้ว… ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเองยังต้องเข้าใจจิตวิทยาการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนทีม และ องค์กรในระหว่างการเปลี่ยนผ่านนั้นด้วย… Ronald E. Riggio ในฐานะผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาองค์กรชี้ว่า… การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นที่การถ่ายทอด “ความเชื่อ” จากผู้นำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมาย และ ความสำเร็จตามเป้าหมายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจะย้อนกลับไปเปลี่ยน “คน” ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้ได้สิทธิ์ในความสำเร็จนั้น ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ “คน” ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จทั้งหมดถูกแบ่งปันความสำเร็จแห่งการเปลี่ยนแปลงตามสิทธิ์อย่างยุติธรรม… เท่านั้น!!!
References…