ช่วงนี้มีหลายท่านที่กำลังปั้นธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะท่านที่ถูกให้ออกจากงาน และพอมีทุนจะริเริ่มอะไรของตัวเองบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงขยับขยายวางแผนจะปักหลักกันแล้ว… แต่ก็อย่างที่ทราบๆ กันว่า สถานการณ์หลายอย่างในปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้เชื่อมั่นเลยว่า… ลงทุนแล้วจะคืนทุนได้
หลายท่านจึงตัดสินใจทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนเพื่อทดสอบตัวเอง สินค้าและลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่โชคดีมีแววรุ่งเรือง และ อยากขยับขยาย… ซึ่งนั่นหมายถึงการลงทุนเพิ่ม และ ขยายขนาดการจัดการ หรือ Scale The Business ซึ่งต้องคิดเยอะและรอบคอบกว่าเดิม
โดยข้อเท็จจริงแล้ว… คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ริเริ่มก่อตั้งและสร้างธุรกิจ จะทราบและเชื่อมั่นด้วยตนเองว่า เมื่อไหร่ถึงเวลาขยับขยายถึงขั้นลงทุนเพิ่ม… ซึ่งการคิดเยอะและต้องรอบคอบเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่ว่าท่านจะมั่นใจแค่ไหนอย่างไร กับดักความล้มเหลวก็มักจะรออยู่มากมายในวันหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมาในรูปของปัญหา “ให้แก้ และ ให้จัดการ” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อ หรือไม่ก็ล้มเหลวพับไป ไม่ต่างจากคนทำธุรกิจส่วนใหญ่… ย้ำว่าส่วนใหญ่ครับ ที่ได้พยายามและล้มเหลวไปโดยไม่มีใครสนใจและจดจำด้วยซ้ำ… ซากตึกร้างข้างทาง… โครงสร้างอาคารที่ก่อสร้างได้น้อยนิดแต่ถูกทิ้งร้าง… ป้ายร้านค้าหน้าตึกแถวเก่าๆ ที่ถูกถอดมิเตอร์ไฟฟ้าออกไป และร่องรอยทิ้งร้างเพราะล้มเหลวอื่นๆ อีกมากที่มีให้เห็นทั่วไป และ ไม่เหลือร่องรอยให้ใครได้เห็นอีกมาก
คำถามคือ… ถ้าจะใส่เงินลงทุนเพิ่มให้ธุรกิจได้ขยับขยายควรจะดูอะไรประกอบบ้าง?
เมื่อพูดถึงการใส่เงินลงทุน หรือ การเพิ่มเงินลงทุนให้ธุรกิจ… โดยส่วนตัวจะนึกถึงนักลงทุน VC หรือ Venture Capital ที่มองหา Startup ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ไอเดียดีมีมูลค่าล้นพ้นเมื่อก่อร่างสร้างธุรกิจเสร็จจนทำเงินได้…
ในทางปฏิบัติ… VC จะเอาเงินทุนของตัวเองไปลงหุ้นกับ Startup ที่เชื่อมั่นว่า “ใส่เงินทุนก้อนหนึ่งเข้าไปแล้วธุรกิจจะเติบโตคุ้มค่าเงินลงทุน” ซึ่ง VC แต่ละกองก็จะมีวิธีพิจารณาธุรกิจที่อยู่ในระยะ Starup หรือ ระยะริเริ่ม… ซึ่งผมคิดว่าสามารถเอามาปรับใช้กับ “วิธีพิจารณาเริ่มต้น หรือ เพิ่มเงินลงทุน หรือ ขยายกิจการของ SMEs” จากระยะเริ่มต้นได้เหมือนกัน… ไปดูด้วยกันครับว่า VC ดูอะไรบ้าง
1. Team หรือ ทีมทำงานหลัก
ทีมงานสำคัญมากสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะ “ผู้นำ” ซึ่งในกรณีของ VC มักจะตัดสินใจลงทุนกับ “ทีม” ที่เชื่อว่าทำงานตามแผนได้แน่นอนเท่านั้น เช่น Startup เสนอโมเดลธุรกิจด้วย Digital Token อย่างน้อยก็ต้องมีคนในทีมที่ “รู้เรื่อง และ ทำให้คนอื่นรู้เรื่องเกี่ยวกับ Digital Token อย่างดี” และอาจจะต้องมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มาอวดด้วย… ในกรณี SMEs ซึ่งทีมก็คือทุกคนที่ทำงานด้วยกันอยู่ตรงหน้า หรือคนที่พร้อมจะทำงานตามแผน โดยเฉพาะตัวเจ้าของกิจการซึ่งเป็นทั้งผู้นำทีม และ นักลงทุนในคนๆ เดียวกัน… แค่ท่านมั่นใจว่า Business Operation ตามแผนงานข้างหน้า ท่านและทีมของท่านสามารถสะสางกันได้แน่ ก็ค่อยดูตัวแปรอื่น… แต่ถ้าติดขัดที่ทีมก็แค่อย่ารีบร้อนดันทุรัง
