การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นหนึ่งในประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่นานาชาติให้ความสำคัญ ไม่แพ้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ Biodiversity Loss ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว การลดลงของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเองก็เป็นผลสืบเนื่องมากจากภาวะโลกร้อนนั้นเอง
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติพบว่า สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ส่วนใหญ่ของโลก ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 25% และ นกประมาณ 12% อาจสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำ และ พื้นที่ทางธรรมชาติไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และ พื้นที่เกษตรทำให้ที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ลดลง
ขณะนี้ภาคเหนือประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าจากการเกิดไฟป่าเป็นบริเวณกว้าง เพราะอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้ต้นไม้ผลัดใบลงไปเป็นใบไม้แห้ง และ กลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทับถมบนดินซึ่งเกิดการติดไฟง่ายขึ้นตามไปด้วย และ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพโดยตรงจากการหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไป และ ยังส่งผลกระสบต่อเศรษฐกิจและท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในกรุงเทพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา… ความเคลื่อนไหวในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือ เพิ่มปริมาณต้นไม้ให้มากขึ้นทั้งในพื้นที่เมือง และ ชนบท เพื่อช่วยทำให้อากาศเย็นลง และ บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในหลายพื้นที่ จึงปรากฏมีหลายเวทีพูดคุยหารือกันถึงแนวทางการเพิ่มต้นไม้ในเขตเมือง และ เขตพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อลดผลกระทบจากมวลอากาศร้อน และ ฝุ่นละอองโดยตรง
แนวคิดการเพิ่มต้นไม้ในเมือง… โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่ให้คุณค่าทางเศรษฐกิจด้วย จึงได้รับความสนใจทั่วโลกภายใต้แนวคิด Agroforestry หรือ วนเกษตร โดยนักวิชการด้านสิ่งแวดล้อมเห็นตรงกันว่า… จะได้ประโยชน์จากการทำ “วนเกษตรในเมือง หรือ Urban Agroforestry” อย่างน้อย 3 ประการในระยะยาว ได้แก่
- Adaptation หรือ การปรับตัว… โดยการทำวนเกษตรจะให้ประโยชน์ต่อการปรับสมดุลได้ถึง 4 ระการ ได้แก่… การรักษาสมดุลน้ำและดิน… การควบคุมโรคและศัตรูพืช… การควบคุมภูมิอากาศในแต่ละท้องที่ และ การบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์… ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อวัฏจักรน้ำ โดยทางตรงจะส่งผลต่อรูปแบบและช่วงเวลาในการเกิดฝน ถ้าเป็นทางอ้อมก็จะทำให้การสูญเสียน้ำจากการไหลเวียนของน้ำ และ การระเหยกลายเป็นไอน้ำ… การมีต้นไม้จะช่วยลดผลกระทบทางอ้อมเหล่านี้ได้ จากศึกษาการทำสวนป่าแบบ “Alley Cropping หรือ ปลูกแนวต้นไม้สลับกับแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ” พบว่า การสูญเสียน้ำจากการไหลออก 7-45% และน้ำสามารถเก็บไว้ในดินได้ถึง 6-29% นอกจากนั้น… การปลูกต้นไม้ที่ให้ปุ๋ย หรือ Fertilizer Tree จะช่วยรักษาโครงสร้างทางกายภาพของดิน ซึ่งการแผ่กระจายของระบบรากจะช่วยดินให้มีความร่วน และ สร้างโพรงให้เกิดการไหลเวียนอากาศได้ดี และ การปล่อยเศษใบไม้ลงไปทับถมหน้าดินเพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหาร
- Mitigation หรือ การบรรเทาผลกระทบ… เนื่องจาก Agroforestry หรือ วนเกษตรมีศักยภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และ เก็บคาร์บอนในรูปของราก ลำต้น และ เรือนยอดของไม้ยืนต้น อีกทั้งมีส่วนช่วยลดโอกาสในการตัดไม้ทำลายป่าลง ซึ่งหากปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาวก็ช่วยให้เก็บคาร์บอนลงสู่ใต้ดินมากขึ้นจากการแผ่กระจายของราก… โดยข้อมูลจากการศึกษาพื้นที่ Sahel ในเขตทะเลทรายซาฮาร่าพบว่า การเก็บคาร์บอนในพื้นที่วนเกษตรจะสูงกว่าพื้นที่ว่างเปล่าถึง 77.1% อย่างไรก็ตาม… หากเทียบประสิทธิภาพในการเก็บคาร์บอนของพื้นที่วนเกษตร กับ พื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความซับซ้อนของพันธุ์พืชสูงกว่าแล้ว ศักยภาพของพื้นที่วนเกษตรจะต่ำกว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติอย่างชัดเจน… จากศึกษาการเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าดิบชื้นเปรียบเทียบกับ ไร่กาแฟที่ทำด้วยระบบวนเกษตรในหมู่เกาะสุลาเวสี อินโดนีเซีย พบว่า… ป่าดิบชื้นสามารถเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าไร่กาแฟธรรมชาติถึง 8 เท่าตัวเลยทีเดียว การบุกรุกป่าธรรมชาติเพื่อทำการเกษตรทุกรูปแบบจึงเป็นการลดประสิทธิภาพการเก็บคาร์บอนของพื้นที่ป่าธรรมชาติอย่างมาก
- Economic Aspect หรือ มิติในทางเศรษฐกิจ… ซึ่งไม้ยืนต้นจากสวนวนเกษตรสามารถให้ผลผลิตเป็นเนื้อไม้ เส้นใย ดอก ใบ และ ผลไม้โดยตรง และ การปลูกพืชล้มลุกเช่นพืชตระกูลถั่ว ผักใบอ่อน และ ข้าวโพดในเขตวนเกษตรก็ให้ผลผลิตที่ยั่งยืนได้ด้วย
ข้อมูลจากบล็อกสวนผักคนเมืองชี้ว่า… กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลักช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำสวนป่ามากขึ้นผ่านการเผยแพร่ความรู้และงานวิจัย รวมทั้งมีการผลักดันการแก้ไขข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการทำสวนป่าในที่ดินเอกชนเพิ่มมากขึ้น… โดยวนเกษตรก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่กรมป่าไม้ให้การสนับสนุน ทั้งการปลูกพืชเกษตร หรือ สมุนไพร ในการสร้างรายได้ในระยะสั้น และ ในระยะยาวก็สามารถขึ้นทะเบียนไม้ยืนต้นกับกรมป่าไม้ เพื่อขอตัดไม้ไปทำการค้าได้ และ มีการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถปลูกและค้าไม้หวงห้ามบางชนิดได้ อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง ยางกราด ยางพลวง ยางนา ยางพาย ยางแดง ยางมันหมู ยางเสียน ไม้มะค่าโมง ประดู่ ชิงชัน เต็งหรือแงะ รังหรือเปา เป็นต้น หากมีการจัดการที่ดีก็จะช่วยสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอให้แก่เกษตรกรได้ไม่ยาก… แต่ก็ติดปัญหาใหญ่ในกรณีของการทำ Urban Agroforestry หรือ วนเกษตรในเมือง ซึ่งที่ดินเอกชนมีน้อย และ ไม่เหมาะกับการปลูกไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่… แถมยังเจอฐานภาษีที่ดินแพงไม่ต่างกันทั่วโลก
Urban Agroforestry หรือ วนเกษตรในเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่คิดได้แต่ไม่ง่ายที่จะทำ
References…