ดูเหมือนอาการกลัววัคซีนในประเทศไทยและคนไทยในห้วงเวลาที่ “วัคซีนของจริง” กำลังถูกแจกจ่ายและฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนงานสาธารณสุข กำลังจะกลายเป็นประเด็นใหญ่และลุกลามเป็นปัญหาอื่นๆ แทรกซ้อนอีกมาก โดยเฉพาะความขัดแย้งในสังคมจากสาเหตุหลายประการ… ตั้งแต่ระดับจิตวิทยาส่วนบุคคลที่ถกเถียงขัดแย้งในวงสนทนา… ไปจนถึงสงครามการค้าในธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ และ สงครามจิตวิทยาอิงการเมืองระหว่างกลุ่มพลังอำนาจชี้นำสังคม ท่ามกลางความขัดแย้งภายในชาติที่ถูก Porous หรือ พรุนโครงสร้างสังคมและประเทศชาติทุกมิติมานาน… รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศที่รู้จักกันในชื่อ “Politics of Vaccines หรือ การทูตวัคซีน” ด้วย
ความจริง… ภาวะลังเลและปฏิเสธการรับวัคซีน หรือ Vaccine Hesitancy เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่ง “ขาดความเชื่อมั่นจนไม่ไว้วางใจ” และ ถือสิทธิส่วนบุคคลที่จะปฏิเสธ พร้อมข้ออ้างจาก “ข้อมูลข่าวสารในมือ บวกกับ ภาวะวิตกกังวลซับซ้อนในระดับจิตวิทยาส่วนตัว” ซึ่งแม้แต่คนที่เดินไปเข้าคิวฉีดวัคซีนด้วยความเต็มใจหลายคน ก็ยังความดันขึ้นเฉพาะกิจจนต้องวัดซ้ำหลายรอบก่อนฉีดก็มี
นั่นแปลว่า… อาการกลัวจะโดนฉีดวัคซีน หรือ ภาวะลังเลและปฏิเสธการรับวัคซีน หรือ Vaccine Hesitancy เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเสมอในหมู่คนที่ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกหน่วยฉีดวัคซีน ต้องเตรียมยาดมหรือแอมโมเนีย ไว้ช่วยเหลือคนเป็นลมก่อนฉีดและหลังฉีดเป็นปกติ
ประเด็นก็คือ… องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ถึงขั้นประกาศไว้ว่า… Vaccine Hesitancy เป็นหนึ่งในสิบภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งถ้าจะให้แปลซ้ำอีกชั้นหนึ่งก็คือ โรคกลัวจะได้ฉีดวัคซีนเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญสิบอันดับแรกของโลกที่ต้องจัดการ
WHO SAGE Working Group on Vaccine Hesitancy หรือ หน่วยงานที่ปรึกษาเชิงยุทธศาตร์ กลุ่มงานปฏิเสธวัคซีนองค์การอนามัยโลก… ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาของ Noni E. MacDonald ในหัวข้อ Vaccine Hesitancy: Definition, Scope and Determinants เผยแพร่ข้อมูลและปัจจัยของการเกิดภาวะปฏิเสธวัคซีน ผ่านวารสารทางวิชาการชื่อ Journal of Vaccine ในปี 2015 ระบุว่า… สาเหตุหลักที่เกิดการปฏิเสธวัคซีนเนื่องจาก
- ถ่วงเวลาที่จะรับวัคซีน ทั้งๆ ที่สมัครใจจะฉีด… ซึ่งเป็นกลุ่มที่พร้อมฉีดแต่ไม่อยากเป็นคนฉีดก่อนเท่านั้นเอง
- ปัญหาซับซ้อนเชิงบริบททั้งเวลา สถานที่และตัวผลิตภัณฑ์วัคซีนเอง… ซึ่งเป็นปัญหาเชิงข้อมูล และ การสื่อสารภายใต้บริบทเชิงสังคม
- ได้รับ “อิทธิพลจากปัจจัยภายนอก กระทบความพึงพอใจและไว้วางใจ” รวมทั้งทัศนคติต่อภาวะสุขสบายก่อนและหลังฉีดวัคซีน
ข้อมูลจากสำนักข่าวออนไลน์ The Matter ซึ่งได้พูดคุยกับ อ.นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล… ซึ่งอาจารย์ศุภโชค เกิดลาภ ให้ความเห็นต่อกรณี Vaccine Hesitancy ในหมู่คนไทยในขณะนี้เกิดจาก…