2. Scalability หรือ ศักยภาพในการขยายกิจการ
ธุรกิจที่มีตลาดใหญ่ หรือ มีตลาดที่สามารถเพิ่มยอดขายได้หลายทบหลายเท่า รวมทั้งธุรกิจที่สามารถขยับขยายได้ไม่จำกัดโดยไม่เพิ่มเงินลงทุน หรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย เหมือนที่ Amazon.com เริ่มต้นด้วยการขายหนังสือออนไลน์ แต่สามารถขยาย หรือ Scale ไปขายสากกะเบือยันเรือรบยิ่งกว่าห้างสรรพสินค้าที่เคยมีมาในโลก แถมขยายให้ขายได้ทั่วโลกที่อาจจะลงทุนเพิ่มแค่ให้เวบไซต์เปลี่ยนภาษาได้มากขึ้นเท่านั้น… ธุรกิจที่ทำแบบนี้ได้จะถือว่ามีศักยภาพในการขยับขยายได้ล้นเหลือน่าสนใจ
3. Timing & Time Frame หรือ จังหวะเวลา และ กรอบเวลา
ธุรกิจ หรือโมเดลธุรกิจที่ “มาก่อนเวลา” เช่น คิดเรื่องรถ EV ตั้งแต่ยุค 90 ทั้งๆ ที่ระบบแบตเตอรี่ในยุคนั้นยังมีแต่แบบเติมน้ำกลั่นอยู่ การไปอธิบายว่าจะหาพลังงานมาจากไหนไปหมุนล้อรถ ก็คงยากที่จะมีคนเชื่อ และ ถึงเชื่อก็อาจจะไปรบกวน หรือ Disrupted อู่ข้าวอู่น้ำใครเข้าเสียก่อน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในสนามแข่งขันที่ศัตรูคือทั้งหมดที่ต้องแข่งขันแย่งส่วนแบ่ง ซึ่งมีได้มีเสียอยู่ในเนื้อโดยไม่มีใครยอมเสียท่าใครง่ายๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือ กรอบเวลาในการลงทุนและคืนทุน ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อออกไปทำตลาด และได้ยอดขายจากตลาดมาส่งคืนเงินลงทุนพร้อมกำไร… ต้องเห็นชัดและแม่นยำบนกรอบเวลา
4. Market Potential & Segmentation
ตัวแปรนี้เป็นการพิจารณาลูกค้าและตลาดว่ามีศักยภาพแค่ไหน ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ รวมทั้งการแบ่งสัดส่วนของกลุ่มลูกค้า หรือ Customers Segment ที่เป็นเป้าหมาย… ต้องชัดเจนและเป็นจริง เชื่อถือได้… หลีกเลี่ยงการคาดการณ์ การเดา หรือ การยืนยันข้อมูลผ่านการเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสม… ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่แม้แต่ Startup เก่งๆ หลายทีมก็ให้ข้อมูลได้ไม่ชัดเจนในการนำเสนอไอเดียแรก ซึ่งส่วนใหญ่จึงต้องแก้โดยการทดสอบตลาดด้วยการทำ MVP หรือ Minimum Viable Product หรือผลิตภัณฑ์ทดลองตลาดขั้นต่ำสุดก่อน
แต่สำหรับ SMEs ที่ได้ทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนเพื่อทดสอบตัวเอง สินค้าและลูกค้าไปแล้วจนถึงขั้นขยับขยาย ตัวแปรนี้ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ก็ควร “ละเอียดกับ Customers Segment” ให้มาก
5. Competitive Advantage หรือ ความได้เปรียบในการแข่งขัน
ตัวแปรนี้จะเป็นความได้เปรียบ หรือความเหนือชั้นกว่าคู่แข่ง การเลียนแบบ นวัตกรรม สายสัมพันธ์ หรือ ความลับทางการค้า รวมทั้งสิทธิบัตรและนวัตกรรมต่างๆ
ประมาณนี้ครับ… กลับไปดู 5 ตัวแปรนี้ก่อน… ให้คะแนนตัวเองและถามตัวเองว่า ถ้าท่านเป็นนักลงทุน หรือ ลูกมาขอเงินไปลงทุน แล้วนั่งดูตัวแปรทั้ง 5 ตัวนี้แล้วจะกล้าลงทุนให้ลูกมั๊ย… หรือกล้าแต่มีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมอย่างไร
ลองพิจารณาดูครับ!