คนโชคร้ายที่เคยผ่านเรื่องเจ็บปวดฝังจำใส่ชีวิต ซึ่งได้กลายเป็น “เงื่อนไขชีวิต และ ปมปัญหาส่วนตัว” ที่เจ้าตัวไม่สามารถก้าวข้าม และ ลบเลือนไปจากชีวิตจิตใจได้ ซึ่ง “ปม” ที่ติดตัวอยู่มานานมักจะก่อผลกระทบข้างเคียงที่คาดไม่ถึงให้คนๆ นั้นได้ด้วย เว้นแต่จะละวางลืมเลือน และ กลับมาใช้ชีวิตอย่างยืดหยุ่นกับตัวเอง และ คนรอบข้าง… โดยไม่มีความวิตกกังวลเพราะปม… ไม่หดหู่ซึมเศร้าเพราะปม รวมทั้งไม่เอาเงื่อนไขของปมปัญหาส่วนตัวมาระบายใส่คนรอบข้างด้วยความเห็นแก่ตัว หรือ ด้วยความมักง่ายแบบที่เรียกว่า… Trauma Dumping หรือ การระบายทุกข์ไปถมคนอื่น
ตัวอย่างกรณีของคนที่เคยเจ็บปวดกับประสบการณ์นอกใจจนหย่าร้างเลิกลากับคู่รักเก่า แต่เก็บเอาปมเก่าดั้งเดิมมาคุกคามคู่รักคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งที่ยังคงสะสมความวิตกคับข้องใส่ตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆ ที่ควรจะเลิกคิดจะมีคู่ แต่กลับเลือกจะมีคู่ทั้งๆ ที่มีแล้วก็วิตกกังวลเรื่องเล็กเรื่องน้อย ที่อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่สักวันจนได้… ซึ่งในท้ายที่สุดก็มักจะกลายเป็นคนคับแคบ กระทั่งหาคนอยากอยู่ด้วยไม่ได้ หรือ หาไม่ได้แม้แต่คนอยากใกล้ชิดวิสาสะด้วย
ประเด็นก็คือ… ปมที่ติดค้างฝังจำของทุกคนควรถูกใส่ใจ ปลดปล่อย และ ระบายออกมาให้หมดจนไม่ค้างคา เพื่อทิ้งปมปัญหาที่เกิดขึ้น และ ผ่านไปแล้วไว้กับอดีต… แต่การถ่ายทอดบอกเล่า และ การสะท้อนความเสียหายบอบช้ำของร่างกายและจิตใจออกมา ควรปลดปล่อยอย่างเหมาะควร ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงที่จะปลดปล่อยความเจ็บปวดฝังจำในชีวิตของตน โดยไม่ใส่ใจว่าได้ไปกระทบ และ ทำร้ายความคิดจิตใจคนอื่น… ซึ่งจะดีกว่าถ้าปม และ ความเจ็บปวดฝังจำในชีวิตที่ลืมได้ยาก จะถูกระบาย และ ปลดปล่อยกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช หรือ นักบำบัด ซึ่งช่วยจัดการบาดแผลทางอารมณ์ และ จิตใจทำนองนี้ได้ดีกว่าการระบายทุกข์อย่างมักง่าย หรือ แย่กว่านั้นคือเอามาเป็นนิสัยส่วนตัวให้ขุ่นมัวกับตัวเอง และ คนรอบข้างจนหาความสุขได้ยาก
ปัญหาก็คือ… Trauma Dumping อาจเกิดขึ้นในการสนทนาวิสาสะทั่วไปในทุกความสัมพันธ์ รวมทั้งพบเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เช่นกรณีการเผยแพร่คลิปร้องไห้ฟูมฟายคร่ำครวญ… การสัมภาษณ์ออกสื่อในบางกรณี รวมทั้งการเล่าข่าวแบบแต่งแต้มเนื้อเรื่องให้ดราม่าจนเกินเหตุ… ซึ่งคนที่มีพฤติกรรม Trauma Dumping มักจะมักง่าย คิดน้อย พูดมาก และ มีแนวโน้มที่จะไม่ตระหนักถึงผลกระทบอื่นๆ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล และ ความรู้สึกหวาดกลัวจากนัยยะของข้อมูลในพฤติกรรม Trauma Dumping ที่พบเจอ
นอกจากนั้น… พฤติกรรม Trauma Dumping ที่ถูกกลบเกลื่อนอยู่ในรูปของการแบ่งปัน หรือ การแชร์ประสบการณ์ ซึ่งเกิดในสื่อหลัก และ สื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางมากในปัจจุบัน… โดยมี “นักเสพเรื่องเศร้า กับ นักเล่าเรื่องทุกข์” ค้ำจุนให้มีการหาประเด็นที่เข้าข่ายการระบายทุกข์ร้อนของตนออกสื่อ เพื่อปั่นกระแสเอาไว้ขายโฆษณา และ หายอดไลค์กันอย่างสนุกสนาน…
ที่จะบอกก็คือ… เรื่องเศร้า และ ปมชีวิตไม่ว่าจะของใคร ทั้งหมดควรถูกจัดการอย่างระมัดระวัง ไม่ว่าเราจะมีปมเอง หรือ คนใกล้ตัวกลายเป็นคนช่างเจ็บช่างจำ และ ชอบพร่ำรำพันให้ร้อนอกทุกข์ใจไปด้วยประจำ… หรือแม้แต่การมีพฤติกรรมเสพเรื่องเศร้าเคล้าดราม่าในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนอย่างไร… ก็มักจะหาความสบายใจได้น้อยกว่าคนที่สามารถใช้ชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยสิ่งที่ชอบ ได้ใกล้ชิดแต่กับสิ่งที่รัก และ พบเจอแต่เรื่องราวที่ทำให้สบายอกสบายใจ
References…