- ความกังวลว่าฉีดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น… กับ
- สงสัยว่าทำไมข้อมูลมันกลับไปกลับมา หรือ สับสนกับข้อมูลข่าวสารนั่นเอง
ซึ่งด้านหนึ่งเป็นปัญหาการสื่อสารชัดเจน และ อีกด้านหนึ่งเกิดจากข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก… ซึ่งอาจารย์หมอศุภโชค เกิดลาภ เสนอความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า… การรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีน จะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ยกยอวัคซีนบางค่ายเกินไป และ ไม่ตำหนิวัคซีนบางค่ายเกินไป
ส่วนงานสาธารณสุขชุมชน โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุก ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เดินเคาะประตูบ้านกลุ่มเป้าหมายเพื่อขึ้นทะเบียนจองฉีดวัคซีนโควิดกันอยู่… หลายคำถามจากชุมชน “ล้วนเป็นข้อมูลบิดเบือนที่ได้จากคนรู้จักส่งต่อ และ บอกต่อกันมา” ซึ่ง อสม บางท่านก็แบ่งปันว่า… การให้ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมด และ ยืนยันว่าแพทย์พยาบาลด่านหน้าที่ทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรง ต่างก็ได้วัคซีนที่มาถึงก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ถูกบิดเบือนว่าด้อยคุณภาพนั่นแหละ… แต่วัคซีนที่ว่าด้อยเหล่านั้น ก็เป็นเกราะคุ้มตัวให้แพทย์พยาบาล และคนที่ทำงานเชิงรุกกับภัยโควิด… ไม่กลัวที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในวิกฤตนี้
ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อทั่วโลกต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่า… การได้รับวัคซีนโควิดเร็วที่สุดจะทำให้คนที่ได้วัคซีนไปแล้ว มีภูมิคุ้มกันจนไม่ป่วยหนักและเสียชีวิตเพราะไวรัสโควิด… ไม่ติดต่อถึงคนใกล้ชิด และ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity
ส่วนปัญหาเรื่อง บริบทของการขับเคลื่อนนโยบาย และ อิทธิพลจากปัจจัยภายนอก หรือ Influenced Factors ในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคแชร์ไว… ท่ามกลางสงครามธุรกิจยา ที่ช่วงชิงต่อสู้เพื่อเข้าถึงผลตอบแทนเชิงธุรกิจเกินจะคาดถึง… รวมทั้งสงครามการเมืองระหว่างประเทศ ที่ปลุกปั่นถึงขั้นทำร้ายร่างกายในที่สาธารณะอย่างอุกอาจเพราะเกลียดชังรังเกียจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะ “โฆษณาชวนเชื่อ หรือ Propaganda ระดับสงครามจิตวิทยา” ซึ่งใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ ที่ต้องการทำลายเป้าหมายด้วยความล้มเหลว… โดยไม่ใยดีต่อผลกระทบและชีวิตของใครจะต้องสังเวยไปบ้าง อันเป็นชุดความคิดเดียวกับ “การก่อการร้าย”
ผมเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นไม่ได้หวังโน้มน้าว หรือ โต้แย้งความคิดเห็นจากข้อมูลส่วนที่ผมเข้าไม่ถึง ซึ่งคงมีอีกมาก… แต่ขอประณามความพยายามใดๆ ที่ “หาประโยชน์จากความกลัวของคนเพื่อทุกเป้าหมาย โดยเล็งเห็นผลกระทบชัดเจนจากความกลัว ความเสี่ยงและความล้มเหลวที่สนองประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว”
ตามนั้นครับ!!!
References…